ประกันสังคม 101 | พนักงานประจำ จ่ายประกันสังคมทุกเดือน ได้สิทธิ์อะไรบ้าง?
ทำความเข้าใจ "ประกันสังคม" ระดับเบสิคที่มนุษย์เงินเดือนควรรู้ จ่ายเงินสมทบแล้วไปไหน ได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง
“ประกันสังคม” รายจ่ายที่มนุษย์เงินเดือนในองค์กรเอกชนจะต้องถูกหักเงินเดือนทุกๆ เดือนเพื่อสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งจะช่วยเป็นหลักประกันในมิติต่างๆ ของพนักงาน ทั้งในมิติของสุขภาพ การว่างงาน อุบัติเหตุ รวมไปถึงเงินสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณ
โดยสิ่งที่สำคัญกว่าเราถูกหักเงินไปเท่าไรในแต่ละเดือน คือ “เงินสมทบ” ที่เราจ่ายไปทุกๆ เดือนนั้น ถูกหักไปที่ไหนบ้าง แล้วจะเกิดประโยชน์กับเราอย่างไรบ้าง “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จึงรวบรวมข้อมูลที่ผู้ประกันตนทุกคนควรรู้ เกี่ยวกับถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เราควรได้รับ ในสถานการณ์ต่างๆ ดังนี้
- ประกันสังคมคืออะไร?
ก่อนจะไปทำความรู้จักกับสิทธิ์ต่างๆ มาทำความรู้จักกับคำที่เกี่ยวข้องกับ "กองทุนประกันสังคม" ที่ช่วยให้เข้าใจรายละเอียดต่างๆ ได้ง่ายขึ้น โดยคำที่พบบ่อยเมื่อพูดถึงประกันสังคม มีดังนี้
ประกันสังคม คือ การสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตในกลุ่มของสมาชิกที่มีรายได้ และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อรับผิดชอบเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์ ชราภาพ และการว่างงาน เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาล และมีการทดแทนรายได้อย่างต่อเนื่อง
ผู้ประกันตน คือ ลูกจ้างที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ในวันเข้าทำงาน และทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป
เงินสมทบ คือ เงินที่นายจ้าง ลูกจ้าง ต้องนำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน โดยคำนวณจากค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับ ในอัตรา 5% ซึ่งฐานค่าจ้างที่จะนำมาคำนวณต่ำสุดเดือนละ 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท (เงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 83 บาท และไม่เกินเดือนละ 750 บาท)
- ประกันสังคมประเภทต่างๆ
สิ่งสำคัญที่จะต้องรู้แบบละเลยไม่ได้ คือ "ประเภทประกันสังคม" ของตัวเอง โดย ประกันสังคม มาตรา 33 สำหรับพนักงานเอกชนทั่วไป โดยมีการให้ความคุ้มครอง 7 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย ตาย ว่างงาน คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ ชราภาพ
นอกจากนี้ กองทุนประกันสังคมสำหรับพนักงานประจำแล้ว ยังมีมาตราอื่นๆ ที่เตรียมไว้สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ ได้แก่
ประกันสังคม มาตรา 39 สำหรับผู้ที่เคยเป็นพนักงานเอกชนแล้วลาออก โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 12 เดือน ลาออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ลาออกจากงาน ให้ความคุ้มครอง 6 กรณี ดังนี้ เจ็บป่วย ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ ชราภาพ
และประเภทสุดท้าย ประกันสังคม มาตรา 40 สำหรับอาชีพอิสระ โดยผู้ประกันตนจะต้องเป็นบุคคลทั่วไปที่มีอายุ 15-60 ปีบริบูรณ์ ทำงานแบบไม่มีนายจ้าง ให้ความคุ้มครอง 3-4-5 กรณี ขึ้นอยู่กับทางเลือก ดังนี้ เงินทดแทนการขาดรายได้ ทุพพลภาพ สงเคราะห์บุตร ตาย ชราภาพ (บําเหน็จ)
- พนักงานประจำ ต้องถูกหักเงินสมทบอย่างไร?
สำหรับพนักงานประจำ จะถูกนายจ้างจะหักเงินเดือน 5% สูงสุดไม่เกิน 750 บาท เพื่อนำส่งกองทุนประกันสังคมในทุกๆ เดือน
เช่น หากคุณได้รับเงินเดือน 10,000 บาท จะถูกหักเงินเพื่อนำส่งประกันสังคม 500 บาท หากได้รับเงินเดือน 15,000 บาท จะถูกหักเงินเพื่อนำส่งประกันสังคม 750 บาท แต่ในกรณีที่เงินเดือน 15,000 ขึ้นไปจะถูกหัก 750 บาท เนื่องจากเป็นเพดานสูงสุด
- สมทบแล้วเงินไปไหน?
จุดสำคัญที่ผู้ประกันตนควรรู้ และต้องรู้คือ เงิน 5% ที่ถูกหักไปสมทบในกองทุนประกันสังคมนั้นไปอยู่ที่ไหนบ้าง สมมติว่าเราส่งเงินสมทบในกองทุนประกันสังคมทุกเดือน เดือนละ 750 บาท
- 1.5% ของยอดสมทบหรือ 225 บาท จะใช้ในส่วนประกันเจ็บป่วย หรือตาย
- 0.5% ของยอดสมทบหรือ 75 บาท จะถูกเก็บไว้ในส่วนของประกันการว่างงาน
- 3% ของยอดสมทบหรือ 450 บาท จะถูกเก็บไว้ในส่วนของประกันชราภาพ
- ได้รับสิทธิ์อะไรบ้าง
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าเงินที่ถูกหักไปสมทบกองทุนประกันสังคมทุกๆ เดือนนั้น จะถูกนำไปสะสมไว้สมหรับผู้สมทบในอนาคตในรูปแบบต่างๆ โดย สิทธิ์ที่ผู้ส่งเงินประกันสังคมจะได้รับ แบ่งออกเป็นกรณีหลักๆ 7 เรื่องได้แก่ เจ็บป่วย ตาย ว่างงาน คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ ชราภาพ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ทั้งนี้ ในช่วงที่มีสถานการณ์ไม่ปกติ อย่างกรณีว่างงานจากสถานการณ์ "โควิด-19" ผู้ประกันตนจะสามารถขอเงินทดแทนได้ตามเงื่อนไขที่ประกันสังคมกำหนด โดยผู้ที่ว่างานจะต้องทำตามขั้นตอน 'ลงทะเบียนว่างงาน' เพื่อขอรับเงินชดเชยจาก 'ประกันสังคม'
สิ่งที่ไม่รู้ไม่ได้ คือ "สถานะ" ของการเป็นผู้ประกันตนของตัวเอง โดยการตรวจสอบข้อมูล และสิทธิ์ประกันสังคมต่างๆ สามารถทำได้ด้วยตนเองผ่านช่องทางออนไลน์ของ "สำนักงานประกันสังคม" 2 ช่องทางหลัก ได้แก่
- เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th โดยจะต้องสมัครสมาชิกก่อนเข้าระบบเพื่อตรวจสอบข้อมูลต่อไป
- แอพพลิเคชั่น "SSO Connect mobile" ที่สามารถตรวจสอบเงินชราภาพ ตรวจสอบสถานพยาบาลตามสิทธิ ทำการเปลี่ยนสถานพยาบาล เช็คยอดเงินทันตกรรม การส่งเงินสมทบ ฯลฯ ได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านสมาร์ทโฟน โดยสามารถดาวน์โหลดได้ผ่าน Google Play และ App Store
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนประกันสังคม 1506 ให้บริการทุกวันทุกเวลา สามารถโทรตรวจสอบสิทธิประกันสังคม หรือสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ประกันสังคม รวมทั้งสิทธิประโยชน์กองทุนเงินทดแทน สามารถโทรได้ตลอด 24 ชั่วโมง ประกันสังคมมีเจ้าหน้าที่พร้อมให้บริการ