ลงทุนอุตฯไฮเทคบูม BOI เมินผลกระทบ“โควิด”
ถึงแม้การลงทุนจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่การลงทุนบางประเภทยังมีแนวโน้มขยายตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไฮเทค เพื่อรองรับเศรษฐกิจฟื้นตัวในอนาคต
นับตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน บริษัทต่างชาติและไทยได้รับส่งเสริมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจริยะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่น ซัมซุง โตชิบา ไมเดีย มิตซูบิชิ อิเล็กโทรลักส์ แดวู ซัยโจ เด็นกิ (ไทย) โดยมีผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศไทย เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น ตู้แช่
ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน 62 โครงการ มูลค่ากว่า 26,764 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 50 โครงการ มูลค่าลงทุน 26,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนอุปกรณ์ไฟฟ้าในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบสมาร์ท เช่น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น หมวดผลิตภัณฑ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น วงจรรวม หรือ IC (Integrated Circuit) และแผงวงจรพิมพ์ หรือ PCBA เซลล์แสงอาทิตย์
ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า คำขอส่งเสริมการลงทุนที่เข้ามาในช่วงไตรมาส 1 ปี 2562 เป็นแรงส่งจากการย้ายฐานการผลิตเพราะสงครามการค้า รวมถึงการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติม เช่น ไทยแลนด์พลัส ทำให้ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาเน้นการดึงโครงการใหญ่เข้ามาในไทย โดยมุ่งเน้นดึงดูดอุตสาหกรรมที่ย้ายออกจากจีนเนื่องจากเทรดวอร์ จึงได้ออกแพ็คเกจนี้ออกมา
ทั้งนี้ เมื่อมีการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ต้องมีมาตรการเพิ่มเติมจากที่ออกไปช่วงต้นปี 2563 จึงทำให้บีโอไอพิจารณาทบทวนมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่จะเน้น 2 ส่วน คือ
1.การลงทุนกิจการที่ใช้เทคโนโลยีสูง หรือ อุตสาหกรรมไฮเทค
2.การลงทุนที่กระจายไปภูมิภาค เพื่อตอบโจทย์ลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้คนมีงานทำในพื้นที่ไม่ต้องอพยพเข้าสู่เมืองใหญ่
การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้เกิดแรงจูงใจลงทุนโครงการใหญ่ตามมาตรการที่ได้ออกไปแล้ว คือ 1.กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ เครื่องมืออุปกรณ์แพทย์ ที่ออกแพ็กเกจเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา 2.กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ทั่วโลก ซึ่งมีความต้องการใช้เครื่องมือสื่อสารกันมาก รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับดาต้า ส่งผลให้คำขอรับส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมนี้มีเข้ามามากในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้
“ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียวมามูลค่าคำขอลงทุนมากกว่าทั้งไตรมาสแรก และมีโครงการใหญ่ 3-4 พันล้านหลายโครงการ”
ประเทศไทยมีความน่าสนใจลงทุนแม้ว่าจะอยู่ในภาวะวิกฤติโควิด-19 โดยมีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนผลิตสินค้าที่หลากหลายเข้ามาที่บีโอไอ ซึ่งในระยะต่อไปจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ยื่นคำขอเข้ามา เช่น การลงทุนผลิตสมาร์ทสปีกเกอร์ มินิโฮม โดยเมื่อมีการลงทุนกลุ่มนี้เข้ามาจะทำให้ซัพพลายเออร์เข้ามาลงทุนเป็นคลัสเตอร์ และยุทธศาสตร์ของบีโอไอจะดึงบริษัทแม่รายใหญ่ของกลุ่มสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์เข้ามา เพื่อให้บริษัทลูกตามเข้ามาด้วย
“เป้าหมายมูลค่าการลงทุนในปีนี้ ยังไม่ได้ตั้งไว้ เพราะในภาวะแบบนี้ยากที่จะบอกว่าเป้าหมายคืออะไรเท่าไร ไม่มีทางรู้เลย ไม่สามารถตอบได้ว่าวัคซีนรักษาโรคโควิด-19จะมาเมื่อไร ถ้าไม่มีวัคซีนจะใช้ชีวิตตามปกติได้หรือไม่”
การดึงดูดอุตสาหกรรมไฮเทคนั้น ไทยมีจุดแข็งในเรื่องการมีซัพพลายเชนที่เข้มแข็ง ขณะที่มาเลเซียมีแรงงานน้อยกว่าไทยมาก ต้องใช้แรงงานต่างด้าวเยอะ รวมทั้งรัฐบาลไทยมีมาตรการส่งเสริมการเพิ่มทักษะและปรับทักษะแรงงานตลอด
การให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้นำเงื่อนไขการพัฒนาบุคลากรมาเป็นตัวตั้ง เพราะเป้าหมายอุตสาหกรรมในอีอีซีเป็นอุตสาหกรรม S–curve จะทำอุตสาหกรรมที่ทันสมัยได้จะต้องมีแรงงานที่มีทักษะสูงมารองรับอุตสาหกรรมทันสมัยได้ ดังนั้นการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มจะต้องกำหนดเงื่อนไขให้สร้างบุคลากรด้วย
การดึงดูดบุคลากรด้านเทคโนโลยีชั้นสูงเข้ามาทำงานในไทยจะเป็นส่วนสำคัญในการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยบีโอไอได้ใช้กลไกสมาร์ทวีซ่าตั้งแต่ ก.พ.2561 ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่มีโอกาสทำได้ดีกว่านี้ เพราะยังทำการตลาดได้ไม่มากพอ ปัจจุบันได้ออกสมาร์ทวีซ่าไปแล้ว 270 คน กลุ่มธุรกิจที่ได้รับการอนุมัติมากที่สุด คือ ด้านดิจิทัล ออโตเมชั่น ส่วนสัญชาติที่ได้รับการอนุมัติมากที่สุด คือ ญี่ปุ่น
ในขณะที่กลุ่มที่มาแรง คือ อาจารย์ในมหาวิทยาลัย จากการที่ได้พูดคุยกับสถาบันการศึกษาพบว่ามีปัญหาการนำอาจารย์ต่างชาติเข้ามา จึงได้เปิดให้กลุ่มอาจารย์เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นกลุ่มที่มาใช้สมาร์ทวีซ่าได้
ผู้ได้รับสมาร์ท วีซ่าช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มกว่า 500% และผ่านเกณฑ์ที่กำหนด โดยที่เข้ามามากอยู่ในกลุ่มดิจิทัลที่เป็นสตาร์ทอัพมาก เพราะบีโอไอมีสมาร์ทวีซ่า “สมาร์ทเอส” ซึ่งมีผู้สนใจเข้ามาใช้เยอะเพราะบีโอไอไปทำประชาสัมพันธ์ตลอด และทำงานกับเครือข่ายสตาร์ทอัพในหลายพื้นที่
นอกจากนี้มีกลุ่มอุตสาหกรรมที่การลงทุนโดดเด่นขึ้นมา คือ BCG (Bio-Circular-Green Economy) โดยเฉพาะกลุ่มไบโอที่ไทยมีศักยภาพ และเมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้เข้าไปเกี่ยวข้องทางการแพทย์ เช่น การผลิตสารสกัดสมุนไพรที่ไทยมีศักยภาพ แต่ภาครัฐต้องเข้าไปเสริมศักยภาพที่มี
ทั้งนี้บีโอไอได้ปรับหลักเกณฑ์ประเภทกิจการที่เกี่ยวข้องกับ BCG ตลอด โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่การเพาะปลูกต้นน้ำจะไม่ได้รับการส่งเสริม แต่ขณะนี้มีการเพาะปลูกแนวใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีแบบใหม่ทำให้บีโอไอต้องนำมาทบทวนการส่งเสริมการลงทุนภาคการเกษตร โดยภาคการเกษตรเป็น 1 ใน สาขาที่บีโอไอจะหยิบยกขึ้นมาดูเพิ่มเติมแก้ไข เช่น เพิ่มประเภทกิจการที่ไม่เคยมี จากเดิมที่ได้เสนอคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนปรับปรุงประเภทกิจการที่มีอยู่แล้ว เช่น สมาร์ทฟาร์มมิ่ง
อีกกลุ่มที่บีโอไอมอง คือ กลุ่มดิจิทัล ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนมานานแล้ว พอเจอโควิด-19 ยิ่งเป็นสาขาที่ขึ้นมาเป็นดาวเด่น เพราะความต้องการเพิ่มขึ้นมาก ทั้งหมดนี้เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เกาะติดกับอุตสาหกรรมเอสเคิร์ฟ หาจุดเด่นของไทยในกลุ่มนี้