ดันกองบัญชาการ 'ไซเบอร์' ปราบอาชญากรรมเทคโนโลยี ประสานโรงพักคุมทั่วประเทศ
ผบ.ตร. เดินหน้าตั้ง "กองบัญชาการไซเบอร์" ลุยปราบอาชญากรรมเทคโนโลยี เปิดสถิติหลังใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อาชญากรรมภาพรวมลด สวนทางคดีฉ้อโกงออนไลน์พุ่ง เหตุ ปชช. สั่งสินค้าออนไลน์เพิ่ม
พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) แถลงความคืบหน้าการจัดตั้งกองบัญชาการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สังกัด ตร.ว่า หลังนำเรื่องเข้าที่ประชุมบริหาร ตร. โดยมี รอง ผบ.ตร. ทุกคนร่วมพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเป็นต้องมีหน่วยนี้ ครอบคลุมภารกิจทั่วประเทศ ประสานงานโรงพัก
โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้อนุมัติหลักการแล้ว ขณะนี้ พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก รอง ผบ.ตร.เป็นหัวหน้าทีมศึกษาวิเคราะห์จำนวนตำแหน่งที่เหมาะสม การกำหนดตำแหน่ง เพื่อนำเสนอคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ก่อนออกเป็นกฎกระทรวงต่อไป คาดว่าจะดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อสอดรับกับการแก้ปัญหาให้ได้ แม้ขณะนี้ยังไม่มีกองบัญชาการดังกล่าว แต่การจับกุมอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์มีกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)และกองบังคับการสืบสวนภาคทำอยู่
ผนึกบุคลากรหลายหน่วยงาน
พล.ต.ท.ปิยะ ระบุว่า ส่วนแรกเริ่มบุคลากรที่จะปฏิบัติงานในกองบัญชาการนั้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตร. ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ และภาคเอกชน ทำงานร่วมกันเป็นแขนขาร่วมกันทั้ง ตร. และกระทรวงดิจิทัลฯ
โฆษก ตร.ยังแถลงถึงสถานการณ์และข้อมูลคดีอาชญากรรมในภาพรวมทั่วประเทศ หลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2563 ถึงปัจจุบัน พบว่าหลังมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อาชญากรรมลดลงทุกประเภท เมื่อนำคดีอาชญากรรมทุกประเภทในห้วงระหว่างวันที่ 1 มี.ค. จนถึงวันที่ 25 พ.ค. เปรียบเทียบห้วงเวลาเดียวกันปี 2562 พบว่า ประเภทความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย เพศ ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ และ พ.ร.บ.ที่มีโทษทางอาญา ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ยังพบว่าสถิติคดีอาญาที่เกิดขึ้นจากการเมาสุรา แล้วมาก่ออาชญากรรม หรือเกิดอุบัติเหตุจราจรเนื่องจากการเมาสุรา รวมทั้งสร้างความเดือดร้อนรำคาญ ในลักษณะต่างๆ เช่น เด็กแว๊น การแข่งรถในทาง นักเรียนตีกัน เมื่อเปรียบเทียบกับห้วงเวลาเดียวกันในปี 2562 แล้วปรากฏว่า ลดลงอย่างมากเช่นกัน
คดีฉ้อโกงออนไลน์เพิ่ม
ขณะที่ สถิติการจับกุมความผิดที่รัฐ เป็นผู้เสียหายเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา 25.77 เปอร์เซ็นต์ เป็นการจับกุมอาวุธปืน เพิ่มขึ้น 38.75 เปอร์เซ็นต์ และการพนัน เพิ่มขึ้น 25.74 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุจากเจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานเชิงรุก เข้าชุมชนช่วงที่มีประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
รวมทั้งยังพบว่า คดีฐานความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ฐานฉ้อโกงทางออนไลน์ พบการกระทำผิดเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา สาเหตุจากคนอยู่บ้านช่วง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และสั่งของออนไลน์ แต่ได้สินค้าไม่ตรงปก หรือไม่ได้รับสินค้า
ด้านสถิติการกระทำผิดของห้างร้าน หลังประกาศปลดล็อกระยะ 1 และ 2 นั้น ภาพรวม 90 เปอร์เซ็นต์ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มีเพียงบางส่วนที่ทำไม่ครบถ้วน ไม่สม่ำเสมอประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการฝ่าฝืนไม่ทำเลย มีตัวเลขค่อนข้างน้อยมาก
ข้อกำหนดพ.ร.ก.ส่งผลดีคดีลด
พล.ต.ท.ปิยะ กล่าวอีกว่า จากสถิติข้อมูลตั้งแต่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2563 จนถึงการปิดสถานที่เสี่ยงต่างๆ และมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ จนมาถึงวันนี้ นอกจากประเทศไทยจะสามารถป้องกันและควบคุมการระบาดของโควิด-19 โดยทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในปัจจุบันมีแนวโน้มลดต่ำลงแล้ว ขณะเดียวกัน การออกข้อกำหนดในการห้ามออกนอกเคหสถาน ห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง การห้ามชุมนุมรวมกลุ่มในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขสถานการณ์ และปราบปรามอาชญากรรมต่างๆ ที่เป็นการเอารัดเอาเปรียบประชาชน โดยเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอย่างเข้มงวดและจริงจัง ยังทำให้อาชญากรรมต่างๆ ลดลงคู่ขนานไปด้วย
ภาพรวมสถิติคดีอาญาลดลง
ทั้งนี้ ภาพรวมสถิติคดีอาญา ทั่วประเทศ (เปรียบเทียบระหว่าง 1 มี.ค.-25 พ.ค.2563 กับห้วงเวลาเดียวกันของปี 2562) คดีกลุ่ม 1 ชีวิต ร่างกาย เพศ ตั้งแต่ มี.ค.-พ.ค.2562 จำนวน 3,889 คดี ตั้งแต่มี.ค.-พ.ค.2563 จำนวน 3,180 คดี ลดลง 709 คดี แบ่งเป็น ฆ่าผู้อื่นลดลง 46 คดี พยายามฆ่าลดลง 119 คดี ทำร้ายร่างกายลดลง 647 คดี
คดีกลุ่ม 2 ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ตั้งแต่ มี.ค.-พ.ค.62 จำนวน 9,703 คดี ตั้งแต่ มี.ค.-พ.ค.63 จำนวน 9,649 คดี ลดลง 54 คดี แบ่งเป็น ปล้นทรัพย์ลดลง 1 คดี ลักทรัพย์ลดลง 77 คดี ฉ้อโกงเพิ่มขึ้น 111 คดี
คดีกลุ่ม 3 พ.ร.บ.ที่มีโทษทางอาญาฯ ตั้งแต่ มี.ค.-พ.ค.2562 จำนวน 4,294 คดี ตั้งแต่ มี.ค.-พ.ค.2563 จำนวน 3,308 คดี ลดลง 986 คดี แบ่งเป็น พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯลดลง 138 คดี พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ ลดลง 143 คดี พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ ลดลง 216 คดี
คดีกลุ่ม 4 รัฐเป็นผู้เสียหาย (จับกุม) ตั้งแต่ มี.ค.-พ.ค.2562 จำนวน 99,731 คดี ตั้งแต่ มี.ค.-พ.ค.2563 จำนวน 125,428 คดี เพิ่มขึ้น 25,697 คดี แบ่งเป็น ยาเสพติดจับกุมลดลง 3,084 คดี อาวุธปืนจับกุมเพิ่มขึ้น 1,868 คดี การพนันจับกุมเพิ่มขึ้น 1,829 คดี