กมธ. CPTPP ขอต่อเวลา 60 วัน ไทยพลาดสมัครเจรจาส.ค.นี้
กรรมาธิการฯ CPTPP เตรียมเสนอสภาฯ ขอขยายเวลาทำงานอีก 60 วัน อ้างรายละเอียดมากต้องรอบคอบ ทำไทยไม่ทันส่งใบสมัคร 5 ส.ค.นี้ ด้าน “กรรณิการ์”ชี้ ไม่จำเป็นต้องรีบ ชี้หลายชาติแค่แสดงความสนใจไร้แผนยื่นใบสมัคร
นายวีระกร คำประกอบ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบขอขยายระยะเวลาในการศึกษาการเข้าร่วมสมาชิกซีพีทีพีพีของประเทศไทยออกไปอีก 60 วัน เนื่องจากกรอบระยะเวลาพิจารณา 30 วัน ซึ่งใกล้จะครบกำหนดแล้วช่วงต้นเดือนก.ค.นี้ นับจากวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การขอขยายเวลาพิจารณาออกไปเพราะมีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการ 3 คณะขึ้นมา เพื่อศึกษาในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องทั้งหมด พบว่าระยะเวลาดังกล่าวอาจจะไม่เพียงพอต่อการศึกษาข้อมูลต้องหมดอย่างรอบคอบ ดังนั้น คณะกรรมาธิการฯ จะเสนอเรื่องขอขยายเวลากับที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 10 ก.ค.2563 เพื่อขอขยายเวลาในการศึกษาออกไป
สำหรับการตั้งคณะอนุกรรมาธิการ 3 คณะ ขึ้นมาเพื่อศึกษาในประเด็นหลัก คือ 1.ด้านเศรษฐกิจ 2.ด้านเกษตร และ 3.ด้านสาธารณะสุข ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของพันธุ์พืช ซึ่งมีผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากและประเทศไทยก็เป็นประเทศเกษตรกรรม และเพื่อศึกษาให้เกิดความรอบคอบมากที่สุด
ห่วงข้าว-แรงงาน-ยา-ต้องรอบคอบ
รวมทั้งคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าจำเป็นต้องศึกษาและหาข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากมีเจรจาเข้าร่วมเป็นสมาชิก ประเทศไทยสามารถไม่นำพืชบางชนิดเข้าร่วมเจรจาได้หรือไม่ เช่น ข้าว หรือแม้กระตั้งการเคลื่อนย้ายแรงงานในอาชีพสำคัญ การตั้งสหภาพแรงงาน การเข้าถึงยา ซึ่งมีหลายประเด็นที่จะต้องลงลึกในรายละเอียด การขยายเวลาศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญ
“หากสภาฯเห็นชอบขยายเวลาออกไป คณะอนุกรรมาธิการทั้ง 3 คณะ จะต้องดำเนินการศึกษาผลกระทบ ประโยชน์ในรายละเอียดมากขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ"
ทั้งนี้ ภายหลังครบกำหนดขยายเวลา 60 วันทางคณะกรรมาธิการฯ จะเสนอผลของข้อสังเกตทั้งหมดต่อสภาฯพิจารณา หากไม่มีข้อสงสัยจะนำข้อมูลที่ได้เสนอต่อรัฐบาลเพื่อพิจารณาตัดสินใจต่อไป
นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ยังมีประเด็นที่จำเป็นต้องศึกษาและลงในรายละเอียดอีกมาก โดยเฉพาะการตีความในข้อบทต่างๆ เพราะมองว่าสามารถตีความได้หลายแบบ เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งการตีความพันธุ์พืชยังไม่ชัดเจน ซึ่งอาจจะต้องศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมในการเข้าร่วม UPOV 1991
หลายประเทศยังไม่ส่งในสมัคร
นอกจากนี้ ปัจจุบันยังพบว่ายังไม่มีประเทศใดขอเข้าร่วมสมาชิกซีพีทีพีพี แม้กระทั่งอังกฤษประกาศว่าสนใจ แต่ยังไม่ได้เดินหน้าเข้าร่วมในตอนนี้ ซึ่งมองว่าหลายประเทศที่สนใจก็ยังอยู่ในสถานะที่สนใจเข้าร่วมเท่านั้น ยังไม่มีใครขอเข้าร่วมในตอนนี้ ซึ่งประเทศไทยเองก็อยู่ในสถานะเดียวกันกับหลายประเทศ
ดังนั้น มองว่ารัฐบาลควรที่จะฟังความคิดเห็นอย่างครบถ้วนรอบด้านก่อนการพิจารณาและตัดสินใจ อาจจะต้องรอก่อนก็ได้หากการดำเนินการไม่ทันการประชุมรัฐมนตรีสมาชิกซีพีทีพีพี ในวันที่ 5 ส.ค. 2563 ที่เม็กซิโก เพราะต้องการให้ประเทศไทยได้ข้อสรุปและความคิดเห็นอย่างรอบด้านภายในก่อน เพื่อพิจารณาตัดสินใจจะเข้าร่วมหรือไม่
นอกจากนี้ ยังมองว่าผลการศึกษาผลดีในการเข้าร่วมยังไม่ครบถ้วนรอบด้าน ขาดในเรื่องของการส่งออกภาคบริการ การลงทุน การแข่งขัน ซึ่งเล็งเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องศึกษาในรายละเอียดให้มากกว่านี้ก่อนการตัดสินเข้าร่วมสมาชิกของประเทศไทย
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาฯซีพีทีพีพี ที่ได้รับแต่ตั้งเมื่อ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา ด้วยจำนวนคณะกรรมการ 49 คน จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้มีการประชุมสัปดาห์ละ 2 วัน เพื่อให้ได้ข้อสรุปตามเงื่อนไขการกำหนดระยะเวลาพิจารณาศึกษาไว้ 30 วัน หรือต้องให้แล้วเสร็จภายในต้นเดือนก.ค.นี้ หากไทยมีมติร่วมการเจรจาจะสามารถส่งเรื่องขอเข้าร่วมการเจรจาผ่านการพิจารณาของการประชุม CPTPP Commission ที่มีกำหนดปีละ 1 ครั้ง
เปิดขั้นตอนสมัครเจรจา
โดยปี 2563 จะจัดขึ้นในวันที่ 5 ส.ค.นี้ หากปีนี้ไทยส่งในสมัครไม่ทันสามารถรอปีหน้าได้ แต่เบื้องต้น มีประเทศต่างๆแสดงความจำนงขอร่วมวงเจรจาด้วย ได้แก่อังกฤษ, จีน, เกาหลีใต้, อินโดนีเซีย
ปัจจุบันซีพีทีพีพีเป็นข้อตกลงที่เจรจาเสร็จสิ้น และมีผลบังคับใช้ไปแล้วสำหรับสมาชิกตั้งต้น ทั้ง 11 ประเทศ ยกเว้น 4ประเทศยังไม่ให้สัตยาบัน ได้แก่ เปรู ชิลี บรูไน มาเลเซียส่วนที่ลงนาม ให้สัตยาบันและมีผลบังคับใช้แล้ว ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เม็กซิโก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เวียดนาม
สำหรับขั้นตอนการขอร่วมเจรจาซีพีทีพีพี หากไทยสนใจร่วมเจรจา ก็ต้องยื่นหนังสือขอเจรจาต่อนิวซีแลนด์ จากนั้น ก็จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการสมาชิก CPTPP หรือ CPTPP Commission พิจารณาและเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานซีพีทีพีพีเพื่อเจรจากับไทยซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะหารือกันเรื่องข้อผูกพันและต่อรองข้อยกเว้นและความยืดหยุ่น รวมถึงระยะเวลาปรับตัวที่เหมาะสม จนได้ข้อสรุปร่วมกันสองฝ่าย จากนั้น นำผลการเจรจาไปเสนอต่อคณะทำงานซีพีทีพีพี เพื่อเสนอต่อให้ CPTPP Commission หากเห็นชอบผลการเจรจาก็จะจบขั้นตอนนอกประเทศ ซึ่งยังไม่มีผลพูกพันจนกว่ารัฐสภาจะให้สัตยาบัน และไทยสามารถถอนตัวได้ในทุกขั้นตอน