ป.ป.ช. แจง 'นาฬิกายืม' ไม่เป็นบรรทัดฐาน
เลขาธิการ ป.ป.ช. แจง กรณีนาฬิกาของพล.อ.ประวิตร "ยืมใช้คงรูป" ดูเป็นกรณีไป ไม่ยึดเอาบรรทัดฐานกรณีอื่น
วานนี้ (5มิ.ย.) นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้แจงถึงกรณีการยืมนาฬิกาเพื่อนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นการยืมใช้คงรูป จึงไม่ต้องแจ้งในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า การให้แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความโปร่งใสป้องกันการทุจริต และจะเป็นเครื่องมือหรือมาตรการเสริมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพราะคนที่จะกระทำการทุจริตนั้นต้องการทรัพย์สินเงินทองเป็นหลัก
ในบทบัญญัติของกฎหมายของ ป.ป.ช.ในการตรวจสอบทรัพย์สินนั้น ป.ป.ช.ตรวจสอบความถูกต้องและการมีอยู่จริงของทรัพย์สิน เพื่อพิจารณาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแสดงความโปร่งใสหรือไม่ ปัจจุบันกฎหมายใหม่ ได้เพิ่มองค์ประกอบความผิดว่า ไม่ใช่แค่การยื่นเท็จหรือปกปิดเท่านั้น แต่จะต้องมีเจตนาที่ไม่แสดงที่มาของรายการทรัพย์สิน และจะตรวจสอบว่า ระหว่างดำรงตำแหน่งมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติหรือไม่
การดำเนินการของ ป.ป.ช.ได้กำหนดแบบฟอร์มให้ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งมีรายการทรัพย์สิน 9 ประเภท และรายการหนี้สิน 4 ประเภท
“เมื่อมีปัญหาขึ้นมา ป.ป.ช.จะเข้าไปตรวจสอบความถูกต้องและการมีอยู่จริง โดยจะพิจารณาทั้งข้อเท็จจริง พยานหลักฐานและข้อกฎหมาย ดังนั้นการพิจารณาคดีใดคดีหนึ่ง รายละเอียดข้อเท็จจริงแต่ละเรื่องอาจไม่เหมือนกัน เช่น เรื่องที่ผ่านมากรณีอดีตข้าราชการระดับสูงรายหนึ่ง ไปยืมรถของเพื่อนมา และไม่แจ้งต่อ ป.ป.ช. เมื่อ ป.ป.ช.เข้าไปตรวจสอบก็พบว่าไม่ใช่เรื่องยืม แต่เป็นรถที่เขาได้มาเองและปกปิดไม่แจ้ง"
"หรือบางกรณีก็ตรวจสอบพยานหลักฐาน และรับฟังยุติว่า เป็นเรื่องยืมกันจริงๆ เราก็มาดูข้อกฎหมายว่า การแสดงรายการทรัพย์สินฯ ให้แสดงรายการทรัพย์สินที่เป็นของตนเอง ไม่ใช่ทรัพย์สินของคนอื่น ข้อเท็จจริงแต่ละเรื่องก็เป็นรายละเอียดของแต่ละเรื่อง ไม่ใช่ว่าเราตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปแล้วจะเป็นบรรทัดฐานในเรื่องอื่นๆ”
เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวอีกว่า สำหรับข้อห่วงใยจากผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ นั้น ป.ป.ช.จะรับไว้เพื่อปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่อไป การทำงานของ ป.ป.ช.เป็นองค์กรบังคับใช้กฎหมาย การทำงานจึงต้องยึดหลักกฎหมายและพยานหลักฐาน
เมื่อถามว่า กรณีนี้เป็นช่องโหว่หรือไม่ นายวรวิทย์ กล่าวว่า “ยังไม่ถึงกับช่องโหว่ เพราะทั้งหมดต้องบอกว่าวัตถุประสงค์ของการยื่นรายการทรัพย์สินและหนี้สินต้องการสร้างความโปร่งใสและป้องกันการทุจริต เราก็ไปตรวจสอบดูเป็นเรื่องๆ ไป”