ผู้ประกอบการร้านอาหารชี้ ปลดล็อค 'เคอร์ฟิว' กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่
ผู้ประกอบการร้านอาหารเชียงใหม่ เผยปลดล็อค "เคอร์ฟิว" จำหน่ายเครื่องแอลกอฮอล์ในร้าน เป็นก้าวแรกที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ วอนภาครัฐบาลกระจายอำนาจให้ผู้ว่าราชการมีอำนาจเด็ดขาดจัดการได้เองในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแต่ละพื้นที่
นายวมินทร์ ประกอบสุข ผู้บริหารร้านท่าช้างคาเฟ่ เปิดเผยว่า การปลดล็อคเคอร์ฟิว และการผ่อนปรนให้ร้านอาหารสามารถจำหน่ายเครื่องดื่มเพื่อบริการให้กับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการได้ เป็นเรื่องที่จะช่วยกระตุ้นยอดจำหน่ายของร้านอาหารที่ซบเซามาเป็นเวลานาน แต่อย่างไรก็ตาม การผ่อนปรนมาตรการ น่าที่จะมีเวลาให้ผู้ประกอบการได้เตรียมความพร้อม มีการลงพื้นที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจเช็คความพร้อมก่อนที่จะผ่อนปรนล่วงหน้า
การเปิดให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ จึงไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก แต่จะทำให้บรรยากาศเป็นธรรมชาติมากขึ้น สามารถนั่งดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ในร้านได้ ได้มาผ่อนคลายพบปะเพื่อนฝูง หลังจากที่ห่างหายกันไปนาน โดยไม่ถูกจำกัดด้วยเวลา เพราะมีการยกเลิกเคอร์ฟิวไปพร้อมกับการให้นั่งดื่มกินในร้าน ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เป็นก้าวแรกที่ข้ามไปอีกก้าวหนึ่งในการที่จะพลิกฟื้นธุรกิจร้านอาหาร
หลังจากผ่อนปรนเฟส 4 เชื่อว่าจะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะธุรกิจหลักเป็นสถานบันเทิง ที่ยังไม่ได้รับการผ่อนปรน แต่ธุรกิจต้องเดินหน้า ก่อนหน้านี้ได้ปรับรูปแบบการให้บริการด้วยการจำหน่ายอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่ หลังจากที่มีมาตรการผ่อนปรนให้เริ่มนั่งรับประทานอาหารในร้านได้ ได้ปรับพื้นที่ที่มีอยู่เพื่อรองรับลูกค้า เพื่อทำให้มีรายได้พอเลี้ยงพนักงาน
แต่หากไม่มีการผ่อนปรนเฟส 4 ในช่วงนี้ ผลกระทบจะไม่ได้เกิดในธุรกิจร้านอาหารเพียงธุรกิจเดียว แต่จะกระทบไปยังห่วงโซ่ธุรกิจ ทั้งภาคกลางวันและกลางคืน ซึ่งจะทำให้ระบบการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจไม่มีการขับเคลื่อนและหยุดนิ่ง การพัฒนาประเทศ หรือการก้าวไปข้างหน้าจะเป็นไปอย่างล่าช้า อัตราการว่างงาน การตกงานจะสูงขึ้น ภาระเหล่านี้จะตกเป็นปัญหาที่ทางภาครัฐต้องเข้ามาแก้ไขในทันที
สิ่งที่อยากจะสื่อไปให้ถึงภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือการต้องให้ทำความเข้าใจกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผู้ติดเชื้อแล้วมีอัตราการรักษาให้หายได้สูง โดยเฉพาะการใช้ชีวิตของคนไทยที่มีการเว้นระยะกันอยู่แล้ว การติดเชื้อจึงชะลอตัว พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนไทยที่แตกต่างจากเพื่อนบ้านทั่วโลก
การจัดการการแพร่ระระบาดของไวรัสโควิด-19 ของไทย เน้นดูแลคนกลุ่มเสี่ยงเป็นหลักซึ่งก็ทำได้ถูกต้อง แต่ทำให้คนกลุ่มใหญ่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ถูกเลิกจ้าง ไม่มีอาชีพ ไม่มีงาน จึงอยากให้ทุกภาคฝ่ายทำความเข้าใจกับโรค จะเป็นได้ว่า เป็นระยะเวลากว่า 60 วันแล้ว บางจังหวัด บางภาค ไม่มีผู้ติดเชื้อเลย แต่ยังต้องใช้ชีวิตเหมือนมีผู้ติดเชื้ออยู่ในพื้นที่ ซึ่งน่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ผ่อนคลายให้กับพื้นที่เหล่านี้ก่อน ไม่ใช่ยึดหลักเหมือนกันทั้งประเทศ
โดยให้อำนาจกับผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจ ในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ ไม่ใช่ต้องอิงมาตรการจากทางส่วนกลางเท่านั้น จึงน่าที่จะมีการทดลองให้เปิดดำเนินการทุกธุรกิจในจังหวัด หรือภาคที่ไม่พบผู้ติดเชื้อ ส่วนกลางต้องมอบกระจายอำนาจให้กับแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในพื้นที่ก่อน เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจเดินหน้าบนพื้นฐานของระบบสาธารณสุข และเศรษฐกิจที่ต้องเดินไปควบคู่กัน
ถึงเวลาที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบ ต้องมีการกระจายอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการบริหารจัดการในพื้นที่ได้อย่างเด็ดขาด โดยไม่รวบอำนาจอยู่ในส่วนกลาง กรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย แต่ละจังหวัดน่าจะมีอำนาจในการตัดสินใจบริหารควบคุมพื้นที่ของตัวเอง เพื่อเศรษฐกิจเดินหน้าได้เร็วขึ้น ที่ผ่านมาภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่มีผู้ติดเชื้อมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ยังไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนธุรกิจได้ ต้องรับมาตรการจากส่วนกลาง เพื่อเปิดดำเนินการพร้อมกันทั่งประเทศ
ภาพ : นิศานาถ กังวาลวงศ์