ไขปริศนา! ทำไม 'ชาวแอนดีส' มีภูมิต้านโควิด?

ไขปริศนา! ทำไม 'ชาวแอนดีส' มีภูมิต้านโควิด?

ในช่วงที่ละตินอเมริกากลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ดูจะมีภูมิต้านทานเชื้อไวรัสชนิดนี้ดีกว่าคนอื่น นั่นก็คือ ชาวบ้านที่อยู่บนเทือกเขาแอนดีส แล้วทำไมจู่ ๆ พวกเขาถึงมีภูมิต้านทานได้

"แอนดีส" ได้ชื่อว่าเป็นเทือกเขาในทวีปที่ยาวที่สุดในโลก ถึงกว่า 7,000 กม. จาก เวเนซุเอลา ทะลุผ่านโคลอมเบีย ไปจนถึงที่ราบสูงปาตาโกเนียในชิลี และอาร์เจนตินาทางตอนใต้ เทือกเขานี้ มีความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 4,000 เมตร และมียอดเขาสูงที่สุดคือ ยอดเขาอะคอนคากัวในอาร์เจนตินา ซึ่งสูงเกือบ 7,000 เมตร

น่าสังเกตว่า ในเปรู ที่มียอดผู้ติดเชื้อในทวีปละตินอเมริกาสูงเป็นอันดับ 2 รองจากบราซิล กลับพบว่ามีเพียง 10% เท่านั้นที่เป็นการติดเชื้อในกลุ่มคนที่อาศัยอยู่บนความสูงกว่า 3,000 เมตรขึ้นไป อย่างที่ คัสโค เมืองหลวงเก่าของอาณาจักรอินคา

ออกัสโต ทาราโซนา หัวหน้าแผนกสาธารณสุขของวิทยาลัยแพทย์ในเปรู กล่าวว่า การเก็บข้อมูลผู้ติดเชื้อในเมืองอย่างคัสโค ฮัวเรส คาจามาร์กา, เซอโร เด ปาสโค,อบันเคย์,ฮัวคาเวลิกา พบผู้ติดเชื้อน้อยกว่าข้างล่างมาก 

“ในเมืองเหล่านี้ซึ่งอยู่บนที่สูงทั้งนั้น กลับพบเคสน้อยและเคสเสียชีวิตเกือบเป็นศูนย์ และนั่นทำให้เราสนใจ” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว 

เหตุการณ์แบบเดียวกันนี้ยังพบได้ที่โบลิเวีย ที่พบผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ในที่ราบทางตะวันออกมากกว่าเช่น ซานตาครูส หรือเขตเบนีแถบอะเมซอนติดกับบราซิล

เวอจิลิโอ เปรียโต หัวหน้าฝ่ายระบาดวิทยาของกระทรวงสาธารณสุขโบลิเวีย กล่าวกับเอเอฟพีว่า อัตราการติดเชื้อในเขตพื้นที่สูงของโบลิเวียอย่างเขต ลา ปาส ต่ำมาก เมื่อเทียบกับตัวเลขในเขตที่ราบอย่างซานตาครูส

ข้อมูลที่เป็นทางการนี้ชี้ให้ประเด็นสำคัญคือ ในเขตป่าโลเรโตของเปรู  พบผู้ติดเชื้อประมาณ 8,000 คน  ผู้เสียชีวิต 32 ราย ในขณะที่ คัสโค  ที่มีประชากรมากกว่าถึง 50% กลับพบผู้ติดเชื้อเพียง 1,500 และผู้เสียชีวิต 13 ราย

อัตราการเสียชีวิตที่โลเรโตอยู่ที่ 4% ในขณะที่คัสโคพบเพียง 0.87%

ส่วนที่โบลิเวีย เขตซานตาครูส พบผู้ติดเชื้อถึง 13,000 ในขณะที่เขตลา ปาส ซึ่งมีประชากรไล่ๆกัน กลับพบผู้ติดเชื้อน้อยกว่า 1,400 ราย

จะว่าไปแล้วในแถบเทือกเขาสูงแอนดีสที่เป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมและวิถีเกษตรอินคา ชีวิตไม่เคยง่าย

ในช่วงที่ยังไม่มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ว่า ทำไมผู้คนในแถบนี้ถึงดูจะมีภูมิคุ้มกันไวรัสโคโรนามากกว่าคนอื่นๆ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนพยายามที่จะอธิบายและระบุว่าอาจเป็นเพราะอยู่ในที่ที่มีออกซิเจนน้อย หรือรังสีอัลตราไวโอเล็ตมีผลต่อไวรัส 

ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาชาวเปรู อธิบายว่า คนที่ขาดออกซิเจนอาจมีเอนไซม์ช่วยลดความดันในเลือด (เอซีอี) ที่น้อยลง โดยปกติเอนไซม์นี้จะทำหน้าที่เป็นเหมือนทางเข้าร่างกายของไวรัส ในคนที่อาศัยอยู่ในที่ที่มีออกซิเจนน้อย ไวรัสจึงมีช่องทางที่เข้าสู่ร่างกายน้อยลงไปด้วย ทำให้การระบาดน้อย 

ทาราโซนาระบุ ผู้เชี่ยวชาญต่างสันนิษฐานว่าผู้คนที่อยู่บนที่สูงของแอนดีสอาจมีเอนไซม์นี้แตกต่างจากคนทั่วไปเพราะการขาดออกซิเจนถาวร

“นั่นแปลว่าพวกเขามีระบบหายใจที่ปรับให้เข้ากับการมีออกซิเจนน้อย และส่งผลต่อการแพร่โรคของไวรัสในร่างกายคนเรา ร่างกายปรับตัวจนไวรัสอยู่ไม่ได้” เขากล่าว

แต่การศึกษาบางชิ้นบอกว่าแสงอัลตราไวโอเล็ตอาจเป็นตัวฆ่าเชื้อทางธรรมชาติในเขตที่สูง

“รังสีอัลตราไวโอเล็ตจะสูงขึ้นในเขตที่สูงและนั่นแปลว่าไวรัสที่รอดชีวิตเหลือน้อย หรือมีไวรัสเหลือน้อยลงในพื้นที่” คาร์ลอส อิเบริโก ผู้เชี่ยวชาญด้านปอดของโรงพยาบาลซาโลกัลที่กรุงลิมาของเปรูให้ความเห็น

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เชื่อเช่นนั้น เปรียโต จากกระทรวงสาธารณสุขหวั่นว่า การคาดเดาว่ารังสีอัลตราไวโอเล็ตมีประโยชน์ จะยิ่งทำให้ไวรัสระบาดมากขึ้น เพราะทำให้ผู้คนรู้สึกผิดๆ ว่า ชุมชนปลอดภัยจากไวรัสแล้ว