เผยผลสำรวจสุขภาพจิตคนไทยรอบที่ 6 ช่วงโควิดระบาด เพิ่มขึ้นทุกเรื่อง!

เผยผลสำรวจสุขภาพจิตคนไทยรอบที่ 6 ช่วงโควิดระบาด เพิ่มขึ้นทุกเรื่อง!

เผยผลสำรวจสุขภาพจิตคนไทยรอบที่ 6ช่วงโควิด พบบุคลากรทางการแพทย์-ประชาชน เครียดระดับมาก-ภาวะหมดไฟ-ซึมเศร้า-คิดทำร้ายตัวเองเพิ่มขึ้น รวมทั้ง กังวลกลัวติดเชื้อและมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น แต่เชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุขและจังหวัดของตนเองถึง 99%

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ว่า จากการประเมินสุขภาพจิตประชาชนในช่วงการระบาดโควิด-19 เป็นระยะ รวม 6 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดครั้งที่ 6 มีการสำรวจวันที่ 26-30 พฤษภาคม 2563 ทั้งในกลุ่มประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์ โดยสำรวจใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ความเครียด พบว่า บุคลากรทางการแพทย์มีความเครียดระดับมากเพิ่มขึ้น โดยเมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งที่ 5 ซึ่งอยู่ที่ 4.8% เป็น 7.9 % เช่นเดียวกับกลุ่มประชาชนเครียดระดับมากเพิ่มจาก 2.7% เป็น 4.2 %


2.ภาวะหมดไฟ พบว่าเพิ่มมากขึ้นทั้ง 2 กลุ่ม โดยในส่วนของบุคลากรสาธารณสุข แม้ว่าการระบาดจะลดลง แต่ภาระงานยังเพิ่มขึ้นจากผู้ป่วยโรคเรื้อรังและโรคอื่นๆ กลับเข้ามาเหมือนเดิม ส่วนประชาชนทั่วไปก็มีภาวะหมดไฟเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะความพยายามในการต่อสู้กับความยากลำบากทำให้เกิดความเหนื่อยล้าหมดไฟได้ ซึ่งการสำรวจข้อนี้จะแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ 1.ด้านความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกหมดพลัง หมดหวัง สูญเสียพลังงานทางจิตใจ บุคลากรทางการแพทย์เพิ่มจาก 5% เป็น 6.5% ส่วนประชาชนเพิ่มจาก 3.3% เป็น 3.6% 2.ด้านการมองความสามารถในการทำงานลดลง ขาดความรู้สึกประสบความสำเร็จ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มจาก 3.1% เป็น 4.7% ประชาชนเพิ่มจาก 2.2% เป็น 3.2% และ3.ด้านการมองความสัมพันธ์ในที่ทำงานในทางลบ ระแวงง่ายขึ้น รู้สึกเหินห่างจากคนอื่น กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มจาก 4.1% เป็น 4.9% และประชาชนเพิ่มจาก 1.7% เป็น 2.6%


3.ภาวะซึมเศร้า บุคลากรสาธารณสุข เพิ่มจาก 1.4% เป็น 3 % ประชาชน ซึมเศร้าเพิ่มจาก 0.9% เป็น 1.6 % และ4.ความคิดทำร้ายตัวเอง มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยบุคลากรการแพทย์ เพิ่มจาก 0.6% เป็น 1.3% ขณะที่ประชาชนเพิ่มจาก 0.7% เป็น 0.9% ทั้งนี้แม้จะเพิ่มขึ้นไม่มากแต่ต้องระวัง และประเมินสถานการณ์ต่อไป เพราะภาวะซึมเศร้าเสี่ยงที่จะทำร้ายตัวเอง


นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจเรื่อง ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ความกังวลด้านข่าวสาร และความเชื่อมั่นของคนไทย พบว่าทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนกลัวติดเชื้อและมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น การรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับโควิด ทั้ง 2 กลุ่มกังวลมากขึ้น แม้การระบาดจะลดลง เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อในสถานที่แยกกักอยู่ ด้านความเชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุขและจังหวัดของตนเองนั้นประชาชนยังมีความเชื่อมั่นถึง 99% นับเป็นกำลังใจให้คนทำงานมากที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่น ไว้วางใจ


“ขอย้ำว่าภาวะอารมณ์ของคนมีการเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนกัน แม้ภายนอกอาจจะดูเหมือนว่าปกติดีก็ตาม ดังนั้นขอให้ประชาชนช่วยกันสังเกตอารมณ์ตัวเอง สังเกตคนรอบข้าง คนในครอบครัวว่ามีปัญหาความเครียด ความกังวลอย่างไรหรือไม่ สังเกตง่ายๆ คือมีอาการซึมลงหรือไม่ นอนไม่หลับ ใช้สารเสพติด ดื่มสุรา หรือสูบบุหรี่มากขึ้นหรือไม่ หากมีอาการเหล่านี้กับตัวเอง หรือคนรอบข้าง ขอให้ไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วน 1323 เพื่อให้คำปรึกษาเบื้องต้น หากไม่ดีขึ้น จะได้ส่งต่อเข้ารับการรักษาต่อไป” นพ.จุมภฎกล่าว


นพ.จุมภฎ กล่าวอีกว่า แผนการดูแลสุขภาพจิต จะดู 3 ด้าน คือ พลังใจ อึด ฮึด สู้ ระดับบุคคล 2.การทำให้ครอบครัวเข้มแข็งจับมือผ่านปัญหา และ3. ทำให้ชุมชนสร้างความรู้สึกปลอดภัย มีหวังว่าจะผ่านความยากลำบากไปด้วยกัน ไม่กีดกัน แบ่งแยก ทั้งนี้ เชื่อว่าถ้ามีการระบาดรอบ 2 เราสามารถใช้แนวทางเดิมนี้ได้