ส.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์วอนรัฐ ทดลองเปิดบริการ 'ผับ-บาร์'
ผับ บาร์ สถานบันเทิงนับ "หมื่นแห่ง" ทั่วไทย เผชิญวิบากกรรมจาก "ล็อกดาวน์" ป้องโรคโควิด ไม่แค่สถานประกอบการเดือดร้อน ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง "เครื่องดื่มแอลกอฮอล์" 3.7 แสนล้าน เซ่นพิษไวรัส หดตัว 40% สมาคมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แนะรัฐนำร่องลองเปิด ช่วยธุรกิจ
โรคโควิดระบาด กระทบธุรกิจถ้วนหน้า หนึ่งในเซ็กเตอร์ที่กำลังเสียหาย คือ บรรดาสถานบันเทิง ผับ บาร์ ต่างๆ เพราะนอกจากจะต้องปิดให้บริการเป็นเวลานานกว่า 75 วันแล้ว การคลายล็อกดาวน์เฟส 4 ในการกลับมาเปิดให้บริการยังต้องรอลุ้น!! เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นพื้นที่ “สุ่มเสี่ยง” ในการรวมตัว ยิ่งกว่านั้นหากมีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เกิดการขาดสติ ทำให้การเว้นระยะห่าง การระมัดระวังตัวเพื่อป้องกันโรคลดน้อยลง
อย่างไรก็ตาม หากปล่อยให้กิจการเหล่านี้ถูก “แช่แข็ง” เป็นเวลานาน โอกาสเจ๊ง ! จะยิ่งมากขึ้น และไม่เพียงธุรกิจสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ ที่กำลังเดือดร้อน แต่ธุรกิจเกี่ยวเนื่องอย่าง “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” โดนหางเลขอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะช่องทางขายดังกล่าว หรือเรียกว่า On Premise เป็นหน้าร้านสำคัญอย่างมาก เมื่อยังเปิดค้าขายไม่ได้ ธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA จึงมีข้อเสนอแนะให้รัฐพิจารณา โดยเฉพาะการผุดโปรเจค“ทดลอง” เปิดผับ บาร์ สถานบริการที่อยู่ตาม “โรงแรม” และ “ร้านอาหาร” ให้สามารถจำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการตรวจสอบหากเกิดปัญหา จะได้หามาตรการป้องกันทีละขั้นทีละตอนต่อไป
ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคเมื่อเข้าไปใช้บริการสถานบันเทิง ผับ บาร์ โรงเบียร์ หรือโรงแรม ไม่ได้ต้องการแค่บริโภคอาหารเท่านั้น แต่ต้องมีเครื่องดื่มด้วยเป็นของคู่กัน และผู้ประกอบการที่ขายสินค้า เช่น โรงเบียร์ขายขาหมูเยอรมันคู่กับเบียร์ โรงแรมขายสเต๊กคู่ไวน์ เป็นต้น
“การผ่อนคลายเฟส 4 ต้องการให้ภาครัฐทดลองทำโปรเจคนำร่องให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในร้านได้ เมื่อเกิดปัญหาก็ปรับแก้ไข เขียนเงื่อนไขในการใช้บริการให้ นี่ถือเป็นการขอโอกาสให้ผู้ประกอบการได้หายใจ”
หากประเมินสถานบันเทิง ผับ บาร์ต่างๆ รวมถึงร้านอาหารที่มีการแสดงดนตรีสดประมาณการมีมากถึงหลัก “หมื่นร้าน” ทั่วประเทศ และจากมาตรการล็อกดาวน์ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการขาดทุนจนต้องปิดกิจการราวกึ่งหนึ่ง เพราะที่ผ่านมา ไม่มีรายได้ แต่ยังมีรายจ่ายค่าเช่าพื้นที่ ค่าจ้างพนักงานฯ ขณะที่การเลิกกิจการยังส่งกระทบต่อการจ้างงานพนักงาน ศิลปิน นักดนตรี
ส่วนธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยรวมทั้งสุรา เบียร์ ไวน์ วิสกี้ฯ มีมูลค่าตลาดราว 3.7 แสนล้านบาท ตั้งแต่เกิดโรคโควิดระบาด(ก.พ.-พ.ค.) คาดว่าตลาดหดตัวลงราว 40% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะพึ่งพิงช่องทางจำหน่าย On Premise ค่อนข้างมาก แม้ที่ผ่านมาจะช่องทางร้านค้าทั่วไป จะขายมากขึ้น แต่เจอมาตรการ “ห้ามจำหน่าย” ตั้งแต่ 27 มี.ค. ซึ่งถือเป็นช่วงหน้าขาย และแม้ 3 พ.ค.จะกลับมาจำหน่ายได้แต่ก็ยังไม่เหมือนเดิม
“ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกฮอล์ปีนี้ ยิ่งกว่าสาหัส เพราะช่วงที่เกิดโรคโควิดระบาด ผู้ประกอบการไม่สามมารถขายสินค้าได้ และเป็นช่วงหน้าขายด้วย ยอดช่วงสงกรานต์จึงหายไป พอเข้าสู่ครึ่งปีหลัง เป็นฤดูฝน ช่วงเข้าพรรษา กระทบธุรกิจ 2 เด้ง และยังมีปัจจัยอื่น ที่นักท่องเที่ยวไม่เดินทางมาไทย สงครามการค้า กำลังซื้อผู้บริโภคหาย หรือตอนนี้หากเปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ต่างๆ ผู้บริโภคก็อาจจะไม่ไปใช้บริการ และการให้บริการยังไม่เหมือนเดิม เป็น New Normal ทั้งมีการเว้นระยะห่าง การทำความสะอาดร้าน การจำกัดจำนวนผู้เข้าไปใช้บริการ เป็นต้น”
นอกจากนี้ ยังต้องการให้รัฐพิจารณา “ผ่อนปรน” การจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งถือว่าช่วยลดจำนวนประชาชนที่จะเข้าไปใช้บริการช่องทาง On Premise ต่างๆ ได้ แต่จากพระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์(พ.ร.บ.) ปี2551 มาตรา 32 ห้ามไม่ให้โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องหมายการค้าฯ แต่สิทธิผู้บริโภคขั้นพื้นฐานควรได้รับรู้เกี่ยวกับสินค้าและบริการดังกล่าว ขณะที่ร้านที่มีใบอนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บางรายต้องปรับตัวจำหน่ายสินค้า โดยเฉพาะเบียร์สด แต่กลับได้รับผลกระทบ เพราะการโพสต์รูปสินค้าถูกตีความเป็นการโฆษณาทั้งหมด
“การซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์ ช่วยลดทราฟฟิกไปยังร้านผับบาร์ต่างๆ และยังตรวจสอบย้อนกลับได้ แต่การโพสต์รูปภาพ บอกข้อมูลพื้นฐานสินค้าถูกตีความเป็นการโฆษณา จึงต้องการให้รัฐผ่อนปรนให้เข้ากับสถานการณ์”
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในประเด็นร้อนบนโลกออนไลน์ คือผู้บริโภคโพสต์รูปภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วโดนจับปรับ เป็นเงิน 50,000 บาท โดยการแจ้งเบาะแสจะมีสินบนรางวัลด้วย ในระยะยาวจึงต้องการให้แก้นิยามของการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลาเป็นปี แต่ระยะสั้นควรผ่อนปรนการทดลองบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านและการจำหน่ายผ่านออนไลน์