‘สหรัฐ-จีน’ อันดับแข่งขันร่วง
ทุกประเทศทั่วโลกต้องแข่งกันตลอดเวลา ประเทศใหญ่ย่อมได้เปรียบประเทศเล็ก
ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันโลก ประจำปี 2563 ของสถาบันเพื่อพัฒนาการจัดการ (ไอเอ็มดี) พบว่า ขณะที่ประเทศใหญ่แข่งขันกันมีอำนาจนำในทางเศรษฐกิจ ประเทศเล็กกว่าอาจเป็นประเทศที่บุคคลอยากเข้าไปทำงานและทำธุรกิจมากกว่าก็ได้
ผลการจัดอันดับปีนี้ ทั้งสหรัฐและจีนอันดับลดลงทั้งคู่ เพราะมัวแต่ทะเลาะกันเรื่องการค้าจึงส่งผลต่อการจัดอันดับระหว่างประเทศ เปิดทางให้เขตเศรษฐกิจเล็กกว่าแซงหน้าไปได้
เขตเศรษฐกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก 10 อันดับแรกของไอเอ็มดี ประจำปีนี้ ได้แก่ 1. สิงคโปร์ 2. เดนมาร์ก 3. สวิตเซอร์แลนด์ 4. เนเธอร์แลนด์ 5. ฮ่องกง 6. สวีเดน 7. นอร์เวย์ 8. แคนาดา 9. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และ 10. สหรัฐ
สิงคโปร์ยังคงรักษาแชมป์ไว้ได้เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน เดนมาร์กพุ่งขึ้นมา 6 อันดับมาคว้าตำแหน่งที่ 2 ไปครอง สหรัฐที่ครองอันดับ 10 ในปีนี้ ตกลงมา 7 อันดับ ส่วนจีน อันดับ 20 ร่วงลง 6 อันดับ
การจัดอันดับประเมินจากมาตรวัดใหญ่ 4 ตัวคือ ผลงานทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพรัฐบาล ประสิทธิภาพธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน ข้อมูลที่ใช้ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงสำรวจผู้บริหาร 5,866 คน ใน 63 ประเทศ เพื่อตัดสินว่า ประเทศใดดีที่สุดในการทำธุรกิจ เข้าไปแล้วสร้างความมั่งคั่ง
แม้การวิจัยจะทำขึ้นก่อนไวรัสโคโรนาระบาด แต่ไอเอ็มดีระบุว่า ประเทศท็อปไฟว์ล้วนค่อนข้างประสบความสำเร็จในการสกัดไวรัส ตอกย้ำถึงความสามารถในการปรับตัวของรัฐบาลและความโปร่งใสในการจัดทำนโยบาย
อาร์ทูโร บริส หัวหน้าศูนย์ความสามารถในการแข่งขัน วิทยาลัยธุรกิจไอเอ็มดี กล่าวกับรายการซีเอ็นบีซีเมคอิท ว่า เสถียรภาพทางการเมืองที่ยั่งยืนและความเหนียวแน่นในสังคม มีส่วนสำคัญช่วยลดความไม่แน่นอนจากวิกฤติไวรัสครั้งนี้ได้ เห็นได้ชัดว่าประเทศที่ได้อันดับสูงๆ ให้ความสำคัญกับการสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขโดยรวมไปจนถึงความจำเป็นด้านสุขภาพจากการแพร่ระบาด
สิงคโปร์รักษาแชมป์ไว้ได้เพราะมีผลงานด้านเศรษฐกิจแข็งแกร่ง ความสัมพันธ์ทางการค้าเหนียวแน่น อัตราจ้างงานสูง ระบบการศึกษาและโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าก็มีส่วนช่วยให้ประเทศโดดเด่น
เดนมาร์กนอกจากเด่นเรื่องเศรษฐกิจแกร่งแล้ว ด้านตลาดแรงงาน ระบบสุขภาพและการศึกษาก็ทำได้ดี สวิตเซอร์แลนด์มีโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าประทับใจ
ปีนี้สหรัฐเสียคะแนนเพราะเสถียรภาพทางการเมือง ความสามัคคีในสังคม ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและระหว่างเพศลดน้อยลง ส่วนจีนตกอันดับเพราะคะแนนด้านการค้าระหว่างประเทศ การจ้างงาน และตลาดแรงงานลดลงมาก
ที่อื่นๆ ที่มีผลงานดีได้แก่ ไต้หวัน อันดับ 11 ฟินแลนด์ อันดับ 13 ออสเตรีย อันดับ 16 ทั้ง 3 ประเทศนี้ไต่อันดับขึ้นมาจากปีก่อน สหราชอาณาจักร อันดับ 19 ดีขึ้นเพราะคาดว่า การค้าจะเปิดกว้างขึ้นหลังเบร็กซิท ขณะที่เยอรมนี อันดับ 17 ออสเตรเลีย อันดับ 18 สเปน อันดับ 36 และอินเดีย อันดับ 43 เท่ากับปีก่อน
บริสกล่าวว่า การจัดอันดับเช่นนี้มีประโยชน์ช่วยให้ข้อมูลแก่คนทำงานหรือเจ้าของธุรกิจประกอบการตัดสินใจว่าจะออกไปทำงานหรือสร้างธุรกิจที่ประเทศไหนดี
“ปลายทางที่ดีที่เหมาะกับการทำธุรกิจคือความเสี่ยงจากการเมืองไร้เสถียรภาพมีน้อย มีคุณภาพชีวิตสูง ส่งเสริมผู้ประกอบการและนวัตกรรม สนับสนุนเอสเอ็มอีต่อเนื่อง เต็มใจมีส่วนร่วมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ” หัวหน้าศูนย์ความสามารถในการแข่งขัน วิทยาลัยธุรกิจไอเอ็มดี สรุป