เมกะเทรนด์โลก หลัง 'ยุคโควิด-19'
วิกฤติโควิด-19 แสดงถึงบทบาทสำคัญของนวัตกรรมและเทคโนโลยี ในการเข้ามาเป็นฮีโร่ช่วยแก้ปัญหา สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคตต่อทั้งบริษัท ชุมชน และสังคม อย่างการเกิด 3 เมกะเทรนด์โลก จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาล-ผู้นำองค์กร ต้องก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก
กว่า 3 เดือนที่ประเทศไทยเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนต้องล็อกดาวน์กันทั้งประเทศ ถึงวันนี้การผ่อนคลายล็อกดาวน์กระทำไปแล้วอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดวานนี้ (12 มิ.ย. 63) ศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์การแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 (ศบค.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติ ‘ยกเลิกเคอร์ฟิว’ มีผลวันจันทร์ที่ 15 มิ.ย.นี้ แต่ยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เอาไว้ แน่นอนว่า พวกเรายังต้องเข้มข้นดูแลสุขอนามัยของตัวเองต่อไป ให้กลายเป็นเหมือนวิถีชีวิตปกติ หน้ากากต้องใส่ หมั่นล้างมือ รักษาระยะห่าง ยังมีความจำเป็น
ในอีกด้านหนึ่ง วิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ แสดงถึงบทบาทสำคัญของ "นวัตกรรม" และ "เทคโนโลยี" ในการเข้ามาเป็นฮีโร่ช่วยแก้ปัญหา ขณะที่ผลกระทบที่เราต่างเผชิญ สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคตต่อทั้งบริษัท ชุมชน และสังคม "เทเลนอร์ รีเสิร์ช" ได้ทำนาย 3 เมกะเทรนด์ของโลกอนาคตหลังยุคโควิด-19 ประกอบด้วย “โครงสร้างพื้นฐานใหม่เพื่อการทำงานวิถีใหม่" วิกฤตินี้เปลี่ยนวิถีการทำงานอย่างสิ้นเชิง หลายบริษัทเริ่มให้พนักงานทำงานได้จากที่บ้าน อาคารสำนักงานสำคัญน้อยลง วิกฤตินี้ คือ "ตัวเร่ง" ให้เกิดเทรนด์ทำงานที่ยืดหยุ่น ซึ่งรัฐบาลควรสนับสนุนการจัดสรรทรัพยากร และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของเมือง เพื่อรองรับอนาคตในลักษณะนี้ไว้ด้วย
เทรนด์ต่อมา คือ “เอไอเปลี่ยนโฉมการจ้างงาน” มาตรการล็อกดาวน์ที่รัฐบาลทั่วโลกใช้ เพื่อสู้การแพร่ระบาดที่กระทบเศรษฐกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ผู้คนหลายล้านคนอยู่ในสภาพ "ตกงาน" ขณะเดียวกันก็มีงานหลายประเภทที่เกิดขึ้นจากผลกระทบโควิด และงานที่ต้องอาศัยแรงงานข้ามชาติ หลังยุคโควิดการจ้างงานในตลาดแรงงานไร้ฝีมือจะเปลี่ยนไป เทคโนโลยี "ปัญญาประดิษฐ์" หรือ "เอไอ" จะมีบทบาทสำคัญ คัดเลือกแรงงานและการจ้างงาน จับคู่ผู้สมัครและเจ้าของกิจการที่ความต้องการตรงกัน เอไอจะมีบทบาทสำคัญช่วยแรงงานเหล่านี้เข้าถึงข้อมูลเชิงลึกถึงทักษะที่ควรได้รับการพัฒนา เพื่อการแข่งขันของตลาดแรงงานในอนาคต
เทรนด์สุดท้าย “ดาต้าเพื่อชีวิต” ดาต้าจะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในการต่อสู้กับโรคระบาดในอนาคต แต่การนำข้อมูลของผู้คนมาใช้ประโยชน์ ยังมีข้อถกเถียงเรื่อง “ความเป็นส่วนตัว" ของผู้ใช้งาน ทำให้อนาคตการใช้ดาต้าเพื่อทราบถึงรูปแบบการแพร่ระบาดเชื้อโรคหรือไวรัส จะอยู่ในรูปข้อมูลรวมที่ไม่ระบุตัวตน แทนข้อมูลตำแหน่งของแอพพลิเคชั่น Harvard Business Review ระบุว่า ข้อมูลด้านโทรคมนาคมสามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่องานสาธารณสุขได้ แต่ต้องไม่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว เช่น ในนอร์เวย์ และเดนมาร์ก ใช้ข้อมูลสัญญาณมือถือช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือในปากีสถาน และบังกลาเทศใช้ข้อมูลมือถือยับยั้งการแพร่ระบาดเชื้อมาลาเรียและไข้เลือดออก ชี้ว่าเราใช้ประโยชน์ได้ แต่ต้องมีความรับผิดชอบและใช้อย่างถูกต้อง
วิกฤติโควิด-19 ทำให้เราต้องคิดนอกกรอบ และเปลี่ยนวิถีการทำงาน รวมถึงวิถีการให้บริการลูกค้า บทบาทต่อการพัฒนาสังคม พฤติกรรมทางสังคม และเศรษฐกิจที่จากนี้จะเปลี่ยนไป จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลและผู้นำองค์กร ควรพิจารณาว่าอะไรควรหยุด หรืออะไรควรริเริ่มพัฒนาต่อ เพื่อก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว