เอ็นจีโออีสาน จี้สถานทูตกัมพูชา-นายกฯ จับคนร้ายอุ้ม 'วันเฉลิม'
กป.อพช.อีสาน พร้อมเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน เตรียมยื่นหนังสือถึงสถานทูตกัมพูชาและนายกรัฐมนตรี จับกุมและเอาผิดคนร้ายอุ้ม "วันเฉลิม" ลงโทษ ชี้ขอให้ทุกฝ่ายก้าวข้ามความขัดแย้งทางการเมือง พร้อมผลักดันกฎหมาย
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 8 มิ.ย. 63 นายคุ้มพงศ์ ภูมิภูเขียว ผู้ประสานงานเครือข่ายทนายความเพื่อปฏิรูปความยุติธรรม นายณัฐวุฒิ กรมภักดี ผู้ประสานงานกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น นายถนัด แสงทอง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน และนายปฎิวัติ เฉลิมชาติ เลขาธิการ กป.อพช. ภาคอีสาน ได้ร่วมกันแถลงกรณีการหายตัวของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทย ที่อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา ถูกกลุ่มคนร้าย อุ้มหายไปอย่างไร้ร่องรอย โดยการบังคับจับตัวขึ้นรถยนต์ ที่หน้าคอนโดมีเนียมที่พักใจกลางเมืองหลวง เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.63 ไม่มีการพบตัวหรือมีความเคลื่อนไหวใดๆในการสอบสวนหรือติดตามจากทางการกัมพูชาหรือจากทางการไทย
นายปฎิวัติ กล่าวว่า การกระทำนี้ถือเป็นการถูกบังคับให้สูญหาย เป็นอาชญากรรมร้ายแรงทางกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี
“กป.อพช.อีสาน ขอเรียกร้องให้กัมพูชาเร่งสืบสวนสอบสวนติดตามการหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ส่วนทางการไทยต้องสืบสวนในกรณีนี้เช่นกัน ในฐานะที่นายวันเฉลิมเป็นพลเมืองไทย แม้ว่านายวันเฉลิม จะเป็นผู้ต้องหาตามความผิดของ พรบ.คอมพิวเตอร์ และข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ของทางการไทย สำหรับการเคลื่อนไหวทาง กป.อพช. มีมติร่วมกันว่าจะเตรียมการยื่นหนังสือต่อสถานทูตกัมพูชา และ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้เร่งดำเนินการเอาผิดคนร้ายโดยเร็ว”
นายคุ้มพงศ์ กล่าวว่า ในกรณีที่เกิดขึ้นขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมาให้ความรู้ความเข้าใจกับสังคม เพราะกรณีนี้อาจจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ที่ผ่านมาเหตุการณ์ในลักษณะนี้มักเกิดขึ้นกับคนที่อยู่ในความสนใจของสังคม หากดำเนินการตามหลักการร่างพระราชบัญญัติการป้องกัน ปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหานั้น เขตอำนาจการพิจารณาคดีมีทั้งในประเทศไทยและกัมพูชา โดยรับรองตามสิทธิอนุสัญญา การดำเนินคดีจะใช้กฎหมายระหว่างประเทศ รายละเอียดในทางปฏิบัติผู้เกี่ยวข้องของทั้ง 2 ประเทศ ตำรวจสากลเข้ามาร่วมในการสอบสวนร่วมกัน
“สำหรับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ ประเทศไทยได้ร่วมลงนาม ปี 2555 ถือเป็นการพัฒนาระบบยุติธรรม อย่างไรก็ตามที่สำคัญรัฐบาลไทยต้องแสดงความจริงใจที่จะยุติ ไม่ใช้ความรุนแรงและการไล่ล่านอกระบบกฎหมายต่อกลุ่มคนที่เห็นต่างไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในประเทศไทยหรือลี้ภัยในต่างประเทศ เมื่อมีประเด็นต้องเปิดใจให้กว้าง เมื่อมีเหยื่อที่เห็นต่างทางการเมือง รัฐบาลก็ต้องให้การดูแล ให้ถือว่าเป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่ต้องได้รับการคุ้มครอง แม้ว่าเขาจะมีความเห็นต่างทางการเมือง” นายคุ้มพงศ์กล่าว