มี 'ฟาร์มสมาร์ท' มีความสามารถ
นอกจากช่องทางการขายออนไลน์ที่จะเข้ามาส่งเสริมภาคการเกษตรของไทยแล้ว "Smart Farming" นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เกษตรกรและหน่วยงานภาครัฐต้องหันมามองมากขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีและข้อมูลมาใช้เพิ่มคุณภาพและผลิตผลให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ
สัปดาห์ที่แล้วเขียนถึงเกษตรกรกับช่องทางขายออนไลน์ ที่ปัจจุบันมีโอกาสเปิดกว้างหลากหลายมากขึ้น เลยทำให้นึกต่อไปถึงงานอีกส่วนที่สัมพันธ์กัน คือ การเพาะปลูกที่ต้องเกิดการปรับตัวตามกันไป เพื่อให้มีความสามารถมากขึ้นด้วยการมี "ฟาร์มสมาร์ท" หรือ "Smart Farming"
Smart Farming หมายถึงการพัฒนากระบวนการผลิตทางการเกษตร ที่มุ่งเน้นการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารจัดการแปลง ทั้งในส่วนกายภาพและออนไลน์
โดยครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการทำการเกษตรและการบริหารจัดการฟาร์ม ตั้งแต่การบันทึกข้อมูล วิเคราะห์ และตัดสินใจ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงปริมาณ คุณภาพ หรือระยะเวลาที่ใช้การตรวจจับความผิดปกติ นำสู่การลงมือจัดการแก้ไข
เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่นำมาใช้ ได้แก่ Internet of Things, Sensors, และ Cloud Computing รวมถึงการนำหุ่นยนต์และ AI เข้ามาร่วมในการบริหารจัดการ
แนวโน้มสำคัญ ได้แก่ การนำเทคโนโลยี Auto-ID และ Smart sensors มาช่วยในการจัดเก็บข้อมูลและสนับสนุนการติดตามตรวจสอบย้อนกลับของสินค้า เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า และตอบโจทย์ความยั่งยืนลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถช่วยเรื่องการจัดการลดขยะ ของเสียในกระบวนการ โดยสามารถสร้างการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันระหว่างภาคการผลิตหรือเกษตรกร กับภาคอุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบการที่นำวัตถุดิบไปใช้งานต่อ
แน่นอนที่เมื่อมีฟาร์มสมาร์ทแบบนี้ แล้วย่อมนำไปสู่การเกิดขึ้นของฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data ที่มีความซับซ้อน เพราะมาจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายภาคส่วน ทั้งนี้ลักษณะข้อมูลจากการจัดการด้านการเกษตรมักจะมีรายละเอียดปลีกย่อย ซึ่งแม้จะเป็นหัวข้อเดียวกัน หากเก็บจากแหล่งข้อมูลที่แตกต่าง ก็อาจจะอยู่ในรูปแบบหรือหน่วยวัดที่ไม่เหมือนกัน
โดยแหล่งข้อมูลอาจแยกออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
- Process-mediated เป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทำงาน เช่น ข้อมูลที่เกี่ยวกับการจัดซื้อ หรือการขาย แหล่งข้อมูลนี้มักมีการจัดการอย่างเป็นระบบ
- Machine-generated เป็นข้อมูล ที่เกิดขึ้นจากเครื่อง เช่นการใช้ Sensor เพื่อบันทึกการทำงาน ทำให้ข้อมูลที่ได้รับมักจะมีโครงสร้างของข้อมูลที่ชัดเจน สามารถนำมาใช้ในการประมวลผลได้ง่าย เครื่องมือที่ใช้ช่วยสร้างข้อมูลได้รับการพัฒนาไปมากขึ้นในปัจจุบัน เช่น การใช้ Drone, Infrared Camera, GPS หรือการใช้หุ่นยนต์ที่มีส่วนช่วยในการจัดการแปลงและบันทึกข้อมูลไปพร้อมกัน
- Human-sourced เกิดจากการบันทึกของมนุษย์ (หรือเกษตรกร) ทั้งในรูปแบบของตัวหนังสือรูปภาพ เสียง วิดีโอ ซึ่งปัจจุบันสามารถจัดเก็บเป็นระบบ ข้อมูลจากแหล่งนี้มักจะไม่มีโครงสร้างที่ชัดเจน แต่มีผลอย่างยิ่งต่อการนำไปใช้สื่อสารทางการตลาด พร้อมโอกาสในการวิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจในการทำงานแบบ real-time ทั้งการประเมินความสามารถในการผลิตของเกษตรกร การใช้ปัจจัยผลิตและการดูแลแปลง ซึ่งนำไปสู่การประเมินความคุ้มค่า ในการลงทุน รวมถึงการพยากรณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลง และการออกแบบกระบวนการทำงานให้สอดรับกัน
ปัจจุบันมีความสนใจผลักดันให้เกิดการเติบโตของ Smart Farming มากขึ้น ด้วยสาเหตุที่ลูกค้าผู้ประกอบการและผู้บริโภคต้องการข้อมูล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยและคุณค่าของอาหาร ฝั่งเกษตรกรเองก็มีความต้องการใช้งานข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจมากขึ้น โดยเป็นข้อมูลที่สอดคล้องกับบริบทการทำงาน
โดยเฉพาะในสภาวะปัจจุบันที่พบความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ดิน น้ำ อากาศ จึงจำเป็นต้องอาศัยการตัดสินใจอย่างเป็นระบบและแม่นยำ ปัจจัยสนับสนุนอีกด้านมาจากการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น Internet of Things ที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันของเครื่องมือการทำงานต่างๆ ผ่านโครงข่ายข้อมูล ประกอบกับการจัดเก็บและถ่ายโอนข้อมูลแบบ Wireless data ยังช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลได้โดยง่าย
เป็นที่คาดการณ์กันว่า Smart Farming และ Big Data จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของโมเดลธุรกิจใหม่ ที่เป็นโมเดลการแบ่งสรรผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
แนวโน้มของการเกิด Open Platform จะยิ่งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา Solution เหล่านี้ได้รวดเร็วขึ้น และยังเป็นการติดอาวุธให้กับเกษตรกรรายย่อยที่อยู่ใน ห่วงโซ่คุณค่า ทั้งนี้ต้องขึ้นกับคุณภาพของข้อมูลที่จัดเก็บและความสามารถในการวิเคราะห์เพื่อนำไปใช้
หากมีฟาร์มสมาร์ท ก็คาดว่าจะมีความสามารถเพิ่มขึ้นได้ นำไปสู่โอกาสการผลิตและการค้าใหม่ๆ ของโลกอนาคต