วิกฤติหนี้รายย่อย ระเบิดเวลาลูกใหญ่
วิกฤติโควิด-19 ก่อให้เกิดปัญหาหนี้ โดยเฉพาะหนี้รายย่อย เนื่องจากเศรษฐกิจหยุดชะงัก กระทบความสามารถจ่ายคืนของลูกหนี้ ทำให้แบงก์ชาติและสถาบันการเงินต้องออกมาตรการมาช่วยเหลือ แต่คำถามคือ เมื่อครบกำหนดความช่วยเหลือแล้ว ลูกหนี้จะสามารถกลับมาจ่ายได้หรือไม่?
ปัญหาหนี้ โดยเฉพาะหนี้รายย่อยที่เกิดจาก Covid-19 กำลังเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก ทำให้เกิดปัญหากับกระแสเงินสดของธุรกิจต่างๆ คนงานจำนวนมากต้องถูกเลิกจ้าง จนกระทบความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะรายย่อยและธุรกิจขนาดเล็กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ที่ผ่านมาแบงก์ชาติได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือ โดยให้สถาบันการเงินลดดอกเบี้ย ลดค่างวด ขยายระยะเวลาจ่ายคืน และเลื่อนการชำระเงินต้น และ/หรือ ดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3-6 เดือน ขึ้นอยู่กับประเภทหนี้ให้กับลูกหนี้ที่ไม่เป็น NPL เมื่อวันที่ 1 มีนาคม โดยไม่บันทึกเป็นประวัติเสียที่เครดิตบูโร หนี้ยังคงถูกนับเป็น “หนี้ปกติ” ที่สถาบันการเงินไม่ต้องจัดชั้น ไม่ต้องตั้งสำรองหนี้เสีย และถ้าธนาคารลดอัตราดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ ธนาคารยังรับรู้รายได้ของหนี้เหล่านี้ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แม้จะไม่ได้รับชำระคืนเงินกู้ก็ตาม
มาตรการนี้เป็นมาตรการ “ลดภาระ” ของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะสั้น และผู้ขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการนี้มีจำนวนมาก ล่าสุดมีลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือกว่า 16.3 ล้านราย คิดเป็นยอดหนี้กว่า 6.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นยอดเงินมากกว่าหนึ่งในสามของยอดหนี้รวมในระบบธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (!) เป็นลูกหนี้รายย่อยกว่า 15 ล้านราย และลูกหนี้ SME กว่า 1.1 ล้านราย
หมายความว่าปัจจุบัน ยอดหนี้มากกว่าหนึ่งในสามของระบบ ไม่มีการจ่ายคืนเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ย โดยที่เราอาจจะไม่ทราบเลยว่าเมื่อครบกำหนดเวลา 3-6 เดือนที่ให้ความช่วยเหลือแล้ว ลูกหนี้จะสามารถกลับมาจ่ายคืนหนี้ได้มากน้อยเพียงใด
ล่าสุดแบงก์ชาติได้ออกมาตรการระยะที่สอง ที่เปิดให้เข้าร่วมโครงการได้ถึงสิ้นปี โดยให้มีการลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบางประเภท เพิ่มวงเงิน ลดค่างวด เลื่อนชำระค่างวด หรือขยายระยะเวลาจ่ายคืนหนี้ไปอีกอย่างน้อยสามเดือน แปลว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการแรกแล้ว ลูกหนี้อาจจะได้รับการต่ออายุโครงการออกไปอีก และคงมีผู้เข้าร่วมโครงการอีกอย่างต่อเนื่อง
แต่คำถามที่น่าสนใจคือ เมื่อสิ้นสุดโครงการแล้ว ลูกหนี้เหล่านี้จะกลับมาจ่ายคืนหนี้ได้มากน้อยเพียงใด และผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินจะเป็นอย่างไร
มาตรการช่วยเหลือเหล่านี้คงทำได้แค่เพียงชะลอปัญหาออกไป แต่ถ้าความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ไม่กลับมา บางส่วนของหนี้เหล่านี้ก็อาจจะไม่สามารถกลับมาเป็นหนี้ปกติได้
ถ้าลองคิดเล่นๆ แค่ว่ามีเพียง 10% ของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือไปต่อไม่ได้ ก็จะมีลูกหนี้จำนวนมาก อาจจะต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ยึดทรัพย์ บังคับหลักประกัน ขายทอดตลาด ลำพังเพียงแค่สถานการณ์ปกติ ระยะเวลา ต้นทุน และทรัพยากรที่ต้องใช้ในกระบวนการเหล่านี้ก็มีมากอยู่แล้ว ถ้านึกว่าต้องมีทรัพย์สินเข้ากระบวนการนี้พร้อมๆกันมากๆ ต้นทุนคงเพิ่มสูงขึ้น เพราะหลักประกันอาจจะถูกยึดและเทขายมาพร้อมๆ กัน กลายเป็นภาระหนักหนาสาหัสทางการเงิน เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งต่อลูกหนี้และเจ้าหนี้
ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยเจอวิกฤตหนี้รายย่อยในขนาดระดับนี้มาก่อน และเราอาจยังนึกไม่ออกว่าเรากำลังจะเจอกับอะไรบ้าง เพราะต้นทุนในการดำเนินการและการเจรจาคงสูงกว่าปัญหาสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่แบบเทียบกันไม่ได้
เราอาจจะต้องเริ่มช่วยกันคิดว่าเราต้องเตรียมอะไรไว้บ้างเพื่อลดต้นทุนและภาระที่จะเกิดขึ้น เช่น การเร่งรัดกระบวนการประนอมหนี้ เจรจาปรับโครงสร้างหนี้ การบังคับหลักประกัน อาจจะต้องเริ่มคิดถึงกระบวนการจัดการสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในภาคการเงิน การรักษาความเชื่อมั่นของระบบ หรือหาวิธีและเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมในการระดมทุนจากภาคเอกชนมาช่วยเหลือธุรกิจที่ยังมีศักยภาพ แต่อาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจไปอีกนาน และ “หนี้” อาจจะไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป
นอกจากนี้ ปัญหาใหญ่ที่เราอาจจะเจอระหว่างนี้ คือ สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า moral hazard หรือภาวะภัยทางศีลธรรม ที่เกิดจากคนที่อยากได้รับความช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้รับผลกระทบ เช่น คนที่ยังสามารถจ่ายคืนหนี้ได้ แต่เพื่อนๆได้รับความช่วยเหลือกันหมด และเมื่อการปรับโครงสร้างหนี้ไม่มีต้นทุนอะไร อาจจะจงใจผิดนัดชำระหนี้และขอเข้าร่วมโครงการด้วย ทำให้เกิดภาระกับระบบ และทำให้ผู้ที่สมควรได้รับความช่วยเหลือจริงๆได้รับความช่วยเหลือน้อยกว่าที่ควรหรือไม่ได้รับความช่วยเหลือเลย
เชื่อว่าทุกฝ่ายต้องการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจจริงๆ แต่วิธีการจัดการปัญหา คงต้องคำนึงถึงปัญหาเรื่อง “แรงจูงใจ” และพยายามแบ่งสภาพของปัญหาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การบังคับปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด เพราะอาจส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของธนาคารโดยไม่จำเป็น สร้างปัญหา moral hazard และกระทบต่อการเข้าถึงทางการเงินของลูกหนี้ได้