ส่งสัญญาณหลังเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เล็งใช้พ.ร.บ.โรคติดต่อ-มติ ครม.
รองนายกฯ “วิษณุ” ส่งสัญญาณใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อควบคู่ออกมติ ครม. อุดช่องโหว่ ทดแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยึดความปลอดภัย สธ. เป็นหลัก หากคุมไม่อยู่ประกาศฉุกเฉินใหม่ได้
ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ วันที่ 30 พ.ค.63 ที่กระทรวงสาธารณสุข โดย พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษก ศบค.ระบุว่า ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 1 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ เพศชาย อายุ 26 ปี เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย อัล-ญูฟ เดินทางจากกรุงริยาด-กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย แล้วเดินทางเข้าประเทศไทยทางด่านปาดังเบซาร์ โดยรถบัส ถึงวันที่ 25 พ.ค. รวมจำนวน 39 คน เข้า State Quarantine สถานกักกันโรคของรัฐ จ.นราธิวาส ตรวจครั้งที่ 1 วันที่ 25 พ.ค.ไม่พบเชื้อ ถัดมาในวันที่ 28 พ.ค.มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หายใจลำบาก ตรวจครั้งที่ 2 ผลพบเชื้อ เข้ารับการรักษาที่ รพ.นราธิวาส
สำหรับผู้ป่วยรวมยอดสะสม 3,077 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิตรายใหม่ เสียชีวิตรวม 57 ราย รักษาหายกลับบ้านเพิ่ม 16 ราย ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 59 ราย ผู้ป่วยยืนยันจำแนกตามพื้นที่รักษา แบ่งเป็น กรุงเทพฯ นนทบุรี 1,722 ราย ภาคเหนือ 95 ราย ภาคกลาง 411 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 111 ราย และ ภาคใต้ 738 ราย
สำหรับสถานการณ์ในสถานกักกันโรคของรัฐที่ส่วนกลางและจังหวัด ตั้งแต่เดือน ก.พ. - 30 พ.ค. 2563 พบผู้ป่วยจำนวน 140 คน จากผู้ที่เข้ากักโรค 28,423 คน หรือคิดเป็น 0.49% สัญชาติไทย 98.57% อเมริกา 0.71% และ อังกฤษ 0.71%
ผ่อนคลาย“เฟส3”ยังเข้มมาตรการ
ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวย้ำ มาตรการผ่อนคลายที่เกิดขึ้นระยะที่ 3 เพื่อให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น และมีความสุขมากขึ้นในชีวิตประจำวัน พร้อมกับมชีวิตประจำวันใหม่ที่เกิดขึ้น หรือที่เราเรียกว่า ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) สิ่งที่เราทำอยู่ก่อนหน้านี้ เหมือนดึงชักเย่อกับโควิด 19 ด้วยแรงที่มาก ด้วยมาตรการต่างๆ และหากผ่อนคลายระยะที่ 2 -3 เหมือนเราได้ทำการปล่อยมือไปข้างหนึ่ง
ดังนั้น มือที่ดึงอยู่ก็ต้องดึงด้วยแรงที่เพิ่มขึ้น ด้วยแรงของประชาชนทุกคน ด้วยการปฏิบัติการตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และเว้นระยะห่างทางสังคม เป็นสิ่งที่เราร่วมมือกันได้ และทำให้เราพ้นวิกฤติในครั้งนี้
ผู้ป่วยทั่วโลกทะลุ 6 ล้านราย
รองโฆษก ศบค.ยังกล่าวถึงสถานการณ์ทั่วโลกด้วยว่า 211 ประเทศ 2 เขตบริหารพิเศษ 2 เรือสำราญ มีผู้ติดเชื้อรวม 6,031,023 ราย อาการหนัก 55,734 ราย รักษาหาย 2,658,676 ราย เสียชีวิต 366,812 ราย โดย 10 อันดับ ผู้ป่วยสูงที่สุด อันดับที่ 1 ยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา ถัดมา ได้แก่ บราซิล รัสเซีย สเปน อังกฤษ อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย และตุรกี
ขณะที่ ประเทศในเอเชียพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 77 ของโลก
หามาตรการอุดช่องหลังเลิกพ.ร.ก.
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายกรัฐมนตรี เตรียมตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาศึกษารองรับเพื่อรองรับกรณีหากมีการยกเลิกประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ว่า นายกฯ ไม่ได้ตั้งคณะกรรมการอะไร แต่มอบหมายให้ตน และ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เสนอนายกฯ ว่า จำเป็นต้องมีการพิจารณาจะใช้กฎหมายใด หรือออกมาตรการอะไรมารองรับ หลังจากเลิกประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อมีความละเอียดอ่อนหากเลิกประกาศใช้ไปแล้ว หากไม่มีสิ่งใดมารองรับจะเกิดปัญหาตามมา
“ผมคิดว่า เมื่อถึงเวลาเกิดปัญหาแล้ว ก็สามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้อีกครั้ง ตามมาตรา 5 ของ พ.ร.ก.ที่บัญญัติว่า กรณีที่จำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วน นายกฯ สามารถสั่งการเองได้ก่อน จากนั้นจึงไปขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ภายใน 3 วัน หากไม่ขอ ครม.ภายในกำหนด ถือว่าประกาศสถานการณ์นั้นสิ้นสุดไป"
ชี้ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อคู่มาตรการ
นายวิษณุ ระบุด้วยว่า ขอย้ำว่าตัว พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่สามารถยกเลิกได้ เพราะเป็นกฎหมายแม่ที่ยังคงอยู่ แต่เมื่อจะใช้บังคับ ต้องออกกฎหมายลูกคือ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่นายกฯ ต้องขอความเห็นชอบจาก ครม. และหากยกเลิกประกาศใช้ไปแล้ว ต่อมาเกิดปัญหา แต่ไม่ถึงขั้นรุนแรงที่สุด ก็ไม่ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีกก็ได้ แต่สามารถนำมาตรการอื่นมาใช้ได้ แต่ไม่ใช่กฎหมายความมั่นคง เพราะสามารถใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ที่ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการได้ แต่อาจเกิดความลักลั่นในบางกรณี ดังนั้นอาจจะออกมติครม.มาอุดช่องโหว่ในเรื่องตรงนี้ได้ เนื่องจากต้องปฏิบัติตามมติ ครม.
ส่วนมาตรการที่จะออกมารองรับนั้น ทางคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์จากสถาบันการศึกษา และจากกระทรวงสาธารณสุข จะร่วมกันพิจารณาด้วย
ความปลอดภัยสธ.เงื่อนไขเลิกพรก.
ผู้สื่อข่าวถามว่า การหามาตรการรองรับ จะต้องมีทีมงานขึ้นมาช่วยพิจารณาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า การหารือเรื่องนี้มีอยู่แล้ว โดยฝ่ายของแพทย์จะเป็นคนพูด และในการประชุม ศบค. ชุดใหญ่ เมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการพูดคุยกัน ว่าจะต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปถึงเมื่อใด ถ้าไปตอบก็จะเกิดการคาดหมายว่า จะประกาศใช้ต่อหรือจะยกเลิกเมื่อใด บางเรื่องคาดหมายยังไม่ได้ตอนนี้ เพราะต้องประเมินสถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2563 และพิจารณาตามวงรอบ ยกตัวอย่าง เรื่องการปรับเวลาเคอร์ฟิว ก็ใช้แนวทางนี้ในการพิจารณา
เมื่อถามต่อว่า นายกฯ ระบุหรือไม่ว่า อะไรเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ในการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องความปลอดภัยทางสาธารณสุข ต้องเป็นที่วางใจได้ก่อน และให้ไปอ่านในข้อกำหนดฉบับที่จะออกมา มีการระบุคำปรารภเอาไว้ว่า ช่วงการผ่อนปรนระยะที่ 3 เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะในต่างประเทศมีการแพร่ระบาด และมีคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ และใกล้จะผ่อนคลาย อาจมีการลองดี ลองของ ไม่กลัวหรือชะล่าใจ
เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่เว้นระยะห่างทางสังคม เดินทางข้ามจังหวัดโดยไม่ระมัดระวัง หรือกิจการที่ได้รับการผ่อนปรน ไม่ทำตามข้อกำหนด ส่วนคนที่ฝ่าฝืนแม้ถูกจับหรือดำเนินการตามกฎหมาย แต่ก็เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ มีการติดเชื้อหลังเปิดภาคเรียนก็เป็นตัวชี้วัดสถานการณ์ได้ว่าการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอาจทำได้ลำบาก
“ทรัมป์”ประกาศตัดสัมพันธ์WHO
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ประกาศตัดสัมพันธ์กับองค์การอนามัยโลกพร้อมกล่าวหาองค์การอนามัยโลกทำงานไม่โปร่งใส ประเด็นที่มาของไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดในห้องแล็บจีน
ประธานาธิบดีทรัมป์ แถลงที่ทำเนียบขาวเมื่อวันศุกร์(29พ.ค.) ตำหนิจีนว่า เอาเปรียบสหรัฐมานานในหลายๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการที่จีนปกปิดข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทั้งกับสหรัฐและองค์การอนามัยโลก ทั้งที่ทั่วโลกยังกำลังต้องการคำตอบและความโปร่งใสจากจีนในประเด็นนี้
ทรัมป์ ยังบอกด้วยว่า องค์การอนามัยโลกเข้าข้างจีนในหลายเรื่อง ทั้งที่จีนให้เงินสนับสนุนแก่อนามัยโลกน้อยกว่าสหรัฐอยู่มาก ด้วยเหตุนี้สหรัฐ จึงตัดสัมพันธ์กับองค์การอนามัยโลก นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
“เกาหลีใต้”ปิดโรงเรียน 500 แห่ง
เกาหลีใต้ประกาศปิดโรงเรียนกว่า 500 แห่งลงอีกครั้งในวันศุกร์ที่ผ่านมา (29 พ.ค.)หลังจากเพิ่งเปิดเรียนได้ไม่กี่วัน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่คิดว่าคลี่คลายแล้ว แต่กลับมาระบาดใหม่ในกรุงโซลและปริมณฑล ซึ่งมีประชากรครึ่งหนึ่งของเกือบ 25 ล้านคนทั่วประเทศ
นายปาร์ค แบก-เบียม รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่าโรงเรียนบางแห่งที่เพิ่งเปิดเรียนได้ 2-3 วันที่ผ่านมา ต้องปิดอีกครั้งในวันศุกร์ (29 พ.ค.) นักเรียนจะต้องกลับไปเรียนทางไกลผ่านระบบออนไลน์อีกครั้ง โดยมีโรงเรียน 838 แห่งทั่วประเทศ ต้องเลื่อนเปิดเรียนและยังคงต้องเรียนออนไลน์กันต่อไป
มีรายงานว่า สวนสาธารณะ สถานที่จัดแสดงศิลปะ พิพิธภัณฑ์และโรงละครของรัฐบาลในเขตเทศบาลกรุงโซลต้องถูกสั่งปิดอีกเป็นเวลา 2 สัปดาห์ด้วย
นายปาร์ค เนียง-ฮู รัฐมนตรีสาธารณสุขของเกาหลีใต้ แถลงว่า การจัดงานต่าง ๆ ที่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในเขตเทศบาลกรุงโซล ก็จะถูกยกเลิกหรือเลื่อนออกไป เจ้าหน้าที่ยังได้แนะนำให้สถาบันการศึกษาเอกชนและร้านอินเทอร์เน็ต คาเฟ่ ปิดให้บริการไปจนถึงวันที่ 14 มิ.ย.ด้วย พร้อมเรียกร้องให้ประชาชนในเขตเทศบาลกรุงโซล งดออกนอกบ้าน หรืองานสังสรรค์เป็นเวลา 14 วัน
มีรายงานว่า เกาหลีใต้มีผู้ติดเชื้อแล้ว 11,402 คน และเสียชีวิต 269 คน และปัจจุบันนี้ มีผู้ป่วย 770 คน ที่ถูกกักตัวเฝ้าดูอาการ