ยาหอม ‘โบรกเกอร์’พลิกมีกำไร หลังวอลลุ่มทะลักแสนล้าน

 ยาหอม ‘โบรกเกอร์’พลิกมีกำไร   หลังวอลลุ่มทะลักแสนล้าน

ภายในระยะเวลา 2 เดือนกว่าหุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้รวดเร็วและแรงจนกลายเป็นจุดที่นักลงทุนหลายคนตั้งคำถามว่า พลาดขบวนรถไฟ(ฟ้า) รอบนี้แล้วใช่หรือไม่ และถ้าจะเข้าลงทุนรอบนี้จะช้าไปหรือเปล่า ต่างชาติทยอยซื้อเป็นสัญญาณซื้อหรือไม่

ซึ่งเหล่านี้ทำให้มีนักลงทุนหลายรายกล้าที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น

ความเสี่ยงที่ว่าคือเชิงพื้นฐานที่ไม่ตอบรับกับความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น เพราะตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอทั่วโลกรวมทั้งไทยยิ่งในไตรมาส 2 ปี 2563 จะเห็นการปรับฐานลงมากที่สุดเพราะเป็นช่วงหยุดการดำเนินธุรกิจ ประชาชนบริโภคเท่าที่จำเป็นและสำคัญ ยังไม่นับรวมกับโอกาสการกลับมาระบาดรอบ 2 ของโควิด 19 ในหลายประเทศรวมทั้งไทยหลังคลายล็อกดาวน์

หากประเมินจากการบริหารจัดการรับมือกับการแพร่ระบาด ซึ่งไทยทำได้ดีและติดอันดับต้นๆในเอเชีย จึงกลายเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญสำหรับตลาดในรอบนี้ บวกกับวันนี้สภาพคล่องล้นระบบล้นโลกมากกว่าวิกฤติอื่นๆ ที่เคยผ่านมา

ด้วยธนาคารกลางและรัฐบาลทั่วโลกต่างอัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาดูแลระบบเศรษฐกิจในประเทศตัวเอง หวังหยุงเศรษฐกิจไว้ในช่วงที่เกิดวิกฤติจนทำให้เงินที่มีอยู่ในระบบต้องหาทางแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนซึ่งไม่มีอะไรที่เปลี่ยนมือได้เร็วเท่าตลาดหุ้น

ดังนั้นจึงทำให้เห็นได้ว่าดัชนีหุ้นไทยจกที่ลงไปจุดต่ำสุด 13 มี.ค. 2563 ที่ระดับ 969 .08 จุด วานนี้ (8 มิ.ย.) ดัชนีไปแตะที่ระดับ 1,450 จุด เป็นการเพิ่มขึ้น 480 จุด หรือเปลี่ยนแปลงเกือบ 50 % ภายในระยะเวลา 2 เดือนครึ่ง

และไทยยังขึ้นนำตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาคเดียวกัน ด้วยอัตราการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด จนทำให้อัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น(P/E) ตลาดหุ้นไทยกระโดดขึ้นมาอยู่ที่ระดับบ 20-22 เท่า เทียบกับค่าเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ระดับ P/E 13-14 เท่า จึงมองได้ว่าหุ้นไทยอยู่ในระดับเสี่ยงที่แพงเกินพื้นฐานไปค่อนข้างมาก

หากวัดจากอัตรากำไรต่อหุ้น (EPS) แล้วที่ถูกปรับลดจากระดับ 100 บาทต่อหุ้นจนลงมาอยู่ที่ 60 กว่าบาทต่อหุ้นนั้น หมายถึงการได้รับตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นเทียบกับกำไรที่บริษัทนั้นทำได้ลดลงอย่างมาก แต่ไม่สามารถใช้ได้กับอารมณ์ความรู้สึกของตลาดหุ้นในช่วงขาขึ้นแบบนี้ได้

ภาวะตลาดหุ้นในปัจจุบันที่เป็นขาขึ้นมาต่อเนื่องยังทำให้ธุรกิจที่เผชิญสถานการณ์ย่ำแย่มาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงสิ้นปี 2562 กลับมาโดดเด่นได้ในช่วงนี้ คือ “ธุรกิจโบรกเกอร์” เพียงแค่วอลลุ่มการซื้อขายแม้จะเจอการล็อกดาวน์แต่ยังเฉลี่ยเกิน 5 หมื่นล้านบาทต่อวัน และยิ่งมีแรงซื้อต่างชาติเข้ามาผสมดันมูลค่าการซื้อขายทะลุแสนล้านบาทต่อวัน

รวมทั้งยังดันกลุ่มนักลงทุนรายย่อยเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้นจากที่ซบเซาไปนาน จนทำให้ตัวเลขสัดส่วนนักลงทุนราย่อยกลับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 40 % จากปี 2562 อยู่ที่ 33 % ลดลงอย่างต่อเนื่องที่เคยขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 60 % ในปี 2557

เมื่อวอลลุ่มปรับตัวสูงขึ้นมีฐานนักลงทุนในตลาดจำนวนมากขึ้น ทำให้วอลลุ่มของแต่ละโบรกเกอร์ต่างขยับขึ้นไม่น้อยยิ่งในกลุ่ม 5 อันดับแรกที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุด หรือ มาร์เก็ตแชร์ ต่างมีตัวเลขปรับตัวขึ้นทุกโบรก สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในกลุ่มโบรกเกอร์ที่ปรับตัวขึ้นเช่นกัน จนดัชนีกลุ่มบวกขึ้นมาแล้ว 50 % ระดับ P/E อยู่ที่เกือบ 18 เท่า

อย่างไรก็ตามกลุ่มธุรกิจโบรกเกอร์ยังมีปัจจัยกดดันกำไรอยู่ไม่น้อย แม้ว่าตัวเลขมาร์เก็ตแชร์จะเพิ่มขึ้นและมีผลต่อรายได้ค่านายหน้าซื้อขาย ซึ่งเป็นรายได้หลักของธุรกิจนี้ แต่ด้วยการปรับโครงสร้างค่าคอมมิชั่นและการแข่งขันทำให้ค่าเฉลี่ยลงมาอยู่ที่ 0.10 % บางรายเป็น 0 % ซ้ำหากเป็นลูกค้ารายใหญ่ และหากเป็นการซื้อขายออนไลน์ค่าคอมฯ เท่ากับ 0 % เช่นกัน

ดังนั้นตัวเลขวอลลุ่มที่เพิ่มขึ้นอาจจะไม่ได้หมายถึงกำไรที่เพิ่มขึ้นไปด้วย เพราะขึ้นอยู่กับการบริหารต้นทุนให้ลดลง การกระจายรายได้ และความสามารถในการลงทุนจากพอร์ตโบรเกอร์ ซึ่งภาวะตลาดหุ้นช่วงนี้จึงเหมือนยาหอมให้กับธุรกิจโบรกในช่วงที่เจอปัจจัยลบอย่างหนักมาตลอดให้หันมาลุ้นกลับมามีกำไรแบบก้าวกระโดดได้อีกครั้ง