เปิดแผนลงทุน 1.8 แสนล้าน ปั้น 'อู่ตะเภา' ฮับการบิน
“บีบีเอส” พร้อมลุยอู่ตะเภา เปิดแผน 1.8 แสนล้านบาท เป้าศูนย์กลางการบินภูมิภาค คาดปี 2573 ผู้โดยสารเข้าไทย 200 ล้านคน “บางกอกแอร์” จ่อดึงพันธมิตรแอร์ไลน์ 100 สายการบินใช้บริการ “บีทีเอส” ผนึกพันธมิตรอสังหาฯ พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกมีการลงนามระหว่างบริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2563
โครงการนี้เป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิกที่มีการลงนามในปีนี้ด้วยมูลค่าการร่วมลงทุน 290,000 ล้านบาท ซึ่งเอกชนได้สิทธิพัฒนาพื้นที่ 6,500 ไร่ อายุสัญญา 50 ปี
บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด มีผู้ถือหุ้น 3 ราย คือ บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัทบีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจรายงานแผนการลงทุนของบริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ระบุถึงมูลค่าการลงทุนส่วนเอกชน 186,566 ล้านบาท ที่มาของเงินลงทุนแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ
1.ใช้เงินสดภายในและทุน 90,264 ล้านบาท
2.กู้สถาบันการเงินระยะยาว 87,302 ล้านบาท
3.ชำระค่าหุ้นวันดำเนินกิจการ 9,000 ล้านบาท
4.ชำระค่าหุ้นวันลงนาม 4,500 ล้านบาท
แผนลงทุนโครงการนี้ใช้งบ 186,566 ล้านบาท ในจำนวนนี้รวมงบซ่อมบำรุงตลอดสัญญา 50 ปี 61,849 ล้านบาท ส่วนที่เหลือแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 งบลงทุน 31,290 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารขนาด 157,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี
ระยะที่ 2 งบลงทุน 23,852 ล้านบาท พัฒนาอาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 107,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด30 ล้านคนต่อปี
ระยะที่ 3 งบลงทุน 31,377 ล้านบาท เป็นการต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมจากระยะที่ 2 กว่า 107,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคนต่อปี
ระยะที่ 4 งบลงทุน 38,198 ล้านบาท มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่สองของเมืองการบิน เพิ่มขึ้นกว่า 82,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี
นายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่ปรึกษาประธานคณะผู้บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด พร้อพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งเป็นโครงการสำคัญของประเทศและเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตามนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
สำหรับเหตุผลที่บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมประมูลเพราะเห็นความสำคัญของสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดี มีความพร้อมในการเชื่อมต่อของระบบราง ถนนและทางน้ำ ซึ่งจำเป็นต้องเชื่อมต่อกับการคมนาคมทางอากาศ
“เรื่องการเงิน สถาบันทางการเงินจะใช้แบงก์ใด วันนี้ขอยังไม่ตอบ เพราะเรื่องนี้มันสามารถเปลี่ยนแปลงได้อีกเยอะ แบงก์ชาติก็จะต้องมีนโยบายเปลี่ยนไป”นายปราเสริฐ กล่าว
ส่วนกรณีที่มองว่าเมื่อสนามบินเปิดให้บริการแล้วจะมีปริมาณการเที่ยวบินเข้ามาใช้บริการตามที่คาดการณ์ หรือจะมีโปรโมชั่นจูงใจสายการบินอย่างไรนั้น ต้องชี้แจงว่าพันธมิตรเข้ามาใช้สนามบิน สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส มีพันธมิตรสายการบินทั่วโลกกว่า 100 สาย ดังนั้นไม่ต้องกังวลในวันนี้
“คีรี”หวังต่อยอดธุรกิจบีทีเอส
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการนี้เป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ซึ่งเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของประเทศไทย
กลุ่มบริษัทบีทีเอสจะใช้ประสบการณ์ที่มีกว่า 20 ปี ต่อยอดให้ธุรกิจในเครือทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน อสังหาริมทรัพย์และด้านอื่น เช่น ระบบขนส่งมวลชนทางราง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงความสามารถในการพัฒนาธุรกิจด้านอื่นเพื่อเป็นแรงผลักดันให้โครงการนี้สำเร็จ
ยืนยันผลตอบแทนรัฐเหมาะสม
นายคีรี กล่าวว่า ชนะการประมูลคราวนี้เป็นไปด้วยความรอบคอบและคิดไม่ผิดที่ร่วมประมูล เพราะได้วิเคราะห์อย่างละเอียดรอบคอบ และมีเหตุผลกับการเสนอราคาจ่ายสูงขนาดนี้ โดยส่วนตัวไม่สนใจกับบางคนที่ไม่เข้าใจรัฐบาลหรือไม่เข้าใจวิธีคิด ซึ่งยืนยันว่าราคานี้ถูกต้องเหมาะสมแน่นอน และถึงวันนั้นอาจมีผู้ต่อว่ารัฐที่ยอมเอกชน เพราะไม่เพียงแต่เราได้พัฒนาสนามบิน แต่ได้พื้นที่เพื่อพัฒนาเมืองการบิน ฟรีเทรดโซนและดิวตี้ฟรี
กลุ่มบริษัทบีทีเอสเตรียมแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และแผนสร้างระบบเชื่อมต่อการเดินทางภายในโครงการ เพื่อให้เชื่อมกับระบบการขนส่งภายนอกทุกระบบ รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน
รวมทั้งจะพัฒนาระบบรถไฟฟ้า APM (Automated People Mover) เชื่อมการเดินทางภายในโครงการ เพื่อพัฒนาศักยภาพเมืองการบินให้เป็นเขตส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อรองรับการขยายตัวของอีอีซี และเชื่อมโยงการขนส่งผู้โดยสารกับสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อก้าวสู่ Aviation Hub ที่สำคัญของอีอีซี
“บีทีเอส”ดึงพันธมิตรอสังหาฯ
นายคีรี กล่าวว่า แผนธุรกิจนอกจากพัฒนาภายใต้กลุ่มบีบีเอสแล้ว ปัจจุบันมีพันธมิตรในประเทศและต่างประเทศสนใจร่วมลงทุนในเมืองการบิน เพราะเห็นโอกาสจากโครงการนี้ ดังนั้นส่วนเชิงพาณิชย์จะเริ่มทำทันที โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้ถนัดเข้ามาร่วมกับบีทีเอสในอนาคต ขณะที่งบลงทุนยืนยันว่าไม่มีปัญหา โดยเฉพาะระยะแรกใช้งบ 31,290 ล้านบาท ใช้เงินทุนของกลุ่มบีบีเอสได้โดยไม่มีปัญหา
นายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บีทีเอส เผยว่า พันธมิตรที่มีแผนจะดึงเข้าร่วมพัฒนาในเมืองการบินภาคตะวันออก เบื้องต้นมีกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นพันธมิตรกับกลุ่มบริษัทบีทีเอสอยู่แล้ว อาทิ อนันดา แสนสิริ และยูซิตี้
“บางกอกแอร์”เล็งย้ายฐานบินมาอู่ตะเภา
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บางกอกแอร์เวย์สจะศึกษาการย้ายฐานการบิน 100% จากสนามบินสุวรรณภูมิมาสนามบินอู่ตะเภาในอนาคต โดยจะคำนึงถึงการสร้างเครือข่ายทางการบินเชื่อมต่อกับสายการบินพันธมิตร
"บีทีเอส"เตรียมลุยพื้นที่เชิงพาณิชย์
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พื้นที่เมืองการบินภาคตะวันออกแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.Commercial Gateway 269 ไร่ หรือ 4.3 แสนตารางเมตร จะพัฒนาเป็นพื้นที่ไลฟ์สไตล์ ช็อปปิ้ง โรงแรม และลักชัวรี่ เอาท์เลต
2.Airport City 654 ไร่ หรือ 1 ล้านตารางเมตร จะพัฒนาเป็นพื้นที่ธุรกิจ Innovation Park, Exhibition area และเมดิคคัล ฮับ รวมถึงพื้นที่สำนักงาน
3.Cargo zone and FTZ (ฟรีเทรดโซน) 262 ไร่ หรือ 4.19 แสนตารางเมตร จะพัฒนาเป็นศูนย์กระจายสินค้า รองรับการขนส่งสินค้าแบบครบวงจร ทั้งนี้กองทัพเรือมีกำหนดส่งมอบพื้นที่ให้บีบีเอสภายในเวลา 18 เดือน จึงจะเริ่มก่อสร้าง
นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กองทัพเรือจะออกหนังสืออนุญาตให้เข้าพื้นที่ (NTP) ภายใน 180 วันหลังจากลงนามสัญญา โดยระหว่างนี้จะเตรียมพร้อมศึกษารายละเอียดการออกแบบ อีกทั้งกองทัพเรือเตรียมเปิดประมูลงานก่อสร้างรันเวย์ 2 สนามบินอู่ตะเภา งบประมาณ 1.3–1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างออกแบบ โดยจะเปิดประมูลก่อนออกหนังสือ NTP โครงการเมืองการบิน โดยกลุ่มบีบีเอสจะเข้าไปร่วมประมูลก่อสร้าง