ถ้า 'ฮ่องกง' เสียสถานะพิเศษการค้ากับสหรัฐ จะเกิดอะไรขึ้น?
ขณะนี้ดูเหมือนว่า “สถานะพิเศษ” ของฮ่องกงในการค้ากับสหรัฐ กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง ผลจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีน หลังปักกิ่งผ่านกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่สำหรับเขตปกครองพิเศษแห่งนี้ แต่คำถามสำคัญคือ หากฮ่องกงสูญเสียสถานะพิเศษนี้ ใครได้ ใครเสีย?
รัฐบาลวอชิงตันประกาศแล้วว่า “ฮ่องกงไม่ได้มีอิสระจากจีนมากเพียงพอ” ทำให้ตอนนี้ขึ้นอยู่กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ว่า จะทำอย่างไรต่อไปกับศูนย์กลางทางการเงินแห่งนี้
การถูกเพิกถอนสถานะพิเศษนี้อาจส่งผลเลวร้ายต่อความรุ่งเรืองของฮ่องกงจากที่เคยเป็นประตูเปิดเศรษฐกิจจีนสู่ทั่วโลกมาหลายทศวรรษ หากถูกคว่ำบาตร รีดภาษี หรือเผชิญกับข้อจำกัดทางการค้า แต่ขณะเดียวกัน สถานการณ์นี้อาจลงเอยด้วยการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์แบบพอเป็นพิธีก็ได้
เมื่อวันพุธ (27 พ.ค.) ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ แจ้งกับสภาคองเกรสว่า จีนไม่เคารพต่อพันธสัญญาต่าง ๆ เมื่อครั้งได้รับการส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนจากสหราชอาณาจักรในปี 2540
“จากข้อเท็จจริงที่มีอยู่ คงไม่มีวิญญูชนคนไหนที่สามารถยืนยันได้ว่า ฮ่องกงยังคงมีอำนาจในการปกครองตนเองระดับสูงจากจีน และการที่ปักกิ่งเห็นชอบกฎหมายความมั่นคงที่ไม่ต้องผ่านสภานิติบัญญัติของฮ่องกง ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับเสรีภาพที่ถดถอยลงของเขตปกครองพิเศษแห่งนี้”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: ฉลุย! จีนไฟเขียว 'กฎหมายความมั่นคง' ฮ่องกง
ปีที่แล้ว สหรัฐผ่านกฎหมายที่กำหนดให้ฮ่องกงต้องมีอำนาจปกครองตนเองมากเพียงพอ เพื่อยังคงความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐต่อไป โดยที่ผ่านมา ฮ่องกงได้รับการยกเว้นจากมาตรการภาษีที่สหรัฐบังคับใช้กับจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศยักษ์ใหญ่
อย่างไรก็ตาม หากฮ่องกงต้องสูญเสียสถานะพิเศษกับสหรัฐจริง ๆ ฝ่ายใดจะได้รับผลกระทบหนักกว่ากัน
- ผลกระทบทางการค้า
การค้าของฮ่องกงกับสหรัฐ อาจจะได้รับผลกระทบรุนแรง หากถูกสหรัฐใช้มาตรการภาษีเช่นเดียวกับจีน
ข้อมูลจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ระบุว่า ในปี 2561 การค้าสินค้าและบริการของสหรัฐกับฮ่องกงมีมูลค่ารวมกว่า 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยสหรัฐส่งออกไปฮ่องกงรวม 5.01 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ฮ่องกงส่งออกไปสหรัฐ 1.68 หมื่นล้านดอลลาร์
สำนักงานการค้าและอุตสาหกรรมฮ่องกง ระบุว่า ฮ่องกงเป็นตลาดใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐสำหรับการส่งออกไวน์ ตลาดใหญ่อันดับ 4 สำหรับส่งออกเนื้อวัว และตลาดใหญ่อันดับ 7 สำหรับส่งออกสินค้าเกษตรในปี 2561
USTR เผยว่า สินค้าที่สหรัฐนำเข้าอันดับต้น ๆ จากฮ่องกง รวมไปถึงเครื่องจักรและพลาสติก
“ความเสี่ยงที่ใหญ่หลวงกว่าคือ การสูญเสียสถานะพิเศษนี้จะทำให้สหรัฐจำกัดการขายเทคโนโลยีที่มีความอ่อนไหวให้กับบริษัทฮ่องกง” มาร์ค วิลเลียมส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เอเชียของบริษัทแคปิตอล อีโคโนมิกส์ ระบุในรายงานที่เผยแพร่วันนี้ (28 พ.ค.)
วิลเลียมส์ เสริมว่า ผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้องค์ความรู้สูงจากสหรัฐ คิดเป็นประมาณ 5% ของยอดนำเข้ารวมของฮ่องกง แต่การจำกัดสิทธิของบรรดาบริษัทที่มีฐานในฮ่องกงในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่มีความอ่อนไหว จะทำลาย “หนึ่งในข้อได้เปรียบเด่นชัดของฮ่องกง” ในฐานะทำเลธุรกิจที่เชื่อมโยงกับจีนแผ่นดินใหญ่
- บริษัทสหรัฐ-ฮ่องกง เจ็บทั้งคู่
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ระบุว่า มีบริษัทอเมริกันรวมกว่า 1,300 รายดำเนินงานอยู่ในฮ่องกง และมีพลเมืองอเมริกันราว 85,000 คนอาศัยในเกาะแห่งนี้
ขณะเดียวกัน มุมมองของนานาชาติที่มีต่อฮ่องกงในฐานะสถานที่ที่มีอิสระและน่าดึงดูดในการทำธุรกิจ ก็อาจได้รับผลกระทบไปด้วย
แคปิตอล อีโคโนมิกส์ ระบุว่า ผลสำรวจล่าสุดโดยหอการค้าอเมริกันพบว่า บริษัทสหรัฐหลายรายวางแผนลดการลงทุนของตนในฮ่องกงแล้ว ความสำเร็จของฮ่องกงส่วนใหญ่อิงจากความสามารถในการดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และผลพลอยได้จากการเป็นฐานที่ตั้งให้บริษัทที่ต้องแข่งขันในต่างประเทศ
สำหรับปักกิ่ง ฮ่องกงยังเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกับบริษัทจีนที่ต้องการเข้าถึงเงินตราต่างประเทศ ธนาคารระหว่างประเทศ และบริษัทการค้า
แต่ความสำคัญของฮ่องกงกำลังลดลงเรื่อย ๆ โดยในปี 2562 การส่งออกของจีนไปยังฮ่องกงหรือผ่านฮ่องกงเหลือแค่ 12% จาก 45% ในปี 2535
- เศรษฐีส่อโยกทรัพย์สินหนี
นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่า บรรดาเศรษฐีจีนเตรียมโยกทรัพย์สินออกจากฮ่องกงไปที่อื่น เนื่องจากเกรงว่า กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่สภาประชาชนจีนผ่านความเห็นชอบวันนี้ จะเปิดทางให้ทางการจีนแผ่นดินใหญ่แกะรอยและตามยึดทรัพย์สินในฮ่องกง
แหล่งข่าวในแวดวงธนาคารและอุตสาหกรรมต่าง ๆ เผยกับรอยเตอร์ว่า กว่าครึ่งของทรัพย์สินเอกชนในฮ่องกงมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ (กว่า 31 ล้านล้านบาท) มาจากเศรษฐีจีนแผ่นดินใหญ่ที่เข้ามาลงทุน
ขณะเดียวกัน ฮ่องกงยังได้ประโยชน์จากการที่อยู่ใกล้กับจีนแผ่นดินใหญ่ และมีระบบกฎหมายที่แยกจากจีน รวมถึงตรึงค่าเงินกับดอลลาร์ แต่ขณะนี้เริ่มมีความกังวลว่า ฮ่องกงจะสูญเสียความได้เปรียบนี้ในฐานะศูนย์กลางการเงินแห่งสำคัญของโลก เพราะเงินทุนและบุคลากรที่มีความสามารถพากันไหลออกไปที่อื่น
รอยเตอร์สัมภาษณ์นายธนาคารและบริษัทจัดหางานราว 6 ราย พบว่า ลูกค้าชาวจีนบางส่วนกำลังมองหาศูนย์กลางการเงินอื่น ๆ เป็นแหล่งฝากทรัพย์สินหลักแห่งใหม่ โดยประเทศที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ และกรุงลอนดอนของอังกฤษ
นายธนาคารในสิงคโปร์คนหนึ่ง ระบุว่า เริ่มได้รับการติดต่อจากชาวจีนผู้มีความมั่งคั่งสูงเรื่องขอเปิดบัญชีนอกฮ่องกงมากขึ้น ชาวจีนกลุ่มนี้ชอบกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของจีนในแง่ของความรักชาติ แต่ไม่ใช่การคุ้มครองทรัพย์สินของตัวเอง
- ประชากรมั่งคั่งสุดอันดับ 2 โลก
รายงานของเครดิตสวิสระบุว่า ฮ่องกงมีความมั่งคั่งต่อประชากรวัยผู้ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสวิตเซอร์แลนด์เมื่อกลางปีที่แล้ว และมีคนมีทรัพย์สินไม่ต่ำกว่า 50 ล้านดอลลาร์ (ไม่ต่ำกว่า 1,593 ล้านบาท) เป็นอันดับ 10 ของโลก
ร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนที่คณะผู้บริหารฮ่องกงถอนออกจากการพิจารณาของสภานิติบัญญัติเมื่อปีที่แล้ว หลังชาวฮ่องกงชุมนุมคัดค้านหลายเดือน ทำให้เศรษฐีหลายคนชิงโยกทรัพย์สินไปที่อื่น เพราะวิตกว่ารัฐบาลกลางจีนจะเข้ามายึดทรัพย์สิน
อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่สภาประชาชนจีนให้ความเห็นชอบในวันนี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมประจำปี ทำให้เหล่าเศรษฐียิ่งกังวลว่าฮ่องกงจะเสียเสรีภาพและความคุ้มครองทางกฎหมาย
ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนมุ่งเล่นงานบรรดาเศรษฐีชาวจีนในฮ่องกงด้วยประเด็นการทุจริต แต่ยังไม่เคยมีการยึดทรัพย์สินในฮ่องกงแต่อย่างใด
- “ทรัมป์” คือผู้ชี้ชะตา
บรรดานักวิเคราะห์มองว่า ตอนนี้ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทรัมป์
จูเลียน คู ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยฮอฟสตรา เผยว่า ประธานาธิบดีสหรัฐมีเครื่องมือมากมาย อาจเลือกใช้มาตรการภาษีแบบเดียวกับจีน หรือใช้กฎหมายควบคุมการส่งออก ทำให้ฮ่องกงส่งสินค้าไฮเทคไปสหรัฐได้ยากขึ้น หรืออาจใช้ทั้งสองอย่าง แต่คูเชื่อว่า น่าจะใช้แบบซอฟท์ ๆ ก่อน
“ผมเชื่อว่า เขาต้องเดินหน้าจริงจังเพื่อแสดงให้จีนเห็นว่าเขาเอาจริง แต่คงจะไม่เปลี่ยนกฎหมายทุกฉบับที่ใช้กับฮ่องกง ผมว่าเขาจะเปิดช่องให้จีนได้ถอยบ้าง”
สตีฟ ชาง ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนจากวิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา มหาวิทยาลัยลอนดอน กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของสหรัฐ ไม่น่าจะทำให้ปักกิ่งเปลี่ยนใจได้
“ผมเชื่อว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะเคลื่อนไหวรุนแรงกว่าเดิมและตอบโต้สหรัฐแทน”
อย่างไรก็ตาม ชางคาดว่า สถานการณ์ร้อนระอุนี้อาจสิ้นสุดลงเมื่อไปถึงจุดหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายต่างต้องการให้ระดับความรุนแรงอยู่ในวงจำกัดเท่านั้น
ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนขู่ว่าจะตอบโต้อย่างแน่นอน หากถูกเล่นงานเพราะกฎหมายความมั่นคงฮ่องกง
--------------------------------------------------------------