'อดีตส.ส.แพร่' โพสต์ไทม์ไลน์ ทุบ 'บอมเบย์เบอร์ม่า' อาคารโบราณทรงคุณค่าเมืองแพร่
"อดีตส.ส.แพร่" โพสต์ไทม์ไลน์ ทุบ "บอมเบย์เบอร์ม่า" อาคารโบราณทรงคุณค่าเมืองแพร่ ระบุถูกทำลาย โดยข้าราชการที่ไม่ได้เป็นคนจังหวัด
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตผู้สมัคร ส.ส.แพร่ พรรคไทยรักษาชาติ ได้โพสต์ในเพซบุ๊ก "วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล" ระบุว่า
“ในที่สุด หลักฐานก็ปรากฏ” บรรลุ วัตถุประสงค์ของผู้จัดทำโครงการุกประการ “บูรณาการการดำเนินงานร่วมกับจังหวัดแพร่ หน่วยงานในจังหวัดและท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเมืองแพร่ อย่างต่อเนื่อง”
ท่องเที่ยวแพร่ ดังแล้วไงครับบรรลุวัตถุประสงค์ของท่านแล้วดีใจมั๊ยครับ ผู้เสนอโครงการ นางกัญญารัตน์ ท่วมไธสงนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทน ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดแพร่กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ผู้เห็นชอบโครงการนายโชคดี อมรวัฒน์รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่กระทรวงมหาดไทย ผู้อนุมัติโครงการนางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่กระทรวงมหาดไทย
ในพื้นที่ของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 แพร่ ดูแลโดยนายอิศเรศ สิทธิโรจนกุลผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่13กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องรายงานการศึกษาความเหมาะสมมีรายการ รื้อถอน เพื่อสร้างใหม่
แปลง่ายๆผู้ดูแลสถานที่คือกระทรวงทรัพย์เห็นว่า อาคารที่ดูแลอยู่เก่า ใช้ประโยชน์เป็นสำนักงานไม่สะดวก ก็เลยอยากได้ที่ทำงานใหม่ ก็เลยแอบแฝงเจตนาโดยร่วมมือกับท่องเที่ยวอ้างคำว่า "ท่องเที่ยว" ขอใช้งบผู้ว่า CEO เริ่มตั้งแต่ปี 60 เสนอใช้งบประมาณในปี63 รองผู้ว่าฯก็ผ่านเรื่อง ให้ผู้ว่าฯเซ็นอนุมัติก็เท่านั้นเอง
ในที่สุด อาคารโบราณสถานในจังหวัดแพร่ "บอมเบย์เบอร์ม่า" อายุ 127 ปี ในแพร่เมืองเก่าอายุกว่า 1,200ปี (เก่าแก่ที่สุดในล้านนา)ก็ถูกทำลาย โดยข้าราชการที่ไม่ได้เป็นคนจังหวัดแพร่ อยากได้อาคารใหม่ เพื่อเอาไว้เป็นสถานที่ทำงาน
นายวรวัจน์ ยังโพสต์ข้อความอีกว่า ยังมีโบราณสถานที่เป็นบ้านเก่าของเอกชนที่เขารักษา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเช่นบ้าน 100 ปี บ้านวงค์บุรี ที่ประชาชนขอเข้าไปเยี่ยมชมอย่างไม่ขาดสาย แต่อาคารโบราณสถานเก่าแก่ ที่อยู่ในมือส่วนราชการอีกหลายแห่ง เช่นพิพิธภัณฑ์ไม้สักแพร่ ภายในบริเวณโรงเรียนป่าไม้แพร่กำแพงเมืองรูปหอยสังข์ แห่งเดียวของโลกส่วนใหญ่จะอยู่ในมือของกรมป่าไม้ กรมอุทยาน กระทรวงทรัพย์ บางส่วนอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย สำหรับคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ โชคดีที่ดูแลโดยอบจ.แพร่ มีคนท้องถิ่นโดยนายอนุวัธ วงค์วรรณเป็นผู้ดูแล ก็เลยยังสวยงามเป็นมิ่งขวัญให้คนไทยและคนจังหวัดแพร่ชื่นชมต่อไป
แต่ อาคารโบราณสถานใน ”แพร่เมืองเก่า1,200ปี” อีกจำนวนมากที่ถูกยึดอยู่ในมือส่วนราชการ จะทำอย่างไร ให้อยู่รอดปลอดภัย โจทย์นี้ คงต้องขอให้คนไทยทุกคนช่วยแสดงความคิดเห็นแล้วครับทุก1เสียงของท่านที่จะได้ช่วยกรุณาปกป้อง จะช่วยต่อชีวิตให้อาคารโบราณสถานอีกจำนวนมาก ได้ถูกรักษาเอาไว้เป็นสมบัติของลูกหลาน และเพื่อ “การท่องเที่ยวที่แท้จริง” ต่อไปได้