สปอนเซอร์ลังเลหนุน 'โตเกียว โอลิมปิก'
มีเรื่องให้ลุ้นตลอดสำหรับการแข่งขันกีฬาโตเกียวโอลิมปิก 2020 ที่ถูกไวรัสโคโรนากระหน่ำจนจัดไม่ได้ในปีนี้ ล่าสุดผลการสำรวจชุดใหม่พบว่า 2 ใน 3 ของบริษัทสปอนเซอร์ยังไม่ตัดสินใจว่า จะให้การสนับสนุนต่อไปหรือไม่ เมื่องานถูกเลื่อนไปเป็นปี 2564
สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคเผยแพร่ผลการสำรวจเมื่อคืนวันพฤหัสบดี (11 มิ.ย.) สปอนเซอร์ที่สำรวจ 65% กล่าวว่า ยังไม่ตัดสินใจว่าจะสนับสนุนทางการเงินไปอีก 1 ปีหรือไม่
บางบริษัทกังวลว่า กิจกรรมประชาสัมพันธ์โตเกียวโอลิมปิก 2020 อาจลดลงเพราะมาตรการควบคุมไม่ให้ประชาชนรวมตัวกันเป็นจำนวนมากเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด
พวกเขายังกังวลด้วยว่า เผลอๆ การแข่งขันอาจถูกยกเลิกไปด้วย เพราะเจ้าหน้าที่อาวุโสหลายคนของคณะกรรมการโอลิปิกสากล (ไอโอซี) บอกว่า โตเกียวโอลิมปิกต้องจัดในปีหน้า ไม่เช่นนั้นแล้วก็ไม่ต้องจัดเลย
ผู้ให้ข้อมูลหลายคนบอกอีกว่า ยังไม่ตัดสินใจขยายเวลาเป็นสปอนเซอร์ต่อไปหรือไม่ เพราะยังไม่ได้คุยกับออแกไนเซอร์ ชี้ให้เห็นว่าพวกเขาอาจเปิดรับฟังข้อเสนอก่อน
ด้านโทชิโร มุโตะ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารโตเกียวโอลิมปิก กล่าววานนี้ (12 มิ.ย.) ว่า คณะกรรมการจัดงานยังไม่ได้ติดต่อกับสปอนเซอร์ เพราะติดภาวะฉุกเฉินที่รัฐบาลประกาศเมื่อปลายเดือน มี.ค.ช่วงไวรัสระบาด หลังจากเกมถูกเลื่อนออกไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม เขาพยายามคลายความกังวลที่ว่า อาจไม่ได้จัดแข่งขัน
“ผมไม่คิดว่าจะมีใครสามารถรับปากได้จริงๆ ว่า โอลิมปิกและพาราลิมปิกจะจัดในปี 2564 แน่นอน 100% ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ” แต่เขาย้ำด้วยว่า สปอนเซอร์ควรได้รับการรับรองจากคณะกรรมการจัดงานว่า “มุ่งมั่นทุ่มเทจัดโอลิมปิก”
ผู้ให้ข้อมูลกว่า 2 ใน 3 (68%) กล่าวว่า ไวรัสโคโรนาส่งผลต่อสถานะการเงินของพวกเขา เมื่อผู้จัดต้องหาเงินทุนรองรับการเลื่อนแข่งขันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
มุโตะปฏิเสธอีกครั้ง ไม่ยอมเผยตัวเลขค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการเลื่อนโตเกียวโอลิมปิกไป 1 ปี แต่ไอโอซีคาดว่าอยู่ที่ 800 ล้านดอลลาร์
ตามตัวเลขงบประมาณล่าสุด ต้นทุนโตเกียวโอลิมปิอยู่ที่ 1.26 หมื่นล้านดอลลาร์ รับผิดชอบร่วมกันระหว่างคณะกรรมการจัดการแข่งขัน รัฐบาลญี่ปุ่น และเมืองโตเกียว
สปอนเซอร์โตเกียว 2020 ระดับ “โกลด์” เช่น บริษัทชื่อดังของญี่ปุ่นอย่างแคนนอน เอ็นอีซี และอาซาฮี บริวเวอรีส์ ส่วนค่ายรถยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้า เป็นสปอนเซอร์โอลิมปิกทั่วโลก
งบประมาณโตเกียว 2020 ฉบับล่าสุดระบุว่า สปอนเซอร์ญี่ปุ่นต้องมอบเงิน 3.3 พันล้าน กว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ที่คาดการณ์ไว้ที่ 5.9 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งนับตั้งแต่ประกาศเลื่อนแข่งขัด ทางการก็ย้ำแล้วย้ำอีกถึงความจำเป็นในการลดขนาดของเกมลง ทั้งในแง่ค่าใช้จ่ายและการจัดงาน
สัปดาห์นี้ โทมัส บาค ประธานไอโอซีให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพีว่า พวกเขาพยายามหาวิธีจัดการแข่งขันให้ง่ายขึ้น “ยิ่งเราลดความซับซ้อนลงได้เท่าใด ก็ยิ่งประหยัดค่าใช้จ่ายจากการเลื่อนการแข่งขันได้มากเท่านั้น”
ขณะที่มุโตะกล่าวว่า มี 200 ข้อเสนอให้พิจารณาเพื่อลดความซับซ้อนของโอลิมปิก แต่เขาก็ไม่ยอมให้รายละเอียดอีกเช่นเคย
วานนี้ เขาประกาศด้วยว่า สถานที่จัดงานที่ต้องเลื่อนออกไปพร้อมแล้ว80% ที่เหลืออยู่ระหว่างเจรจา เช่น หมู่บ้านนักกีฬา และศูนย์สื่อ โดยไม่ยอมระบุรายละเอียด
ทั้งนี้ ผลสำรวจชิ้นนี้เอ็นเอชเคเก็บข้อมูลจากสปอนเซอร์โอลิมปิกและพาราลิมปิก 78 ราย ได้รับข้อมูลคืนมา 57 ราย
ล่าสุดโฆษกของไอโอซีกล่าววานนี้ “ไอโอซีรวมทั้งผู้สนับสนุนและพันธมิตรในญี่ปุ่นต่างทุ่มเทกันเต็มที่เพื่อจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 32 ในวันที่ 23 ก.ค. ถึง 8 ส.ค. 2564 ที่กรุงโตเกียว”
ไอโอซีกล่าวด้วยว่า เนื่องจากมีความร่วมมืออย่างดีเยี่ยมกับประเทศเจ้าภาพ เราจึงพร้อมที่จะ “หารือถึงทางเลือกใดๆ เพื่อให้งานเกิดขึ้นมาได้” ในอนาคตร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่น รัฐบาลมหานครโตเกียว และคณะกรรมการจัดการแข่งขัน
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า สื่อญี่ปุ่นได้ตีความหมายข้อความดังกล่าวว่า เป็นการแสดงถึงจุดยืนของ ไอโอซีอย่างหนักแน่นที่จะไม่ยกเลิกการจัดแข่งขันกีฬาโตเกียวโอลิมปิก และเป็นการยุติประเด็นที่บาคเคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า ยังไม่มีความแน่นอนในการจัดแข่งขันกีฬาดังกล่าว