'บอร์ดแข่งขันการค้า' เผย CP เตรียมยื่นเอกสารควบรวมธุรกิจ 'เทสโก้ โลตัส' มิ.ย.นี้
“สกนธ์” เผยซีพี แจ้งยื่นเอกสารรวมธุรกิจเทสโก้ โลตัส คาด ใช้เวลา 90 วัน พิจารณา รู้ผลสามารถควบรวมได้หรือไม่ ชี้เป็นเคสแรกในประเทศ
นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผย "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (กลุ่มซีพี) จะเข้ายื่นเอกสารขออนุญาตรวมธุรกิจควบรวมกิจการกับบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จํากัด ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco Lotus ในประเทศไทย ต่อคณะกรรมการ กขค.ซึ่งเป็นการรวมธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือการเป็นผู้ประกอบธุรกิจ
รวมทั้งมีอำนาจเหนือตลาดตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เบื้องต้นทราบว่าจะเข้ายื่นเอกสารต้นเดือน มิ.ย.นี้ โดยทางกลุ่มซีพีจะนำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการทั้งขนาดธุรกิจ ส่วนแบ่งตลาด ยอดเงินขาย จํานวนทุน จํานวนหุ้น หรือ จํานวนสินทรัพย์ไม่น้อยกว่าจํานวนเท่าใดมูลค่าตลาด โครงสร้าง ผลกระทบต่อตลาดค้าปลีก-ค้าส่ง ผลกระทบต่อผู้บริโภค เป็นต้น เสนอให้ กขค.พิจารณาอนุญาต
ขั้นตอนหลังจากที่กลุ่มซีพีเข้ายื่นเอกสารแล้ว ทางกขค.มีเวลาพิจารณาภายใน 90 วันนับตั้งแต่มีการยื่นขออนุญาตรวมธุรกิจ หากไม่เสร็จสามารถขยายเวลาการพิจารณาออกไปได้อีก 15 วัน
โดย กขค.จะพิจารณาในเบื้องต้นก่อนว่า การเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ในกิจการของเทสโก้-โลตัสดังกล่าว อาจเข้าข่ายมีอำนาจหรืออิทธิพลเหนือตลาดได้ เนื่องจากกลุ่มซีพีมีกิจการโมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่ครอบคลุมทั่วประเทศ และมีส่วนแบ่งตลาดเกิน 1,000 ล้านบาท หากพบว่าการควบรวมนี้ทำให้มีอำนาจเหนือตลาด ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ควบรวมกิจการ
นายสกนธ์ กล่าวว่า กขค.จะพิจารณายึดตามหลักเกณฑ์การอนุญาตโดยคํานึงถึงความจําเป็นทางธุรกิจ ประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ การไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง และการไม่กระทบ ต่อประโยชน์สําคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวม โดยผลการพิจารณาออกได้ 3 ทาง คือ ไม่อนุญาต อนุญาตโดยมีเงื่อนไข และอนุญาต
ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้เพราะยังเห็นข้อมูล อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ กขค.ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานพิเศษติดตามการรวมธุรกิจ กรณีห้างเทสโก้-โลตัส ในประเทศไทย อย่างใกล้ชิด เพื่อศึกษาและจัดเตรียมข้อมูลโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย รวมทั้งศึกษาผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการดังกล่าวเพื่อนำผลศึกษามาประกอบการตัดสินของ กขค.
“ไทยเคยมีการควบรวมกิจการขนาดใหญ่กว่านี้ แต่เป็นการแจ้งเพื่อทราบ โดยกิจการดังกล่าวเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งบริษัทแม่ในต่างประเทศมีการควบรวมกิจการ ทำให้บริษัทลูกที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยต้องเข้ารวมกิจการไปกับบริษัทแม่ ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อตลาดและประชาชนในประเทศ แต่ในกรณีของกลุ่มซีพี ถือว่าเป็นเคสแรกในประเทศไทยที่มีการควบรวมธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ในประเทศ”
สำหรับข้อกำหนดการรวมธุรกิจ ตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า มีข้อกำหนดไว้ชัดเจนใน 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 หากรวมธุรกิจแล้วทำให้เกิดการผูกขาด หรือมีอำนาจเหนือตลาด (ส่วนแบ่งตลาด50% ขึ้นไป และมียอดเงินขายรวม 1,000 ล้านบาท ขึ้นไป) กรณีนี้จะต้องดำเนินการขออนุญาต และได้รับอนุญาตจาก กขค. ก่อน จึงจะสามารทำการรวมธุรกิจเทสโก้-โลตัสได้
กรณีที่ 2 หากร่วมธุรกิจแล้วทำให้เกิดการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญในตลาดใดตลาดหนึ่ง (ส่วนแบ่งตลาดน้อยกว่า 50% และมียอดเงินขายรวม 1,000 ล้านบาท ขึ้นไป) กรณีนี้ จะต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจกับ กขค. ภายในระยะเวลา 7 วัน นับจากวันที่รวมธุรกิจเสร็จสิ้น