ความต่างระหว่าง 'เงินหยวนดิจิทัล' และระบบ 'การชำระเงินดิจิทัล'
วิเคราะห์ความแตกต่างระหว่าง "เงินหยวนดิจิทัล" ที่รัฐบาลจีนออกมาเพื่อลดการพึ่งพาสกุลเงินอื่นๆ โดยเฉพาะดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับเงินหยวนปกติ หรือสกุลเงินดิจิทัล หรือคริปโคเคอเรนซี่ หรือระบบการชำระเงินทางดิจิทัล เช่น อาลีเพย์ พร้อมเพย์ ว่าต่างกันอย่างไร?
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในโลกการเงินมากมาย ตั้งแต่การมีระบบการชำระเงินทางดิจิทัลต่างๆ ทั้งพร้อมเพย์, ทรูวอลเล็ต, ไลน์เพย์ รวมถึงเงินดิจิทัลสกุลคริปโตใหม่ๆ อย่างบิทคอยน์
โดยล่าสุดรัฐบาลจีนประกาศออกเงินหยวนดิจิทัล และจะเริ่มทดลองใช้กันในบางเมือง จนหลายคนเกิดข้อสงสัยว่า ระบบเหล่านี้ต่างกันอย่างไร ระหว่างเงินหยวน เงินหยวนดิจทัล บิทคอยน์ และอาลีเพย์ ในบทความครั้งนี้จึงนำมาสรุปเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น จากมุมมองของนักเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินอยู่บ้าง ดังนี้
สกุลเงินปกติ (Normal currency) คือ สกุลเงินทั่วไป เช่น เงินบาท เงินดอลล่าร์ เงินหยวน ที่มีการออกมาโดยธนาคารกลางของรัฐในรูปของธนบัตรหรือเหรียญ สามารถทำธุรกรรมและแลกเปลี่ยนได้ในลักษณะการใช้เงินสด หรือรูปแบบออนไลน์ผ่านดิจิทัลเพย์เมนท์ แต่ก็ต้องมีการโยกย้ายธนบัตรที่เป็น Physical นั้นไปยังผู้รับทางตรงหรือทางอ้อม
เช่น การชำระเงินออนไลน์ ผู้ซื้อก็ต้องมีการจ่ายเงินสดไปให้ผู้ให้บริการออนไลน์และผู้รับเงินก็จะมีเงินสดที่ได้รับมาจริงๆ โดยธนบัตรหรือเหรียญก็จะเป็นตัวระบุว่าเงินอยู่ที่ใคร
สกุลเงินดิจิทัล (Digital currency) คือสกุลเงินที่ต้องทำธุรกรรมแบบออนไลน์เท่านั้น ผ่านดิจิทัลเพย์เมนท์ แต่เนื่องจากไม่มีธนบัตรหรือเหรียญที่สามารถระบุว่าเงินอยู่ที่ใคร ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการจ่ายเงินซ้ำกันอย่างผิดพลาด จึงจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างบล็อกเชนที่ช่วยเก็บบัญชีธุรกรรมทั้งหมดและจะได้ทราบว่าเงินดิจิทัลนี้อยู่ที่ไหน ใครเป็นเจ้าของและสามารถติดตามได้
การชำระเงินดิจิทัล (Digital payment) อย่าง พร้อมเพย์, ทรูวอลเล็ต, และอาลีเพย์ คือการทำธุรกรรมการเงินทางออนไลน์ ซึ่งอาจชำระเงินเป็นเงินสกุลปกติหรือเงินสกุลดิจิทัลก็ได้
ถ้าเป็นเงินสกุลปกติก็ต้องมีการโอนย้ายธนบัตรหรือเหรียญกันจริงโดยทางตรงหรือทางอ้อม เช่น ผ่านสถาบันการเงิน แต่ถ้าเป็นเงินสกุลดิจิทัลก็อาจใช้เทคโนโลยีอย่างบล็อกเชน ช่วยติดตามธุรกรรมทางการเงิน โดยข้อดีของการชำระเงินดิจิทัล คือการลดการบริหารการจัดการเงินสด สามารถทำธุรกรรมได้รวดเร็วขึ้น และสามารถทำจากที่ใดๆ ก็ได้ผ่านระบบออนไลน์
การออกสกุลเงินทั่วไป รัฐบาลของแต่ละประเทศจะเป็นผู้ออกโดยต้องมีหลักทรัพย์ เช่น ทองคำค้ำประกัน และพิมพ์เป็นธนบัตรออกมาเพื่อให้สามารถทำธุรกรรมได้ มีการรับรองตามกฎหมาย และมีอัตราแลกเปลี่ยนที่ชัดเจน ตามสถานเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ และหากประเทศใดมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจสูง ก็จะได้รับการยอมรับว่าเป็นสกุลเงินที่มีความน่าเชื่อถือ มีความผันผวนน้อย และหลายๆ ประเทศอยากใช้ในการแลกเปลี่ยน
ส่วนเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยรัฐบาลอย่างเงินหยวนดิจิทัล (DECP) ไม่ใช่สกุลเงินใหม่และมีกฎหมายรองรับ มีหลักการเช่นเดียวกับการออกธนบัตรทั่วไป รัฐบาลต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่แทนที่จะออกมาเป็นธนบัตรหรือเหรียญ แต่จะออกมาในรูปของดิจิทัลที่สามารถทำธุรกรรมแบบออนไลน์ได้เท่านั้น
โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับเงินที่เป็นธนบัตรในสกุลเดียวกัน เช่น 1 หยวนดิจิทัล ก็จะค่าเท่ากับ 1 หยวน ประโยชน์คือช่วยทำให้ลดการบริหารเงินสดและทำธุรกรรมได้ง่ายขึ้นผ่านออนไลน์
เงินสกุลดิจิทัลที่เป็นคริปโตเคอเรนซี่ เช่น บิทคอยน์ จะแตกต่างกับเงินสกุลทั่วไปที่ออกโดยรัฐบาลกลาง เพราะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อัตราแลกเปลี่ยนขึ้นอยู่กับตลาดมีความแปรปวนสูง มีจุดประสงค์เพื่อจะออกมาแทนที่เงินสกุลปกติ และส่วนใหญ่ไม่มีกฎหมายรองรับให้ชำระเงินได้ตามกฎหมาย
เงินสกุลดิจิทัลที่เรียกว่า Stable coin อย่าง Libra จะแตกต่างกับเงินคริปโตเคอเรนซี่ เช่น บิทคอยน์ ตรงที่มีหน่วยงานที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันในการออกเงินดิจิทัลมา มีอัตราแลกเปลี่ยนที่แน่นอน อาจยังไม่มีกฎหมายรองรับ แต่อาจที่ใช้ชำระเงินออนไลน์ผ่านร้านค้าหรือหน่วยงานต่างๆ ที่ยอมรับเงินสกุลนี้ได้
การที่รัฐบาลจีนออกเงินหยวนดิจิทัลมา ก็ทำให้เป็นการลดใช้ธนบัตรเกิดความคล่องตัวขึ้น แม้แต่เดิมมีระบบการชำระเงินดิจิทัลที่ใช้อย่างแพร่หลาย เช่น ระบบอาลีเพย์ วีแชทเพย์ แต่ในทางอ้อมก็ยังต้องมีการโอนและเคลื่อนย้ายธนบัตรอยู่ดี การออกเงินหยวนดิจิทัลในขั้นต้นก็ยังเป็นแค่การทดลองใช้ และคงใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะใช้กันอย่างแพร่หลาย
การออกนโยบายเงินหยวนดิจิทัล ส่วนหนึ่งก็อาจต้องการทำให้เกิดความคล่องตัวมาขึ้น มีการใช้จ่ายระหว่างประเทศได้ง่ายขึ้นในอนาคต และรัฐบาลจีนก็อยากจะลดการพึ่งพาสกุลเงินอื่นๆ โดยเฉพาะเงินดอลลาร์สหรัฐนั่นเอง