รู้จัก ‘Antifa’ คือใคร อยู่เบื้องหลังประท้วงรุนแรงในสหรัฐจริงหรือ?
ชื่อของ “แอนติฟา” (Antifa) เป็นที่สนใจของคนทั่วโลกทันที เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ โทษว่ากลุ่มนี้อยู่เบื้องหลังเหตุประท้วงรุนแรงในสหรัฐ และขู่ว่าจะประกาศให้เป็น "กลุ่มก่อการร้าย" อย่างเป็นทางการในระดับเดียวกับ "ไอเอส" และ "อัลกออิดะห์"
ทั้งโรเบิร์ต โอ'ไบรอัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว และ บิล บาร์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “แอนติฟา” เครือข่ายนักเคลื่อนไหวซ้ายจัด เป็นกองกำลังหัวสุดโต่งที่กระตุ้นให้เกิดการจลาจลระหว่างการประท้วงในหลายเมืองเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ “จอร์จ ฟลอยด์” ชายผิวสีที่เสียชีวิตจากการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของตำรวจในเมืองมินนิโซตา
“สหรัฐอเมริกาจะประกาศให้แอนติฟาเป็นองค์กรก่อการร้าย” ประธานาธิบดีทรัมป์ ทวีตเมื่อวันอาทิตย์ (31 พ.ค.)
- กลุ่มแอนติฟาคือใคร?
แอนติฟา ซึ่งย่อมาจากแอนติฟาสซิสม์ (anti-fascism) เป็นลัทธิต่อต้านฟาสซิสต์ โดยชื่อนี้กำเนิดจากกลุ่มสังคมนิยมในเยอรมนีตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 30 เพื่อต่อต้านกองทัพนาซีของจอมเผด็จการ “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” ที่เรืองอำนาจในยุคนั้น และแนวคิดนี้ได้ขยายไปยังประเทศอื่น ๆ จนถึงปัจจุบัน
ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา กลุ่มแอนติฟาในสหรัฐมักเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นความยุติธรรมด้านต่าง ๆ ในสังคม รวมถึงต่อต้านการเหยียดผิว
“เราเชื่อและจะต่อสู้เพื่อโลกที่ปราศจากฟาสซิสต์ ลัทธิเหยียดเชื้อชาติ ลัทธิเหยียดเพศ ลัทธิรังเกียจเพศทางเลือก ลัทธิต่อต้านยิว ลัทธิต่อต้านอิสลาม และลัทธิคลั่งศาสนา” กลุ่มแอนติฟานิวยอร์กทวีตในสัปดาห์นี้
อย่างไรก็ตาม จุดยืนในหลักการของกลุ่มกลายเป็นการต่อต้านการถือกำเนิดของกลุ่มนาซีใหม่ หรือนีโอนาซี (Neo-Nazi) และกลุ่มเชิดชูคนขาว (White Supremacist)
หนึ่งในกลุ่มแอนติฟาที่เก่าแก่ที่สุดในสหรัฐ กลุ่ม “โรส ซิตี แอนติฟา” ในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2550 เพื่อปิดเทศกาลดนตรีที่เรียกว่า “แฮมเมอร์เฟสต์” (Hammerfest) ของกลุ่มตัดผมสกินเฮดสมาชิกลัทธินาซีใหม่
- ปรับกลยุทธ์
กลยุทธ์การเคลื่อนไหวของแอนติฟาในสหรัฐส่วนใหญ่มักเป็นการออกไปเคลื่อนไหวพร้อมกับกลุ่มสุดโต่งปีกขวาและจัดม็อบชนม็อบ แต่หลังจากการชนะเลือกตั้งของทรัมป์ในปี 2559 ทำให้กลุ่มปีกขวาเติบโตขึ้นอย่างมาก แอนติฟาจึงหันมาใช้การเผชิญหน้ากับกลุ่มนี้โดยตรง และใช้วิธีอารยขัดขืนที่มีการทำลายทรัพย์สิน
ระหว่างพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2560 สมาชิกกลุ่มแอนติฟาที่สวมหน้ากากและชุดดำ และผู้ประท้วงกลุ่มอื่น ๆ จำนวนหนึ่ง ได้ก่อเหตุทุบหน้าต่างรถและเผารถยนต์คันหนึ่งในกรุงวอชิงตัน เพื่อเป็นการแสดงออกถึงการต่อต้านผู้นำจากพรรคอนุรักษนิยม
และในเดือน ส.ค. ปีเดียวกัน แอนติฟายังเป็นแนวหน้าในการเดินขบวนคู่ขนาน ขณะที่กลุ่มเชิดชูคนขาวและนีโอนาซีเดินขบวนในเมืองชาร์ลอตต์วิลล์ รัฐเวอร์จิเนีย และมีส่วนร่วมในเหตุทำร้ายร่างกายกลุ่มหัวเอียงขวาเหล่านี้ด้วย
หลังจากนั้นมา ทั้งสองฝ่ายยังก่อเหตุยั่วยุและทะเลาะวิวาทกันอีกหลายครั้ง รวมถึงเหตุการณ์ในเมืองพอร์ตแลนด์และเมืองเบิร์คลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ถึงกระนั้น บทวิเคราะห์ของ Congressional Research Service บ่งชี้ว่า กลุ่มแอนติฟาไม่มี “หัวหน้า” หรือ “องค์กรระดับชาติ” แต่เป็นการรวมตัวกันแบบหลวม ๆ ของกลุ่มบุคคลที่มีแนวคิดสุดโต่งและอิสระเหมือนกัน แต่อยู่กันอย่างกระจัดกระจาย
รายงานระบุด้วยว่า สมาชิกกลุ่มแอนติฟาส่วนใหญ่ไม่นิยมความรุนแรง แต่ก็มีสมาชิกส่วนหนึ่งเต็มใจที่จะก่ออาชญากรรมเพื่อสนับสนุนความเชื่อของตัวเอง
- แอนติฟาเป็นชนวนเหตุประท้วงเดือด?
นอกจากคำพูดจากทรัมป์และเจ้าหน้าที่ใกล้ชิดของเขา เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางหรือเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นของสหรัฐต่างระบุว่า เหตุรุนแรงและการทำลายทรัพย์สินในเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ เกี่ยวข้องกับหลายกลุ่ม ทั้งฝ่ายขวาและซ้าย รวมถึงกลุ่มแอนติฟาด้วย
“กลุ่มก่อการร้ายภายในประเทศกลุ่มต่าง ๆ ทั้งจากฝ่ายซ้ายจัดและขวาจัด กระตุ้นและก่อเหตุรุนแรงและปล้นสะดม” มาร์โก รูบิโอ ส.ว.รัฐฟลอริดา ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองวุฒิสภาที่รับรายงานสรุปจากเจ้าหน้าที่ข่าวกรองระดับสูง เผยเมื่อวันอาทิตย์
ขณะที่สำนักข่าวเอบีซีนิวส์ รายงานว่า ข่าวกรองจากกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ โทษว่าผู้ก่อเหตุรุนแรงมาจากทั้ง 2 ขั้วการเมือง
ด้านเจ้าหน้าที่ในเมืองมินนิโซตา ระบุว่า ข้อมูลที่พวกเขามีอยู่บ่งชี้ว่า ผู้ก่อเหตุจลาจลรุนแรง รวมไปถึงกลุ่มชาตินิยมผิวขาว กลุ่มอนาธิปไตยเอียงซ้าย และแม้แต่แก๊งยาเสพติด
มาร์ค เบรย์ นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยดาร์ตมัธในเมืองฮาโนเวอร์ รัฐนิวแฮมป์เชียร์ ซึ่งเขียนหนังสือเรื่อง “Antifa: The Anti-Fascist Handbook” กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า มีนักเคลื่อนไหวกลุ่มแอนติฟาเกี่ยวข้องด้วยอย่างแน่นอน แม้จะสืบได้ยากว่ามีจำนวนกี่คน เพราะเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันแบบหลวม ๆ และมีขนาดเล็ก
- สหรัฐประกาศแอนติฟาเป็นกลุ่มก่อการร้ายได้หรือไม่
ไม่เชิง สหรัฐไม่มีข้อกฎหมายที่อนุญาตให้ประกาศกลุ่มหัวรุนแรงภายในประเทศเป็นกลุ่มก่อการร้ายเหมือนกับกลุ่มก่อการร้ายระหว่างประเทศอย่างรัฐอิสลาม (ไอเอส) หรือ อัลกออิดะห์
การกำหนดให้กลุ่มใดเป็นกลุ่มก่อการร้ายระดับโลกถือเป็นเครื่องมืออันทรงอำนาจสำหรับการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถจับกุมและคุมขังคนที่แสดงออกว่าสนับสนุนกลุ่มญิฮัดหรือกลุ่มอื่น ๆ ได้
อย่างไรก็ตาม กฎหมายของสหรัฐไม่ได้มีผลครอบคลุมถึงกลุ่มภายในประเทศด้วยเหตุผลที่ฟังขึ้น เช่น กฎหมายดังกล่าวอาจเปิดช่องให้ผู้นำประเทศใช้เล่นงานคู่แข่งทางการเมืองนั่นเอง
แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกิดกระแสกดดันหนักขึ้นให้มีการยกระดับหลักเกณฑ์การประกาศกลุ่มก่อการร้าย โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุกราดยิงหลายครั้งโดยกลุ่มชาตินิยมผิวขาวที่พุ่งเป้าชาวแอฟริกันอเมริกันและชาวยิว
ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา คริส เรย์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวงานสอบสวนกลาง หรือ เอฟบีไอ (FBI) กล่าวกับสภาคองเกรสว่า กลุ่มชาตินิยมผิวขาวจะถูกสอบสวนด้วยวิธีเดียวกับกลุ่มผู้สนับสนุนไอเอส โดยใช้กองกำลังผสมเฉพาะกิจต่อต้านการก่อการร้ายของเอฟบีไอ
ขณะที่ บาร์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม แม้จะกล่าวเจาะจงว่ากลุ่มแอนติฟายั่วยุให้เกิดการจลาจลครั้งล่าสุด แต่เขายังไม่สรุปชัดว่าจะสอบสวนกลุ่มนี้โดยใช้กองกำลังเฉพาะกิจของเอฟบีไอด้วยหรือไม่