เสริมผู้ประกอบการอัญมณี เน้นขายออนไลน์สู้โควิด-19
เผยอุตสาหกรรมด้านอัญมณีและเครื่องประดับมีอัตราเติบโตสูง ผอ.GIT ระบุ โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ฐานลูกค้าต่างชาติหาย รุกเปิดแพลตฟอร์ม GIT goes online อัพความรู้ ยกระดับผู้ประกอบการและช่างฝีมือ รับมือกับวิถีชีวิตใหม่ ขายออนไลน์
"ดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ หรือ GIT" เปิดเผยว่า จากกรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ทั้งที่ในแต่ละปีอุตสาหกรรมด้านนี้มีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง อย่าง ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วงระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2563 เพิ่มสูงกว่า 1.08 เท่า หรือมีมูลค่า 9,579.95 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 1 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.79 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย โดยเป็นผลจากการส่งออกทองคำฯ ในสัดส่วนราวร้อยละ 80 ได้เพิ่มสูงกว่า 3.86 เท่า อันเนื่องมาจากการทำกำไรจากส่วนต่างของราคา
ในจังหวะที่ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เมื่อหักทองคำฯ ออก การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 1,984 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 34.80 เพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลุกลามไปทั่วโลก ส่งผลให้ผู้ประกอบการซึ่งมีฐานลูกค้าเป็นชาวต่างชาติหายไป ผู้ประกอบการหลายรายกำลังประสบปัญหาไม่มีรายได้ ธุรกิจกำลังย่ำแย่
“เมื่อขายผ่านหน้าร้านไม่ได้ สถาบัน ได้มีการอบรมให้ความรู้ผู้ประกอบการ ทั้งด้านการตลาด และส่งเสริมให้เน้นการขายออนไลน์มากขึ้น ซึ่งการขายออนไลน์ต้องอาศัยข้อมูลตามข้อเท็จจริง มีความโปร่งใสในการซื้อขาย ทอง อัญมณีของแท้ ของสังเคราะห์ก็ต้องระบุให้แก่ผู้ซื้ออย่างชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ซื้อ" ดวงกมลกล่าว
อีกทั้งทางสถาบันมีบริการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับ โดยจะออกใบรับรองผล (แบบย่อ) ในราคาพิเศษ และยังรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปที่มีอัญมณีและเครื่องประดับสามารถนำมาตรวจสอบเพื่อออกใบรับรองยืนยันว่าอัญมณีที่มีอยู่นั้นเป็นของแท้ และมีมูลค่า สามารถใช้เป็นหลักประกันในภาวะเศรษฐกิจผันผวน รวมทั้งสามารถนำไปส่งต่อให้กับลูกหลานในรูปแบบ มรดกต่อไปได้อีกด้วย”
ตลอดช่วงเกิดโควิด-19 สถาบัน ซึ่งมีผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกกว่า 1,000 คน ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการผ่านโครงการ/กิจกรรมต่างๆ อาทิ GIT goes online เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับให้เรียนรู้และปรับตัวรับมือกับสถานการณ์วิถีชีวิตใหม่ที่เกิดขึ้น รวมถึงต้องมุ่งสู่ตลาดออนไลน์มากขึ้น
เปิด Carat Mobile Application แพลตฟอร์มให้คำปรึกษาทุกเรื่องเกี่ยวกับอัญมณีและเครื่องประดับผ่านออนไลน์แอพพลิเคชั่น ที่จะมีทีมผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาและ ข้อเสนอแนะทางด้านต่างๆ เช่น เทคนิคการตรวจวิเคราะห์อัญมณีโลหะมีค่า กระบวนการผลิต และระบบมาตรฐานในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงเพื่อเป็นการลดข้อจำกัดด้านการเดินทาง และดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล
นอกจากนั้น ยังช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในภูมิภาค โดยต้องยกระดับของคุณภาพสินค้า นำอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของแต่ละพื้นที่มาเป็นจุดขายเชื่อมโยงเข้ากับการท่องเที่ยว รวมถึงเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน
รวมถึงที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ทำโครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในส่วน ภูมิภาคใน 15 จังหวัด 6 ภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่ น่าน แพร่ สุโขทัย นครราชสีมา สุรินทร์ จันทบุรี ตราด ตาก กาญจนบุรี เพชรบุรี ภูเก็ต พังงา สตูล นครศรีธรรมราช มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมภายใต้โครงการนี้กว่า 1,300 ราย ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพได้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมฝึกอบรมปฎิบัติการเชิงลึก 74 ราย นำไปสู่การร่วมผลิต ชิ้นงานเครื่องประดับต้นแบบได้กว่า 30 คอลเลคชั่น
ทั้งนี้ โครงการของสถาบัน GIT สามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 25% อีกทั้งผู้ประกอบการ ยังได้รับองค์ความรู้ด้าน Storytelling ไปใช้บอกเล่าเรื่องราวสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้า ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักออกแบบมืออาชีพ/ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ รวมถึงการเจรจาธุรกิจกับผู้ซื้อทั้งในและต่างชาติจากการเข้าร่วมออกบูธจำหน่ายสินค้าในงานต่างๆ