กนอ.เร่งสมาร์ทปาร์ค ดึงเงินลงทุน5.3หมื่นล้าน

กนอ.เร่งสมาร์ทปาร์ค  ดึงเงินลงทุน5.3หมื่นล้าน

กนอ.เร่งแผนนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค จ.ระยอง เริ่มพัฒนาต้นปี 2564 หวังดึงเงินลงทุน 5.3 หมื่นล้านบาท

เป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คือ การดึงดูดอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในอีอีซี เพื่อยกระดับการผลิตของประเทศไปสู่การผลิตสินค้ามูลค่าสูง รวมทั้งผลักดันให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง 

การที่จะดึงอุตสาหกรรมชั้นสูงให้เข้ามาลงทุนนั้น จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยเข้ามารองรับ ดังนั้น กนอ.จึงเร่งตั้งนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค เพื่อเป็นต้นแบบบนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เพื่อดึงการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย

สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า การพัฒนาโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค อ.เมือง จ.ระยอง มีความคืบหน้าต่อเนื่อง โดยนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้จะเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบที่ทันสมัย ทั้งทางด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ระบบการสื่อสาร ระบบการขนส่ง ระบบพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดเมืองอุตสาหกรรม เชิงนิเวศ เพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมในอนาคต หรือ New S-Curve

กนอ.ได้แบ่งเป็นลักษณะกลุ่มอุตสาหกรรม (Cluster) ซึ่งจะมีระบบรักษาความปลอดภัย และแนวกันชนด้วยพื้นที่สีเขียวซึ่งมีไม้ยืนต้นปลูกเป็นแนวรอบแต่ละคลัสเตอร์ สร้างความร่มรื่นต่อพื้นที่ มีการนำระบบไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภคลงใต้ดิน เพื่อความสวยงามทางด้านทัศนียภาพและความปลอดภัย มีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเตรียมพื้นที่ประกอบกิจการเชิงพาณิชยกรรม เพื่อเชื่อมโยงวิสาหกิจชุมชนสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของภูมิภาค

นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค มีพื้นที่ 1,383.76 ไร่ แบ่งเป็น

พื้นที่อุตสาหกรรม 621.55 ไร่

พื้นที่พาณิชยกรรม 150.54 ไร่

พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 373.35 ไร่

พื้นที่สีเขียวและกันชน 238.32 ไร่

มีมูลค่าการลงทุนของโครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์คประมาณ 2,370.72 ล้านบาท เพื่อรองรับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 299.70 ไร่ กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ 180.84 ไร่ กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 74.17 ไร่ และกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล 66.84 ไร่

159352147954

นอกจากนี้ นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์คมีข้อได้เปรียบเหนือนิคมอุตสาหกรรมแห่งอื่น ในประเด็นแหล่งผลิตวัตถุดิบเม็ดพลาสติกขนาดใหญ่ในอีอีซี ซึ่งทำให้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนสูงสุด มีสถานีระบบขนส่งมวลชนทางรางเชื่อมต่อหน้าโครงการ สะดวกด้วยระบบคมนาคมขนส่งทางน้ำ และอากาศ มีระบบโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ ที่ช่วยลดต้นทุนการใช้พลังงาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

“นิคมฯนี้อยู่ภายใต้การกำกัดดูแลของ กนอ.ที่จะเข้าไปช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อประสานงานการขอใบอนุมัติอนุญาตต่างๆ กับหน่วยงานราชการ”

สำหรับผลประโยชน์ที่ได้จากโครงการนี้ จะช่วยเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรม 53,000 ล้านบาท ส่วนผลที่เกิดจากการจ้างงานเพิ่มในช่วงของการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะเกิดการจ้างงาน 200 คน ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในชุมชน 23.7 ล้านบาทต่อปี

หากเปิดนิคมอุตสาหกรรมและมีการลงทุนตั้งโรงงานเต็มพื้นที่แล้ว จะเกิดการจ้างงาน 7,459 คน การจ้างงานจะส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ 1,342 ล้านบาทต่อปี (คิดอัตราฐานเงินเดือนขั้นต่ำเดือนละ 15,000 บาท)

“แม้ว่านิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้มีพื้นที่ไม่มากแต่สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าสูงมาก เพื่อเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง" 

รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทย และยกระดับผู้ผลิตซัพพลายเชนคนไทยให้ก้าวไปสู่การผลิตสินค้าที่ไฮเทค ที่มีความแม่นยำและมาตรฐานสูง จึงก่อให้เกิดประโยชน์ให้กับประเทศชาติในระยะยาว เพราะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้จากการลงทุนในที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง