ชี้ช่องทำกิน! เพาะเห็ดหูหนูขาย รอบแรกได้เงินเฉียดแสน
สาวคนเมืองเลย ต.ท่าสวรรค์ อ.นาด้วง เสริมรายได้เพาะเห็ดหูหนูขาย รอบแรกได้เงินเฉียดแสน
ในสภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจช่วงนี้ ที่สืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทบในหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรกร ผู้ประกอบการ โรงงานที่ปรับลดพนักงาน หรือปิดตัวลงถาวร หลายคนคงคิดแล้วว่า “ไม่มั่นคง” กับการดำเนินชีวิตแน่นอน คงต้องหาอาชีพเสริมทำควบคู่กับอาชีพหลักเป็นแน่แท้ เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้
“สุขใดเล่าจะเท่าบ้านเรา” คำนี้คงจะโผล่ขึ้นในหัวทันที ยิ่งคนที่ออกไปทำงานต่างจังหวัดด้วยแล้ว ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่าจะคิดถึงท้องถิ่น ที่เราเคยอยู่มามากขนาดไหน อย่าง น.ส.ณัฐรียา จันทะเสน อายุ 29 ปี ชาวหมู่ 5 บ้านงามวงศ์วาน ต.ท่าสวรรค์ อ.นาด้วง จ.เลย ที่เธอหันมาเพาะเห็ดหูหนูขายเป็นอาชีพเสริม ควบคู่กับการทำสวนยางพารา ไร่อ้อย ฯลฯ ซึ่งก่อนหน้านี้สามีเธอได้ไปทำงานที่ต่างประเทศ ก่อนจะกลับมาช่วยกันดูแลโรงเห็ดด้วยกัน และยังชวนคนในชุมชนมาร่วมกันด้วย โดยยึดคำว่า “หากเราทำได้ ชุมชมต้องเดินไปกับเราได้”
น.ส.ณัฐรียา เล่าว่า การเพาะเห็ดหูหนู เราทำกันเป็นครอบครัว ทุกคนช่วยกัน และดึงคนในชุมชนมาร่วมทำกับเราด้วย ลองผิดลองถูกมาเยอะ แต่ไม่ล้มเลิกความตั้งใจ จนปัจจุบันถือได้ว่ารู้หัวใจสำคัญของการเพาะเห็ดชนิดนี้มากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง อากาศ อุณหภูมิ โรคต่างๆที่เกิดกับเห็ด
การเพาะเห็ดหูหนูก่อนอื่นต้องสร้างโรงเรือน หลังคามุมด้วยหญ้าคา เพื่อให้อุณหภูมิภายในโรงเรือนเย็นเสมอ พื้นเทด้วยทราย ช่วยความชุ่มชื่นเมื่อเรารดน้ำ ส่วนเสาโรงเรือนจะเป็นไม้หรือปูนตามสะดวก และต้องมีผ้าใบพลาสติกดำ และผ้าสแลน 80% สำหรับคุมรอบข้างโรงเรือน
ส่วนการซื้อก้อนเชื้อเห็ดได้สั่งมาจาก อ.ภูเรือ จำนวน 8,000 ก้อน ในราคาก้อนละ 6.60 บาท ซึ่งถ้าหากพบก้อนเห็ดเสียหาย เชื้อไม่เดิน เป็นโรคทางฟาร์มที่เราสั่งจะเคลมให้เราทั้งหมด ทั้งนี้เมื่อได้รับก้อนเชื้อแล้วจะต้องทำการแขวนก้อนเชื้อเห็ดในเสร็จภายใน 2 คน งานนี้ถือได้ว่าต้องเร่งมืออย่างมากทุกคนต้องช่วยกัน ภายหลังได้ 50 วัน เมื่อเชื้อเดินเต็มก้อน สังเกตได้จากก้อนเชื้อจะมีใยสีขาวเต็มถุง เป็นสัญญาณบอกถึงพร้อมกรีดก้อนเห็ดแล้ว โดยใช้มีดกรีดแนวเฉียงให้ถึงขี่เลื่อย ขนาด 2 ซม. ด้านข้าง 6 แผล ก้นถุงอีก 2 แผล เพื่อให้เห็ดออกตามแผลที่เรากรีด จากนั้นก็รดน้ำที่พื้นให้ชุ่มทุกวัน ห้ามให้โดนก้อนเชื้อเห็ดที่เราแขวนไว้ ประมาณ 7 วันรอยแผลเริ่มปิดค่อยรดน้ำได้ หลังแผลเริ่มมีลักษณะคล้ายปลิงแต่ละวันจะต้องเร่งให้น้ำ 4 เวลา และ 75 วันก็รอเก็บผลผลิตชุดแรกได้เลย
น.ส.ณัฐรียา เล่าว่า การทำเห็ดหูหนูต้องดูแลอย่างมาก ราวกับเลี้ยงเด็กแรกเกิดเลยก็ว่าได้ เพราะในแต่ละวันต้องดูทั้งเรื่องการรดน้ำ การเปิด-ปิดโรงเรือนเพื่อเอาอากาศเข้าภายในโรงเรือน แถมหากวันไหนมีลมพัด แดดจ้า หรือแดดส่องเยอะ ต้องคุมผ้าฝั่งที่แดดส่องด้วย เพราะจะทำให้เห็ดแห้ง ไม่สมบูรณ์ ส่วนเรื่องโรคที่มากับเห็ด หลักๆจะเป็นโรคไรไข่ปลา และโรคราเขียว ต้องสังเกตให้ดีหากรักษาไม่ทันเชื้อโรคเหล่านี้จะกระจาย ทำลายดอกเห็ดเราเป็นวงกว้าง
ถามว่าคุ้มไหมกับการทำเห็ด ตอบได้เลยว่า “คุ้ม” เพราะขณะเราเก็บรอบแรกก็เห็นกำไรแล้ว แถมมีตลาดรองรับอีกด้วย ล่าสุดเพิ่งเก็บไปรอบแรกได้ทั้งหมด 1.7 ตัน ขายส่งให้แม่ค้าในราคาลิโลละ 50 บาท เป็นเงิน 85,000 บาท (ขึ้นอยู่กับกลไกราคาของตลาดในช่วงนั้นๆ) ซึ่งการเพาะเห็ดแต่ละครั้งจะเก็บได้ 4 รอบโดยประมาณ ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของเห็ดด้วย คาดโรงเห็ด โรงนี้จะเก็บได้ประมาณ 2.5 ตัน
หากพูดถึงเสน่ห์ที่เห็นจากฟาร์มเห็ด คงจะเป็นการช่วยเหลือกันของคนในชุมชน รวมถึงญาติพี่น้อง เมื่อถึงคราวที่เห็ดพร้อมเก็บไปขาย ทุกคนก็จะเรียกกันมาช่วยเก็บ โดยไม่มีการว่าจ้างแต่อย่างใด ถึงมีก็ส่วนน้อย เป็นการ “เอาแรง” ช่วยกัน เมื่อเก็บเห็ดฟาร์มนี้เสร็จ ครั้งต่อไปก็ออกไปช่วยอีกฟาร์มหนึ่ง หมุนเวียนเปลี่ยนกันจนครบทุกคน และเมื่อเก็บเสร็จเรียบร้อยเจ้าของฟาร์มยังแบ่งเห็ดให้คนที่มาช่วยได้นำไปประกอบอาหารอีกด้วย แถมพอตอนเย็น เจ้าของฟาร์มก็จะทำอาหาร เลี้ยงผู้ที่มาช่วยงาน ล้อมวงทานอาหารร่วมกัน ถือเป็นการตอบแทนเล็กๆน้อยๆ
แต่สิ่งเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นความสุขทางใจอีกอย่างเลยก็ว่าได้กับการใช้ชีวิตในชนบทแบบนี้ ดั่งคำที่เคยกล่าวในข้างต้นไว้ว่า “...สุขใดเล่าจะเท่าบ้านเรา...”