'สตรีมเมอร์' อาชีพคนรุ่นใหม่ รายได้หลักแสน
ธุรกิจสตรีมมิง (Streaming) หรือธุรกิจสตรีมมิงคอนเทนต์ (streaming content)” เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มาแรงและสร้างรายได้ให้แก่อุตสาหกรรมสตรีมมิ่งมหาศาล
พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนที่ตอบรับความหลากหลายความบันเทิงในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกม การดูหนัง ฟังเพลง ส่งผลให้ธุรกิจกลุ่มนี้เติบแบบก้าวกระโดด
“สตรีมเมอร์ (Streamer)” กลายเป็นอาชีพยอดนิยมของคนรุ่นใหม่ และเป็นอาชีพที่ต้องการในกลุ่มธุรกิจสตรีมมิ่ง โดยเฉพาะ สตรีมเมอร์ หรือผู้ที่เล่นเกม ผลิตสื่อต่างๆ ให้คนดูผ่านออนไลน์แล้วมีผู้ติดตามจำนวนมาก ซึ่งหากประสบความสำเร็จในอาชีพนี้สามารถสร้างรายได้ถึง 1.5 ล้านบาท/ชม.
Online Performers Group บริษัทดูแลสตรีมเมอร์ เคยกล่าวไว้ว่า รายได้ของสตรีมเมอร์ ที่มีจำนวนผู้รับชมพร้อมๆ กันเป็นหลักพันคนในอเมริกา ได้ค่าตอบแทนไม่ใช่เพียง 50,000 ดอลลาร์/ชม. หรือ 1.5 ล้านบาท/ชั่วโมง เนื่องจากสตรีมเมอร์ บางคนได้ 60,000-70,000 ดอลลาร์/ชม. ขณะที่อุตสาหกรรมดังกล่าวในไทยมองว่า หากมีผู้รับชม 1,000 คนพร้อมกันใน 1 ชม. ก็จะมีค่าประมาณ 30,000-50,000 บาท
นอกจากในธุรกิจเกมแล้ว “สตรีมเมอร์” ยังมีบทบาทสื่อบันเทิงรูปแบบอื่นๆ อย่าง อุตสาหกรรมเพลง มีรายงานปี 2019 ของ IFPI (International Federation of the Phonographic Industry) เปิดเผยว่ารายได้ของธุรกิจกลุ่มสตรีมมิ่ง อาจมีมูลค่าเป็นสัดส่วนสูงถึง 47% ของทั้งอุตสาหกรรมเพลงทั่วทั้งโลกเป็นที่เรียบร้อย แถมปี 2018 ยังมีอัตราการเติบโตของรายได้มากถึง 34% เลยทีเดียว
“ชัชชัย หวังวิวัฒนา” หัวหน้าหลักสูตรการจัดการธุรกิจเกมและอีสปอร์ต คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (มกค) กล่าวว่า อุตสาหกรรมสตรีมมิ่ง โดยเฉพาะเกมมีการเติบโตอย่างมาก ยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถึงอุตสาหกรรมอื่นๆจะซบเซา แต่อุตสาหกรรมนี้กลับได้รับความสนใจมากขึ้น มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น ส่งผลให้ต้องการบุคลากรด้านสตรีมเมอร์ หรือผู้ผลิตคอนเทนต์สื่อสตรีมมิ่งมากขึ้น
ม.หอการค้าไทย มีเครือข่ายสถานประกอบการอุตสาหกรรมเกม และสตรีมมิ่งรูปแบบต่างๆ ได้ร่วมกับพัฒนาหลักสูตรการจัดการธุรกิจเกมและอีสปอร์ต เพื่อผลิตบุคลากรด้านนี้ เพราะการเป็นสตรีมเมอร์ หรือผู้ผลิตสตรีมมิ่ง ที่ดีไม่ใช่มีเพียงอุปกรณ์เท่านั้น แต่ต้องสามารถเล่าเรื่อง มีทักษะด้านการตลาด เข้าใจกลุ่มเป้าหมาย และรู้หลักเทรนด์ของกระแสโลกที่เกิดขึ้น
มุมมองการทำงานของคนรุ่นใหม่ไม่ได้เป็นการทำงานในลักษณะงานเดียว หรือกระแสเงินสดทางเดียว การจ้างงานประจำเป็นเรื่องยากมากขึ้น แพลตฟอร์มการทำงานจึงมีความจำเป็นอย่างมาก ซึ่งอุตสาหกรรมสตรีมมิ่งไม่ว่าจะในยูทูป เฟสบุ๊ค ทีวี เพลง ล้วนเป็นแพลตฟอร์มได้รับความนิยม และหากสตาร์ทอัพของไทย ผู้ประกอบการธุรกิจสตรีมมิ่ง และกลุ่มคนที่อยากทำอาชีพสตรีมเมอร์ มีทักษะความรู้ เข้าใจพลังในเชิงของการตลาด
ทิศทางของโลกไปทางไหน “นักสตรีมเมอร์ ผู้ผลิตคอนเทนต์สตรีมมิ่ง” ต้องรู้ และหากประเทศไทยไม่มีการเตรียมความพร้อมบุคลากรด้านนี้ ทั้งที่เด็กไทยมีศักยภาพ มีความสามารถในการถ่ายทอด การเล่มเกม การผลิตเนื้อหา ควรได้รับการพัฒนาและส่งเสริมในด้านนี้ให้มีความเชี่ยวชาญ สามารถเข้าสู่และอยู่รอดในอุตสาหกรรมสตรีมมิ่งได้ ตอนนี้แม้ทุกคนจะมีจอของตัวเอง สามารถถ่ายทอดสด ผลิตคอนเทนต์ได้ แต่การจะทำให้มีผู้ติดตามอย่างต่อเนื่อง และประสบความสำเร็จในการเป็นนักสตรีมเมอร์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
“ชัชชัย” กล่าวต่อว่าทุกคนไม่จำเป็นต้องเป็นบรอดแคสรายใหม่ หรือทำงานในองค์กรใหญ่ๆ แต่การจะเป็นผู้ประกอบการด้านสตรีมมิ่ง หรือเป็นนักสตรีมเมอร์อาชีพ ต้องมี 4 ทักษะคือ ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม การสื่อสาร และการทำงานเชิงวิเคราะห์ ซึ่งการเรียนการสอนของมกค. ไม่ใช่เพียงสอนการบริหารจัดการเท่านั้น แต่มุ่งเน้นการสร้างผู้ประกอบการ รู้หลักการตลาด และที่สำคัญต้องสามารถวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆได้
“การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นสิ่งที่นักสตรีมเมอร์ทุกคนต้องมี เพื่อจะได้เข้าใจลูกค้า เจาะกลุ่มตลาดอย่างไร รู้หลักการเล่าเรื่องจะทำแบบไหน และต้องมีการนำเสนออย่างสนุกสนาน ให้เกิดการติดตาม เพราะตอนนี้ไม่มีใครทนดูโฆษณาได้นานๆ ซึ่งการสตรีมมิ่ง หากมองก็เป็นการโฆษณาในรูปแบบหนึ่ง ที่จะทำให้ผู้คนสนใจสินค้า ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ผ่านผู้คนที่พวกเขาชื่นชอบ ติดตาม ดังนั้น การจะมีจอ มีมือถืออย่างเดียวไม่พอ ต้องมีทักษะ มีความรู้ และในระบบการศึกษายังเป็นการเปิดประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ ผู้ที่ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมสตรีมมิ่งอีกด้วย”ชัชชัย กล่าว
หากมอง “สตรีมเมอร์” ในประเทศไทยนั้นมีจำนวนมาก แต่ประกอบธุรกิจได้มีไม่มาก ส่วนใหญ่จะเป็นมือสมัครเล่น “หัวหน้าหลักสูตรการจัดการธุรกิจเกมและอีสปอร์ต คณะบริหารธุรกิจ มกค.” กล่าวอีกว่ากระแสรายได้ของสตรีมเมอร์เป็นแรงจูงใจให้ใครๆ ก็อยากทำอาชีพนี้ ซึ่งหลายคนไม่เข้าใจว่าต้องมีไอเทม อุปกรณ์อะไรบ้าง และต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม บางคนอาจมองว่าต้องเล่นเกมเก่ง ถึงจะเป็นสตรีมเมอร์มีคนติดตามมาก
จริงๆ แล้ว ต่อให้เล่นเกมไม่เก่ง แต่มีทักษะการเล่าเรื่อง สื่อสารได้น่าติดตาม รู้ว่ากลุ่มเป้าหมายของตนเอง ต้องมีความสัมพันธ์กับผู้ติดตามอย่างไร นอกจากนั้นต้องมีความคิดสร้างสรรค์ มีความช่างสังเกต มีวินัย และมีความคิดในเชิงธุรกิจ
“อยากฝากคนรุ่นใหม่ ทุกอาชีพสามารถสร้างรายได้หากลงมือทำ ดังนั้น การเป็นสตรีมเมอร์อาชีพ หรือทำงานในแพลตฟอร์มออนไลน์ แล้วได้รับความนิยมสนใจ เล่มเกมแล้วมีผู้ติดตามจำนวนมาก จนนำไปสู่การสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง ต้องอย่ามัวแต่มอง ต้องเดินตามความต้องการ ความฝันและลงมือทำอย่างจริงจัง การเรียนการสอนในรั้วมหาวิทยาลัยสามารถเติมเต็มทักษะที่ขาดได้ แต่จะประสบความสำเร็จในสายอาชีพได้ทุกคนต้องเรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองชอบ มีวินัย ความรับผิดชอบ และมุ่งมั่นทำความต้องการของตนเองให้เป็นจริง”ชัชชัย กล่าวทิ้งท้าย