สัมพันธ์สหรัฐ-จีน 'เดินหน้าสู่ความมืด'
นักวิเคราะห์เผยความสัมพันธ์ระหว่าง "จีน" กับ "สหรัฐ" 2 เขตเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลก อาจเลวร้ายต่อไป เมื่อทั้ง 2 ประเทศส่งสัญญาณต่างฝ่ายต่างเตรียมความพร้อมสู้กันหลากแนวรบ
ท็อด มาริอาโน ผู้อำนวยการแผนกสหรัฐจากบริษัทวิเคราะห์ยูเรเซียกรุ๊ป เผยในรายการ “Squawk Box Asia” ทางสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี เมื่อวันพฤหัสบดี (2 ก.ค.) ตามเวลาท้องถิ่นว่า โอกาสที่สถานการณ์บานปลายมีมาก ในทัศนะของเขาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนยังไม่ถึงจุดที่มืดมิดที่สุด
“เราเห็นการเคลื่อนย้ายไปสู่แนวรบเทคโนโลยีและการส่งออกมากขึ้น ผมคิดว่า สัญญาณอันน่ากลัวคือทั้ง 2 ประเทศกำลังต่อสู้หรือเตรียมการต่อสู้ในหลายในแนวรบ”
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศมุ่งเน้นเรื่องความไม่สมดุลทางการค้า และการแข่งขันกันทางเทคโนโลยี นำไปสู่การเก็บภาษีตอบโต้กันไปมาทำให้เศรษฐกิจโลกสะดุด
ช่วงไม่กี่เดือนหลัง สหรัฐและจีนกล่าวหากันขยายวงออกไปอีกหลายประเด็น เช่น ต้นกำเนิดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และความเป็นอิสระของฮ่องกง
“ฮ่องกง” ศูนย์กลางธุรกิจการเงินที่สำคัญของเอเชีย เป็นดินแดนปกครองตนเองของจีน ที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าเป็นพิเศษกับสหรัฐ แต่วอชิงตันเริ่มตัดสิทธิพิเศษของฮ่องกงตามกฎหมายสหรัฐ หลังจากปักกิ่งออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่กระชับอำนาจในการควบคุมฮ่องกง
ไม่เพียงเท่านั้น การที่จีนขยายโครงการริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (บีอาร์ไอ) และแสดงท่าทีเด็ดขาดในทะเลจีนใต้ ล้วนเพิ่มความตึงเครียดกับสหรัฐ
บีอาร์ไอเป็นโครงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่นักวิเคราะห์และนักวิจารณ์หลายคนมองว่าเป็นวิธีที่จีนใช้ขยายอิทธิพลไปทั่วโลกผ่านการปล่อยเงินกู้ ส่วนทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางการค้าสำคัญของโลก ที่ปักกิ่งอ้างกรรมสิทธิเหนือดินแดนส่วนใหญ่ทับซ้อนกับหลายๆ ประเทศ
“เมื่อความขัดแย้งขยายวงกว้างเช่นนี้ ผมคิดว่าบั่นทอนความสามารถของรัฐบาลที่จะจำกัดวงหรือแก้ไขความตึงเคียดของปัญหาเหล่านี้ได้” มาริอาโนกล่าว
เหล่านักวิเคราะห์เตือนด้วยว่า เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในเดือน พ.ย.นี้ เขาอาจใช้วาจาและการกระทำร้อนแรงกับจีนมากขึ้นเพื่อเรียกคะแนน
วิลเลียม เรนช์ ที่ปรึกษาอาวุโส จากศูนย์ยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา มองว่า ถ้าทรัมป์ได้รับเลือกตั้งกลับมาอีกสมัย ท่าทีของวอชิงตันต่อปักกิ่งจะเหมือนเดิม แต่จะดุดันเป็นอันตรายมากขึ้น เผลอๆ อาจขึ้นภาษีอีกก็ได้ กระนั้นปักกิ่งอาจจะอยากให้ทรัมป์มีชัยเหนืออดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต
“ผมถามนักธุรกิจชาวอเมริกันในจีนหลายคน พวกเขาตอบเหมือนกันว่า จีนอยากให้ทรัมป์ชนะเลือกตั้งอีกสมัยมากกว่า พวกเขาเชื่อว่าจีนคิดว่า ความเสียหายที่ทรัมป์ทำกับพันธมิตรตะวันตก มากยิ่งกว่าความเสียหายที่ทรัมป์ทำให้จีน ดังนั้นผลลัพธ์สุทธิจีนดีกว่า” เรนช์ตอบคำถามที่ว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง อยากให้ใครเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไป
นับตั้งแต่รับตำแหน่งในปี 2560 แนวทาง “อเมริกาต้องมาก่อน” ของทรัมป์ได้โดดเดี่ยวสหรัฐออกจากพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดบางประเทศ ประธานาธิบดีขู่ขึ้นภาษีจากสหภาพยุโรป ยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านที่พันธมิตรเก่าแก่ เช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนี ล้วนสนับสนุน
เดือนก่อน สหรัฐอนุมัติแผนถอนทหารสหรัฐราว 9,500 นายออกจากเยอรมนี หลังประธานาธิบดีทรัมป์โอดครวญว่า เยอรมนีไม่ยอมจ่ายเงินให้องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) พันธมิตรทางทหารระหว่าง 30 ประเทศในยุโรปและอเมริกาเหนือ
“เขาสร้างความขุ่นเคืองให้กับพันธมิตร เขากำลังเสียเพื่อน นั่นทำให้จีนมีโอกาสในยุโรปและส่วนอื่นๆ ของโลกอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” นักวิเคราะห์สรุป
ส่วนสัญญาณที่ส่อให้เห็นว่าไบเดนกำลังมาแรงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปีนี้คือ ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ทั้งไบเดนคณะกรรมการบริหารพรรคเดโมแครต และนักระดมทุนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องระดมทุนได้ 141 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นเดือนที่ทำเงินได้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ มากกว่าทรัมป์และคณะกรรมการบริหารพรรครีพับลิกัน 10 ล้านดอลลาร์
ไตรมาส 2 ของปี 2563 ทั้ง 2 ค่ายทำเงินได้มากเป็นประวัติการณ์ ไบเดนเหนือกว่าที่ 281.1 ล้านดอลลาร์ ส่วนทรัมป์ทำได้ 266 ล้านดอลลาร์
“เงินที่ได้หมายความว่า เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันแล้วที่เราระดมทุนแซงหน้าทีมหาเสียงโดนัลด์ ทรัมป์ ชี้ให้เห็นว่าคนรากหญ้ากระตือรือร้นอยากเลือกโจ ไบเดน” เจน โอมอลลีย์ ดิลลอน ผู้จัดการทีมหาเสียงของไบเดนกล่าว โดย 68% ของคนที่บริจาคให้ไบเดนในเดือน มิ.ย. เป็นผู้บริจาครั้งแรก และเดือน มิ.ย.เป็นเดือนที่ไบเดนได้เสียงตัวแทนมากพอกลายเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตลงเลือกตั้งประธานาธิบดี