'BAM' หวั่นรายได้ต่ำเป้า 15% พิษ 'โควิด' ฉุดยอดขาย-ยอดเก็บเงิน
"BAM" คาดรายได้ปีนี้ลดลง 15% จากเป้าที่ตั้งไว้ เหตุ "โควิด-19" ฉุดยอดขาย กระทบยอดเรียกเก็บเงินสดไตรมาส 2 ปีนี้สะดุด ลุ้นครึ่งปีหลังพลิกกลับมาฟื้นตัว หลังเห็นสัญญาณแบงก์นำทรัพย์มาเร่ขายเพิ่มขึ้น เร่งดั้มราคาขาย 10-15% กระตุ้นยอดขาย
นายสันธิษณ์ วัฒนกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายสนับสนุนการปฎิบัติงาน บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าผลประกอบการปี 2563 มีโอกาสปรับตัวลดลงต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ จากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งคาดว่าหากสถานการณ์โควิด-19 จบภายในไตรมาส 2 หรือช่วงต้นไตรมาส 3 ปีนี้ รายได้ของบริษัทปีนี้อาจลดลงราว 15% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ราว 10,000 ล้านบาทปลายๆ
ทั้งนี้ไตรมาส 2 ปี2563 น่าจะได้รับผลกระทบเต็ม จากโควิด-19 ส่งผลให้ยอดเรียกเก็บเงินสดลดลง เพราะบริษัทมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการพักเงินต้นและพักชำระดอกเบี้ย อย่างไรก็ตามเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของกลุ่มธุรกิจ ประกอบกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์เริ่มนำสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) และทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ออกมาประมูลขายมากขึ้น จึงคาดว่าทิศทางการซื้อทรัพย์สินในช่วงไตรมาส 3-4 น่าจะพลิกกลับมาดีขึ้น
ปัจจุบัน บริษัทอยู่ระหว่างวางแผนกลยุทธ์ในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งการหาสินทรัพย์เข้าพอร์ตแ ละการกระตุ้นยอดขายทรัพย์ให้เพิ่มขึ้น ล่าสุดออกแคมเปญลดราคาขายสินทรัพย์ 10-15% จากราคาเดิม เพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้า รวมถึงวางเป้าเพิ่มยอดเรียกเก็บหนี้ในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 หากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย
“คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังสถานการณ์โควิด-19 น่าจะคลี่คลายลง และบริษัทน่าจะกลับมาทำธุรกิจได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการในปีนี้ประเมินว่าหากสถานการณ์จบในในช่วงไตรมาส 2 หรือต้นไตรมาส 3 รายได้ปีนี้น่าจะถูกผลกระทบราว 15%”
นายสันธิษณ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่บริษัทปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงนั้น ยอมรับว่าจะมีผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยของบริษัท อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทมีลูกหนี้ 80,000-90,000ราย ซึ่งมีลูกหนี้ที่มีการปรับโครงสร้างหนี้ (TDR) จำนวน 7,000ราย และมียอดหนี้เงินต้นประมาณ 9,000ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีนโยบายจะเพิ่มลูกหนี้ในส่วนดังกล่าว เพื่อจะได้ช่วยสร้างกระแสเงินสดให้มีเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันยังมีลูกหนี้ที่ยังไม่ได้รับการประนอมหนี้อีกประมาณ 70,000 ล้านบาท ดังนั้นการลดดอกเบี้ยจึงเป็นกลยุทธ์หลักที่จะเพิ่มลูกหนี้ TDR ที่มีความสามารถในการผ่อนชำระเข้าระบบ
นายรฐนนท์ ฟูเกียรติ ผู้จัดการกลุ่มนักลงทุนสัมพันธ์ BAM กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ซื้อสินทรัพย์ NPLและNPA แล้วประมาณ 6,000ล้านบาท โดยปัจจุบันมีการนำสินทรัพย์ประเภท NPL และ NPA ออกมาขายแล้วกว่า 40,000ล้านบาท จากทั้งปีก่อนที่มียอดการขายสินทรัพย์เพียง 60,000ล้านบาท
นอกจากนี้บริษัทยังเตรียมขออนุมัติวงเงินการออกหุ้นกู้ไม่เกิน 25,000 ล้านบาท จากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในช่วงเดือนมิ.ย.นี้เพื่อนำเงินมาซื้อหนี้และบริหารต้นทุนทางการเงินให้ต่ำลง