‘หมอบุ๋ม’ เผย 3 กฎเหล็กก่อนออกไป ‘เที่ยวไทย’ หลังผ่อนปรนโควิด
แพทย์หญิงพรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการ “ท่องเที่ยว” ของคนไทยที่ยัง “การ์ดตก” พร้อมย้ำให้ปฏิบัติตัว 3 ข้อเมื่อออกไปเที่ยว คือ สวมหน้ากาก งดไปในพื้นที่แออัด และเช็กอินเช็กเอาท์แพลตฟอร์ม "ไทยชนะ"
วันที่ 6 มิ.ย. หลังการแถลงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวันเสร็จสิ้น แพทย์หญิงพรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการ “ท่องเที่ยว” ของคนไทยที่ยัง “การ์ดตก” พร้อมย้ำว่าต้องอย่าลืมข้อปฏิบัติตัวสำคัญ 3 ข้อที่จะช่วยให้ปลอดภัยจากโรคระบาดโควิด-19
แพทย์หญิงพรรณประภา กล่าวว่า หลังจากมีการประกาศมาตรการ “ผ่อนคลายระยะ3” ทำให้มีร้านค้าและกิจการในส่วนของสถานที่ท่องเที่ยวกลับมาเปิดบริการมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่คนไทยจะได้ออกไปเที่ยวผ่อนคลายความตึงเครียดและได้ไปพักผ่อนร่วมกับครอบครัว ข้อดีอีกอย่างคือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เพราะในช่วงนี้ก็มีเพียงแค่คนไทยเราด้วยกันที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจกลับมาได้
แต่อยากเน้นย้ำว่า การออกไป “ท่องเที่ยว” ต้องคำนึงถึงจำนวนผู้คนจำนวนในสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนั้นๆ ด้วย ว่ามีผู้คนหนาแน่นแออัดหรือไม่ เพราะการเดินทางไปเที่ยวในสถานที่แออัด มีผู้คนจำนวนมาก แทนที่จะสนุกแต่อาจจะเครียดกว่าเดิมเพราะกังวลว่าจะติดเชื้อโรคระบาดโควิด-19 ดังนั้นอยากแนะนำว่า ช่วงนี้ให้เลือกสถานที่ท่องเที่ยวที่คนยังน้อยอยู่ มีผู้คนไปใช้พื้นที่ไม่เยอะมาก หรือรอก่อน รอให้แหล่งท่องเที่ยวเริ่มซาจากผู้คนแล้วค่อยเดินทางไปเที่ยว
นอกจากนี้ แพทย์หญิงพรรณประภายังย้ำถึงข้อปฏิบัติตัวในการออกไปเที่ยวในช่วงนี้ว่า
1. สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา งดใช้มือสัมผัสใบหน้า ล้างมือบ่อยๆ
2. เว้นระยะห่างซึ่งกันและกันอย่างน้อย 2 เมตร งดการเดินทางไปในพื้นที่แออัด
3. สแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อ เช็กอินและเช็กเอาท์ ในแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ทุกครั้ง
“การใช้แพลตฟอร์มนี้ ช่วงแรกพี่น้องประชาชนคนไทยอาจจะยังไม่คุ้นชิน แต่สิ่งสำคัญที่เราทุกคนต้องเช็กอินทุกครั้ง ก็เพราะจะเป็นการช่วยประเมินความหนาแน่นของผู้คนในพื้นที่นั้นๆ ได้ ถ้าพบว่ามีคนเยอะหนาแน่น เราจะได้เลี่ยงก่อน อีกอย่างคือ จะได้มีบันทึกในระบบว่าเราไปใช้พื้นที่นั้นช่วงเวลาไหน นานเท่าไหร่ หากมีการตรวจพบว่ามีผู้ติดเชื้อเข้าไปในพื้นที่นั้นๆ ในช่วงเวลาเดียวกันกับเรา ก็จะได้แจ้งเจ้าหน้าที่และตรวจร่างกายได้ทัน
ที่สำคัญอย่าลืมสแกนอีกครั้งเพื่อเช็กเอาท์ เพราะถ้าเราไม่เช็คเอาท์เราจะอยู่ในร้านนั้นไปตลอด ทำให้ระบบเห็นว่าพื้นที่นั้นๆ มีความหนาแน่นตลอดเวลา ไม่เปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนคนอื่นๆ มาใช้บริการ ดังนั้นการเช็กเอาท์ทุกครั้งก็เพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่นได้มาใช้พื้นที่ตรงนั้นด้วย และยังทำให้ได้ทราบอัตราผู้ใช้งานในจำนวนที่แท้จริง” แพทย์หญิงพรรณประภากล่าวสรุป