'ทอท.' คาด 'การบินไทย' ลดขนาดฝูงบิน จ่อเรียกคืนเคาร์เตอร์เช็คอินสุวรรณภูมิ 50%
ทอท.จ่อเรียกคืนพื้นที่เคาน์เตอร์เช็คอิน และอาคารเทียบเครื่องบิน “การบินไทย” สนามบินสุวรรณภูมิ 50% หลังเข้าฟื้นฟูกิจการรับแผนลดเครื่อง และเส้นทางบินรับวิกฤตโควิดฉุดเที่ยวบินวูบคาดปีหน้าหายกว่า 66%
แหล่งข่าวจาก บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เปิดเผยว่า ขณะนี้สนามบินสุวรรณภูมิเตรียมขอคืนพื้นที่เคาน์เตอร์เช็คอินจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ราว 50% จากปัจจุบันที่ใช้บริการอยู่ 3-4 แถว เนื่องจากขณะนี้การบินไทยเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการผ่านศาลล้มละลายกลาง โดยในแผนฟื้นฟูกิจการยังพบว่าการบินไทยจะลดจำนวนฝูงบิน และเส้นทางบินลง ซึ่งกระทบต่อความต้องการใช้เคาน์เตอร์เช็คอินที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน
“อดีตการบินไทยเคยเป็นผู้ใช้บริการรายใหญ่จากการจำนวนเที่ยวบินที่คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 20% ของสนามบินสุวรรณภูมิ แต่เมื่อลดเครื่องบิน และลดเส้นทางบินลง เคาน์เตอร์เช็คอินก็ต้องลดการใช้งานตาม ซึ่งตามเป้าหมาย ทอท.จะนำเคาน์เตอร์เช็คอินที่เรียกคืนไปบริหารจัดการให้สายการบินอื่นที่มีความต้องการต่อไป”
นอกจากนี้ ทอท.ยังเตรียมขอคืนพื้นที่อาคารเทียบเครื่องบินบางส่วนจากการบินไทยคืนด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนเครื่องบินที่การบินไทยที่จะปรับลดลง และนำอาคารเทียบเครื่องบินไปบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และลดต้นทุนบริหารจัดการ โดยอาจจะประสานขอให้สายการบินต่างๆ เข้ามาใช้พื้นที่อาคารเทียบเครื่องบินในบริเวณเดียวกัน ในลักษณะของการยุบรวมพื้นที่การให้บริการให้เหมาะสม โดยหากพื้นที่ส่วนใดว่างก็จะปิดพื้นที่เพื่อประหยัดต้นทุนการดำเนินงานของ ทอท.ในภาพรวมให้ลดลงจากเดิม
นอกจากนี้ในรายงานข่าวยังระบุด้วยว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการให้บริหารสนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องจากสายการบินพาณิชย์ยังไม่สามารถทำการบินในเส้นทางระหว่างประเทศได้ ขณะที่แนวโน้มการเดินทางของผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกปรับลดลง
โดยคาดว่า ปี 2564 แนวโน้มเที่ยวบินของสนามบินสุวรรณภูมิจะปรับลดลงเหลือปีละ 1.26 แสนเที่ยวบิน หรือลดลงราว 66% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีจำนวนเที่ยวบินรวมทั้งสิ้น 3.7 แสนเที่ยวบิน
ทั้งนี้การปรับลดต้นทุนดังกล่าวให้สอดคล้องกับจำนวนเที่ยวบินที่ลดลงสนามบินสุวรรณภูมิจึงต้องเร่งปรับลดต้นทุนค่าใช้จ่ายแบบเร่งด่วนในช่วงที่รายได้ลดลง เบื้องต้นมีแผนที่จะปรับลดพื้นที่การให้บริการภายในสนามบินลง ทั้งพื้นที่การให้บริการภาคพื้น เช่น เคาน์เตอร์เช็คอิน พื้นที่โถงให้บริการ รวมทั้งบริการสาธารณูปโภคต่างๆ
“การปรับเปลี่ยนนี้เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของสายการบินลูกค้าที่ปรับลดลง โดยพื้นที่ใดที่เกินความต้องการใช้ก็อาจจำเป็นต้องปิดบางส่วน เพื่อประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่าย ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าจ้างอื่นๆ แต่จะไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการบริการการบิน”แหล่งข่าวระบุ