‘ถึงเวลาพิสูจน์ตัวตน’ แบรนด์คนดำเพื่อคนดำ
ลอรีอัล เอสเอ, ยูนิลีเวอร์ และบริษัทข้ามชาติอื่นๆ ที่ซื้อสินค้าดูแลสุขภาพส่วนตัวมาจากคนผิวดำ กำลังสร้างความเชื่อมั่นกับลูกค้ากลุ่มหลัก ที่บางคนหลังการประท้วงเรียกร้องความยุติธรรมทางเชื้อชาติ ประกาศว่าต่อไปจะซื้อสินค้าจากบริษัทที่คนดำเป็นเจ้าของโดยตรง
แครอลส์ ดอเทอร์ แบรนด์ความงามหลากวัฒนธรรมของลอรีอัล ที่ก่อตั้งขึ้นในครัวของ “ลิซา ไพรซ์” ผู้หญิงผิวดำในย่านบรูคลินเมื่อปี 2536 ชื่อแบรนด์ตั้งตามชื่อแม่ของเธอ บริษัทแถลงเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ผ่านอินสตาแกรมว่าอยาก “เคลียร์อะไรบางอย่าง”
“แครอลส์ดอเทอร์ ก่อตั้งโดยคนดำและนำโดยคนดำ เข้ามาร่วมครอบครัวลอรีอัลเมื่อปี 2557 ลิซา ไพรซ์ ผู้ก่อตั้งยังเกี่ยวข้องกับธุรกิจทุกด้านอย่างแข็งขัน เป็นผู้นำพัฒนาสินค้าของแบรนด์และวิสัยทัศน์สร้างสรรค์” แถลงการณ์ระบุ
ไพรซ์เป็นรองประธานอาวุโสและผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของแครอลส์ ดอเทอร์ ส่วนหนึ่งของแผนกความงามหลากวัฒนธรรม ลอรีอัลยูเอสเอ และยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารลอรีอัลยูเอสเอด้วย
ช่วงไม่กี่ปีหลังบริษัทข้ามชาติหลายแห่งเพิ่มผลิตภัณฑ์สำหรับลูกค้าผิวดำ และทำตลาดแบรนด์เหล่านั้นว่าเป็นของคนดำแท้ๆ ทั้งสูตรโฮมเมด ปรับปรุงตามความต้องการของแต่ละคน ทำการตลาดแบบสร้างความรู้สึกดีๆ ให้ลูกค้า
แต่หลังการประท้วงผลพวงจากการเสียชีวิตของชายผิวดำนาม “จอร์จ ฟลอยด์” เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ลูกค้าหลายคนก็ประกาศว่าจะซื้อสินค้าจากธุรกิจของคนดำให้มากขึ้น เพราะนี่คือวิธีการสร้างความเสมอภาคทางสีผิวที่ได้ผลดีกว่า
เชียมอยส์เจอร์ บริษัทสินค้าดูแลสุขภาพส่วนบุคคล ก่อตั้งขึ้นโดยผู้อพยพชาวไลบีเรียในย่านฮาร์เล็ม เมื่อปี 2534 เข้ามาอยู่กับยูนิลีเวอร์ในปี 2560 เมื่อยูนิลีเวอร์ ซื้อซันไดอัลแบรนด์ส บริษัทความงามในนิวยอร์กมาเป็นกิจการในเครือ
เดือนนี้ ผู้บริโภคผิวดำขู่ว่าจะคว่ำบาตรสินค้าของเชียมอยส์เจอร์โดยอ้างถึงความเป็นเจ้าของบริษัท
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. คารา ซาบิน ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ซันไดอัลแบรนด์ ซึ่งบริหารเป็นแผนกเดี่ยวภายในยูนิลีเวอร์ โพสต์ข้อความลงอินสตาแกรม บรรเทาความโกรธเคืองของลูกค้า
“ฉันเป็นซีอีโอคนดำในบริษัทคนขาวของสหรัฐ นำพาแบรนด์ที่ดำรงอยู่เพื่อรับใช้ผู้บริโภคคนดำของเรา” ซาบินโพสต์ชัดเจน
นีลเส็น บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลการซื้อสินค้าของผู้บริโภคคาดว่า อำนาจซื้อของคนดำในสหรัฐจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านล้านภายในปี 2564 จากราว 1.3 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อปี 2562 คนผิวดำคิดเป็น 13.4% ของประชากรสหรัฐ ใช้จ่ายไปกับสินค้าจำพวกผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมและความงามและน้ำหอมผู้หญิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น
ตัวอย่างเช่น ในปี 2560 อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมสำหรับลูกค้าหลากวัฒนธรรมของสหรัฐมูลค่ารวม 63 ล้านดอลลาร์ เม็ดเงินมาจากนักช้อปผิวดำ 85%
การใช้จ่ายของกลุ่มนี้ยังคิดเป็น 22.4% ในตลาดน้ำหอมผู้หญิง และ 21% ของตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลสุขอนามัยส่วนตัวของผู้หญิง
ข้อมูลจากสเตรทเตจิก โซลูชันส์ อินเตอร์เนชันแนล ในเครือนีลเส็นเผยว่า ข้อมูลเดือน พ.ค. ถึงวันที่ 17 ยอดขายสินค้าดูแลเส้นผมมุ่งลูกค้าหลากเชื้อชาติ เพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสินค้าประเภทนี้เป็นของบริษัทคนดำ 14% แต่ยอดขายในร้านค้าปลีกโตถึง 20%
กระนั้น ผู้บริโภคบางคนบอกด้วยว่า พวกเขาไม่ได้ดูว่าใครเป็นเจ้าของแค่สินค้าดูแลสุขภาพส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังดูไปถึงสินค้าและบริการอื่นๆ ของคนดำด้วย เช่น ร้านหนังสือ ร้านอาหาร และร้านยา
บนเว็บไซต์ระดมทุน “โกฟันด์มี” มีเกือบ 2,000 เพจที่ตั้งขึ้นมาสนับสนุนธุรกิจของคนดำ ส่วนใหญ่เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
“เราพูดถึงปัญหาคนดำมานานแค่ไหนแล้ว แต่เพิ่งมาได้เรื่องก็ตอนนี้” วิเวียน ดูเกอร์ ทนายความบริษัทในบัลติมอร์กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ ไม่กี่วันก่อนเธอผนึกกำลังกับเพื่อนคนหนึ่ง ทำโครงการรณรงค์กับ Change.org ชื่อว่า#VERIFYBLACK (พิสูจน์ความดำ) เรียกร้องให้ใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียระบุกิจการที่คนดำเป็นเจ้าของให้ชัดเจนยิ่งขึ้น มีผู้เข้าชื่อสนับสนุนกว่า 7,000 คน
ดูเกอร์บอกว่า แบรนด์อย่างแครอลส์ ดอเทอร์และเชียมอยส์เจอร์นั้น ไม่ถือเป็นธุรกิจของคนดำ
หรือกรณีพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (พีแอนด์จี) เข้าซื้อวอล์คเกอร์แอนด์โค บริษัทแม่ของบีเวล ผลิตสินค้าดูแลเส้นผมชาย และฟอร์มบิวตี สินค้าดูแลเส้นผมหญิง ทั้งสองบริษัทเดิมเป็นสินค้าสำหรับคนผิวสี
เทีย คัมมิงส์ รองประธานฝ่ายการตลาดของวอล์คเกอร์แอนด์โค กล่าวกับรอยเตอร์ว่า การเป็นส่วนหนึ่งของพีแอนด์จี ช่วยขยายช่องทางการขาย หญิงชายหาซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น
ดานา วิลเลียมส์-จอห์นสัน อาจารย์แผนกการตลาด วิทยาลัยธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมองว่า บริษัทที่ทำเงินกับผู้บริโภคผิวดำควรมีผู้นำสะท้อนให้เห็นลูกค้าที่ซื้อแบรนด์นั้นๆ ด้วย
“คณะกรรมการบริหารบริษัทเหล่านี้มีความหลากหลายมากน้อยแค่ไหน มีคนดำกี่คนที่ได้เป็นเบอร์ 1 ได้มีที่นั่งในโต๊ะประชุม จริงๆ แล้วแบรนด์เหล่านี้ให้คุณค่ากับเม็ดเงินของคนดำมากน้อยแค่ไหน นี่เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบ”
นิตยสารแบล็กแม็กกาซีนรายงานว่า ปีที่แล้ว187 บริษัทในดัชนีเอสแอนด์พี 500 ไม่มีคณะกรรมการบริหารเป็นคนผิวดำเลยแม้แต่คนเดียว
เดือนนี้บริษัทผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม “แคนทูบิวตี” ก็เจอคำถามแบบนี้ผ่านอินสตาแกรม นักช้อปบางคนตั้งขอสังเกตว่า บริษัทถูกขายให้กับพีดีซีแบรนด์สไปแล้วในปี 2558 ดังนั้นพวกเขาจะไม่ใช่แบรนด์นี้อีกต่อไป หันไปใช้แบรนด์อื่นที่เป็นธุรกิจของคนดำดีกว่า
ด้วยเหตุนี้เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.บริษัทจึงจัดแชทสดผ่านอินสตาแกรม “กับคนที่อยู่เบื้องหลังแบรนด์”
“ฉันอยากจะเปิดม่านให้คุณเห็นกันจะๆ ถึงเรื่องราวเบื้องหลัง” เดมิเทรีย มัสติน รองประธานแคนทูบิวตี้กล่าวระหว่างถ่ายทอดสด
ด้านพีดีซีแบรนด์สไม่ได้แสดงความเห็นกับรอยเตอร์
ซินเธีย แฮร์สตัน วัย 24 ปี จากพิตส์เบิร์ก เพนซิลเวเนีย บอกว่า แคนทูคือแบรนด์เบอร์ 1 ของเธอมานานหลายปี แต่ต้องนี้เธอไม่ซื้ออีกเลย
“ตอนนี้จิตสำนึกกำลังกดดันฉัน ฉันต้องมีลิสต์ติดตัวไว้ตลอดเวลาเพื่อให้แน่ใจว่าแบรนด์ที่ฉันเลือกเป็นของคนดำ” ลูกค้ากล่าวหนักแน่นถึงเจตนารมณ์