อยากหยุดสงกรานต์ ต้องร่วมต้านโควิด
จากประเด็นการพิจารณาวันหยุดชดเชยเทศกาลสงกรานต์ที่จะเลื่อนมาเดือน ก.ค.63 ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือว่าจะเป็นช่วงใด โดยเงื่อนไขจะต้องเป็นไปตามความเป็นไปได้ด้านการสาธารณสุข ก็คือต้องได้รับไฟเขียวจากฝ่ายแพทย์ ยินยอมให้คนไทยทำกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงได้หรือยัง?
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.63 อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงการพิจารณาวันหยุดชดเชยเทศกาลสงกรานต์ที่จะเลื่อนมาเดือน ก.ค.63 ว่าอาจเป็นช่วงต้นเดือนที่มีวันหยุดวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา หรืออาจเป็นช่วงปลายเดือน ก.ค. ซึ่งมีวันหยุดในวันเฉลิมพระชนมพรรษา โดยจะมีการหารือในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ในวันศุกร์ที่ 5 มิ.ย.นี้
เงื่อนไขวันหยุดจะเลือกช่วงไหน คือความเป็นไปได้ด้านการสาธารณสุข หมายความว่าจะต้องได้รับไฟเขียวจากฝ่ายแพทย์ ยินยอมให้คนไทยทำกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงได้หรือยัง สอดคล้องกับท่าที พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ศบค. ที่ยืนยัน ครม.จะยังไม่เคาะ จนกว่าจะได้ติดตามสถานการณ์หลังการผ่อนคลายมาตรการ ระยะที่ 3 ส่วน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เรียกร้องให้คนไทยพร้อมเพรียงพร้อมใจมีอนาคตร่วมกันเพื่อ ก.ค.นี้จะไม่มีเชื้อโควิดในประเทศไทย ก็จะไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะมีวันหยุดเพิ่มเติม
เงื่อนไขการกำหนดวันหยุดในเดือน ก.ค. ยังต้องพิจารณาด้านอื่นๆ มาตรการทางเศรษฐกิจก็มีความสำคัญ วันนี้เศรษฐกิจไทยต้องการเม็ดเงินมากระตุ้น ทำอย่างไรให้มีความต่อเนื่องในการเยียวยา ยิ่ง ก.ค.เป็นเดือนที่เข้าสู่ไตรมาสที่ 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงการคลังเห็นว่าต้องเดินหน้าปลุกความคึกคัก ฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ติดลบน้อยที่สุดก่อน ในการประชุม ศบค.วันที่ 4 มิ.ย.นี้ จึงมีวาระพิจารณามาตรการกระตุ้นด้านการท่องเที่ยว ภาคธุรกิจที่สร้างรายได้เข้าประเทศมากเป็นอันดับต้นๆ รองจากการส่งออก วันนี้ได้ผลกระทบจากโควิดหนักที่สุด
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำลังหาทางใช้เงินในงบประมาณฟื้นฟู 4 แสนล้าน ขณะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คิดแคมเปญส่วนลดโดยจะแจกคูปอง 4 ล้านคน ให้ใช้ท่องเที่ยวภายในประเทศ ส่วนภาคเอกชนท่องเที่ยวมีข้อเสนอให้แจกเงิน 2-3 พันบาทต่อคน จำนวน 10 ล้านคน อยู่ระหว่างการสรุปในที่ประชุม ศบค.เพื่อเสนอ ครม.ในวันอังคารหน้า เราเห็นว่ามาตรการที่จะออกมาต้องเป็นมาตรการที่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด คุ้มค่ากับงบประมาณของประเทศ ปัญหาคือวันนี้คนไทยไม่มีเงิน ภาคธุรกิจขาดสภาพคล่อง
ตัวเลขเศรษฐกิจเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจต่ำเป็นประวัติการณ์ ปรับตัวลงต่ำกว่า 50 ในทุกเซ็คเตอร์ สะท้อนว่าโควิดส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและรุนแรง ที่น่าห่วงความเชื่อมั่นด้านการลงทุนและการจ้างงานลดลงมาก จะมีการเลิกจ้างงาน ดัชนีทุกตัวติดลบ มีแต่การใช้จ่ายภาครัฐเท่านั้นที่เป็นบวก เราเห็นว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องใช้เงินในการดูแล แต่เรายังเห็นความจำเป็นในการตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ตรวจสอบและติดตามการใช้เงิน เพื่อความโปร่งใส เพียงแต่ทำอย่างไรให้ได้บุคคลที่น่าเชื่อถือมาเป็น กมธ. ไม่ใช่เลือกมาจากโควตาพรรคและนักการเมือง