ฟังเสียงผู้ 'เรียนออนไลน์' ยุคโควิด-19 จากประสบการณ์จริง!

ฟังเสียงผู้ 'เรียนออนไลน์' ยุคโควิด-19 จากประสบการณ์จริง!

ฟังความคิดเห็นของนักศึกษาไทยผู้ผ่านประสบการณ์ในการ "เรียนออนไลน์" มาแล้ว ลองมาดูมุมมองของพวกเขาว่ามีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

การ "เรียนออนไลน์" ผ่านระบบเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล เป็นมาตรการของกระทรวงศึกษาธิการในการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย และถือเป็นครั้งแรกที่ได้มีการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ทุกระดับชั้นในทั่วประเทศ ไม่เว้นแม้แต่สังกัดอุดมศึกษา

ถึงแม้จะมีข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการระบุว่า บ้านอยู่อาศัยสัดส่วน 20% ไม่พร้อมที่จะเป็นห้องเรียน ด้านพ่อแม่ผู้ปกครองก็ไม่พร้อมที่จะรับบทบาทครูจำเป็น ขณะที่เด็กอย่างน้อย 1.5 ล้านคน ก็พบว่าไม่มีเครื่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัล พร้อมกับปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นอีกมากมาย ทำให้การ "เรียนออนไลน์" มีข้อกังขาอย่างน่ากังวลสำหรับวงการการศึกษาไทย

ทั้งนี้ เมื่อผ่านการเรียนออนไลน์มาช่วงระยะเวลาหนึ่ง มีผู้เรียนจริงบางส่วนออกมาแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนส่องความคิดเห็นของนักศึกษาผู้ผ่านประสบการณ์ "เรียนออนไลน์" ว่าพวกเขาจะสะท้อนปัญหาระบบการศึกษาไทยในมุมไหนบ้าง? 

  • "เรียนออนไลน์" คือการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ 

กุลภา พบูประภาพ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 เล่าประสบการณ์การ "เรียนออนไลน์" ตลอดหนึ่งเทอมที่ผ่านมาว่า เป็นเรื่องใหม่ที่เราต้องมาเตรียมความพร้อมของตัวเอง ทั้งด้านอุปกรณ์ ด้านแรงกาย และแรงใจ ถึงแม้มหาวิทยาลัยจะมีส่วนในการสนับสนุน แต่นั่นก็ไม่เพียงพอ 

มีประสบการณ์เสี่ยงติด F เพราะระหว่างสอบเหลือเวลาแค่ 15 นาที แล้วคอมพิวเตอร์ของเรามันดับ ช่วงเวลานั้นคือนั่งร้องไห้ ไม่คิดว่ามันจะเกิดเรื่องฉุกเฉินขึ้นกับตัวเอง แต่ตอนนั้นคุณแม่ก็เอาคอมพิวเตอร์มาให้ใช้แทนเครื่องที่ดับ ถือว่ารอดตายไป แต่ถ้าบ้านใครที่มีคอมพิวเตอร์แค่เครื่องเดียวจะทำยังไง

นอกจากนี้ ยังมีอีกสารพัดปัญหาทั้งความเร็วของอินเทอร์เน็ต สถานที่ที่ใช้เรียน การฝึกใช้โปรแกรมสำหรับเรียน หรือแม้แต่สภาพของครอบครัว ณ ช่วงเวลานั้นๆ 

กุลภาแสดงความเห็นอีกว่า เราทุกคนโดนบังคับให้พร้อมต่อการ "เรียนออนไลน์" ทั้งๆ ที่เราไม่พร้อม อยากให้ทุกคนมีทรัพยากรในการเรียนเท่ากัน ทุกคนมีคอมพิวเตอร์ ทุกคนมีอินเทอร์เน็ต ถ้าทำสิ่งเหล่านี้ได้ การเรียนออนไลน์อาจจะไม่มีปัญหาอย่างเคสที่เกิดขึ้นกับตัวเธอ

159230315461

159230319126

  • "เรียนออนไลน์" = โอกาสแก้ไขข้อบกพร่องในห้องเรียน 

ขณะเดียวกันก็มีความเห็นต่างออกไป  คุณมั่นใจที่จะไปรักษากับแพทย์ที่เรียนออนไลน์มาไหม?” เสริมสุข เริ่มเสริมสุข นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ชั้นปีที่ 3 ชวนตั้งคำถาม พร้อมกับเล่าต่อว่า ตนเองไม่มีปัญหากับการ "เรียนออนไลน์" เพราะปกติหลักสูตรทางมหาวิทยาลัยก็มีการเรียนการสอนกึ่งออนไลน์อยู่แล้ว เช่น การทำข้อสอบออนไลน์

ดังนั้นเมื่อมีนโยบายการเรียนออนไลน์ออกมาจึงปรับตัวได้ไม่ยาก และก็ถือว่าโชคดีที่ช่วงเวลาที่โรคโควิด-19 ระบาดนั้น วิชาเรียนสำคัญได้จบลงไปแล้ว เช่น การผ่าอาจารย์ใหญ่ เป็นต้น แต่ก็ยังต้องมีการเรียนผ่าตัดอื่นๆ ปลีกย่อยอีกเล็กน้อยซึ่งปรับมาเรียนออนไลน์แทน

ถ้าถามความเห็นของผมคือ รู้สึกว่าการเรียนออนไลน์มันทำให้เราแม่นภาคทฤษฎี การเรียนส่วนใหญ่ที่ผ่านมาใช้การอัดวิดีโอ ดังนั้นเวลาเราสงสัยตรงไหนก็สามารถกลับมาย้อนดูได้ แต่ข้อเสียคือภาคปฏิบัติที่ลดน้อยลง ใช้วิธีการนัดรวมกลุ่มแล้วค่อยเข้าห้องปฏิบัติการ แต่ยังไงประสิทธิภาพของการเรียนไม่ได้ลดลง

เสริมสุขมั่นใจว่าการ "เรียนออนไลน์" ไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ หรือการผลิตแพทย์ไทยด้อยคุณภาพลง แต่กลับช่วยให้นักศึกษาแพทย์แม่นทฤษฎีมากขึ้นกว่าเดิม

“การเรียนออนไลน์ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งข้อเสียที่เห็นได้ชัดคือการเสียโอกาสที่จะได้พูดคุยกับอาจารย์พิเศษท่านอื่นๆ ที่หาในการเรียนออนไลน์ไม่ได้ แต่ข้อดีก็คือสามารถพัฒนาต่อได้และช่วยแก้ไขข้อบกพร่องของการเรียนในห้องเรียนได้” เสริมสุขกล่าวทิ้งท้าย 

ในอนาคตการเรียนออนไลน์อาจจะเป็นหนึ่งใน New Normal ของวงการการศึกษาไทย แต่ส่วนสำคัญนอกเหนือจากการคิดแผนนโยบาย คือการรับฟังความคิดเห็นของผู้เรียนที่อาจจะช่วยให้การ "เรียนออนไลน์" มีประสิทธิภาพมากกว่าที่ผ่านมา