‘โคเนื้อภูพาน’ ให้เนื้อดี มีราคา เลี้ยงได้ทั่วไปในประเทศไทย
“โคเนื้อภูพาน” เนื้อคุณภาพดี มีความนุ่ม ไขมันแทรก เกรดสูง ปลอดภัยต่อการบริโภค ตลาดตอบรับดี ศูนย์ฯ ภูพาน ขยายผลสู่การเลี้ยงของเกษตรกร เผยผู้สนใจเข้าศึกษาดูงานแล้วนำไปเลี้ยงเองได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย พื้นที่ประเทศไทยเหมาะสม
นายโรจน์วัฒน์ อินทร์ทุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร เปิดเผยว่า ผลสำเร็จจากการศึกษาทดลองและวิจัยที่เป็นต้นแบบในเรื่อง “สร้างน้ำ เพิ่มป่า พัฒนาชีวิตที่พอเพียง” ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น จวบจนปัจจุบันมีแล้วกว่า 276 เรื่อง (กิจกรรม) โดยคัดเลือกผลงานที่โดดเด่นเพื่อขยายผลสู่เกษตรกรพร้อมจัดทำเป็นเอกสารคู่มือ จำนวน 19 หลักสูตร หนึ่งในนั้นก็คือการเลี้ยง "โคเนื้อภูพาน"
โคเนื้อภูพาน เป็นโคถูกพัฒนาพันธุ์ขึ้นมาจากโคเนื้อพันธุ์วากิว (Wagyu) สายพันธุ์ทาจิมะ (Tajima) ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้ถูกน้อมเกล้าถวายให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปี 2531 และได้ทรงพระราชทานต่อให้กรมปศุสัตว์ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศึกษาความเป็นไปได้ในการเลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพการเลี้ยงการจัดการของเกษตรกรในประเทศไทย
ทั้งนี้ ยังได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อใหม่ให้เป็น “โคเนื้อภูพาน”
ด้านต้นทุนการผลิตโคเนื้อภูพาน ในเวลา 2 ปี โดยเฉลี่ยต่อแม่พันธุ์โคเนื้อภูพานจำนวน 1 ตัว อายุอย่างน้อย 18 เดือน ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 18,000 บาท ค่าโรงเรือนและอุปกรณ์การเลี้ยง 3,000 บาท ค่าอาหารเสริมสำหรับแม่พันธุ์ 3,650 บาท ค่าบริการเจ้าหน้าที่ผสมเทียมให้กับแม่พันธุ์โค 200 บาท ค่าเวชภัณฑ์ 300 บาท รวมต้นทุน 25,150 บาท ขณะที่ผลตอบแทนเมื่อจำหน่ายลูกโคหย่านม อายุ 10-12 เดือน จะอยู่ที่ราคาประมาณ 20,000 บาท นอกจากนี้ ยังสามารถจำหน่ายมูลโคได้ไม่น้อยกว่า 2,000 บาท ต่อโค 1 ตัว ต่อเวลา 1 ปี อีกด้วย โดยแม่โคจะให้ลูกปีละ 1 ตัว ขณะที่การขุนลูกโคจะใช้ระยะเวลาเฉลี่ยที่ประมาณ 447 วัน
ลักษณะเด่นของ "โคเนื้อภูพาน" คือ ขนสั้นสีดำ ผิวหนังตึง ลำตัวสันทัด โตเร็ว เลี้ยงง่าย หากินเก่ง ปล่อยเลี้ยงแทะเล็มหญ้าได้ มีความสมบูรณ์พันธุ์สูงไม่มีปัญหาด้านการผสมพันธุ์ยาก สามารถทนทานต่ออากาศร้อนชื้นได้เป็นอย่างดี ทนทานต่อโรคระบาด โรคพยาธิในเลือด เพศผู้น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ 700 กิโลกรัม เพศเมียน้ำหนักโตเต็มที่ 550-600 กิโลกรัม เป็นสายพันธุ์ที่ให้เนื้อคุณภาพดี ลักษณะเนื้อมีความนุ่มเป็นพิเศษ มีไขมันแทรก เกรดสูง จุดเด่นที่สำคัญ คือ มีสัดส่วนของกรดไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งทำให้เนื้อโคทาจิมะมีความปลอดภัยต่อการบริโภค จึงเหมาะสำหรับการบริโภคของผู้ที่รักสุขภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค
“พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติมีน้อย ผืนดินขาดความชุ่มชื้นเป็นปัญหาต่อการเพาะปลูก ประกอบกับอดีตมีการแผ้วถางป่า เพื่อการประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา จนทำให้แหล่งน้ำลำธารและระบบนิเวศถูกทำลาย กลายเป็นทุ่งหญ้าในบริเวณกว้างหลายแห่ง จึงเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งสำหรับการใช้เป็นแหล่งเลี้ยงโคเนื้อภูพาน สำหรับเกษตรกรที่มีต้นทุนต่ำไม่สามารถทำการเลี้ยงในระบบปิดได้ และที่ผ่านมามีเกษตรกรในพื้นที่จำนวนไม่น้อยที่ได้รับการขยายผล ภายหลังจากการเข้ามาฝึกอบรมการเลี้ยงโคขุนภูพานแล้วนำโคเนื้อภูพานไปเลี้ยงที่บ้านต่างประสบความสำเร็จ สามารถสร้างรายได้จากการขายโคขุนภูพานจำนวนหลายราย” นายโรจน์วัฒน์ อินทร์ทุ่ง กล่าว
ปัจจุบัน "เนื้อโคขุนภูพาน" มีวางจำหน่ายในท้องตลาดของจังหวัดสกลนครและตลาดอื่น ๆ โดยทั่วไป เนื่องจากกำลังเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ซึ่งเกษตรกร และผู้ที่สนใจสามารถเข้าศึกษาดูงานและนำความรู้ไปเลี้ยงโคเนื้อภูพานได้ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น