‘หุ้นแบงก์’ ยังไร้เสน่ห์ ยืดหนี้ 2 ปี กระทบแคชโฟลว์
การระบาดของโควิด-19 ถือเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่สร้างความเสียหายมากที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ หลายหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนต่างเห็นตรงกันว่ารอบนี้สาหัสยิ่งกว่าต้มยำกุ้ง
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัวติดลบถึง 8.1% ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ เทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้งที่เศรษฐกิจปี 2541 ติดลบไป 7.6% เนื่องจากโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทุกเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ
ขณะที่การบริโภคในประเทศ การลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐชะลอตัวตามไปด้วย กระทบถึงการจ้างงาน โดยคาดการณ์กันว่าจะมีคนไทยตกงานหลายล้านคน เพราะเมื่อไม่มีกำลังซื้อ กิจกรรมกิจการต่างๆ ต้องหยุดชะงัก ภาคธุรกิจขายของไม่ได้ ทำให้ขาดสภาพคล่อง ต้องปรับลดขนาดองค์กร ปลดคน ปลดพนักงาน หนักสุดถึงขั้นต้องปิดกิจการไปเลยก็มีไม่น้อย
โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยกลุ่มเอสเอ็มอีที่สายป่านสั้น แม้ที่ผ่านมาจะมีหลายมาตรการออกมาช่วยเหลือ ทั้งซอฟท์โลนของแบงก์ชาติวงเงินสูงถึง 5 แสนล้านบาท แต่ปรากฏว่าขณะนี้สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพียงกว่า 9 หมื่นล้านบาท เท่านั้น เพราะแบงก์พาณิชย์เข้มงวดมาก แต่ละธนาคารมีกฎระเบียบปลีกย่อยอีกเยอะกว่าจะกู้ได้ เนื่องจากกังวลว่าจะกลายมาเป็นหนี้เสีย
นอกจากนี้ แบงก์ชาติสั่งให้แบงก์พาณิชย์ช่วยลูกหนี้เพิ่มเติม ด้วยการลดดอกเบี้ย ปรับโครงสร้างหนี้ ยืดหนี้ พักหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ตั้งแต่ 3-6 เดือน เริ่มมาตั้งแต่เดือน เม.ย. และได้ทยอยสิ้นสุดลงเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ไปจนถึงเดือน ก.ย.นี้
แต่ดูเหมือนว่ามาตรการที่ออกมาอาจยังไม่เพียงพอ แม้ขณะนี้การระบาดของโควิด-19 ในประเทศจะคลี่คลายลงมาก นำมาสู่การปลดล็อกเฟสที่ 5 กิจการกิจกรรมต่างๆ กลับมาเปิดให้บริการเกือบหมดแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่ากำลังซื้อจะฟื้นตัวในทันที จึงเป็นที่มาให้ภาคเอกชนเรียกร้องให้แบงก์พักหนี้ออกไปอีก 2 ปี
โดยล่าสุด ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ออกมารับลูกโดยมอบหมายให้คลังและแบงก์ชาตินำข้อเสนอของเอกชนไปพิจารณาเพื่อหาระยะเวลาที่เหมาะสม คาดว่าในไม่ช้านี้น่าจะได้ข้อสรุป รวมทั้ง การผ่อนคลายเงื่อนไขการปล่อยซอฟท์โลนเพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น และครอบคลุมไปถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีสินเชื่อคงค้างมากกว่า 500 ล้านบาท แต่ปัจจุบันไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ซึ่งก็มีอยู่ไม่น้อย
แน่นอนว่ามาตรการอุ้มลูกหนี้ที่ออกมานี้ ส่งผลโดยตรงต่อการทำธุรกิจของแบงก์พาณิชย์จากรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลง หลังมีการลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยลูกค้า ส่วนการยืดระยะเวลาจ่ายหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยมองได้หลายมุม ระยะสั้น 3-6 เดือน ดูเหมาะสมกับสถานการณ์ เพราะเป็นช่วงที่เดือดร้อนหนัก ซึ่งหากไม่มีมาตรการเข้ามาช่วยหนี้เสียคงพุ่งขึ้นอย่างน่าตกใจ
โดยขณะนี้แนวโน้มหนี้เสียยังไม่ปรากฏ จนกว่าจะหมดเวลายืดหนี้ ดังนั้น หากไม่มีการต่อเวลาช่วยเหลือออกไป ไตรมาส 4 ปี 2563 คงได้เห็นหนี้เสียเร่งตัวขึ้น มีโอกาสติดลบถึง 2 หลัก เทียบกับช่วงไตรมาส 1 ที่มีสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมทั้งระบบ 3.05%
เพราะยังไม่สามารถมั่นใจได้ว่าลูกหนี้ที่ขอเข้ารับการช่วยเหลือทางการเงินจากแบงก์พาณิชย์รวม 16.36 ล้านราย ณ วันที่ 15 มิ.ย. 2563 หรือ คิดเป็นมูลหนี้รวม 6.84 ล้านล้านบาท จะสามารถกลับมาจ่ายหนี้ทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นได้หรือไม่ ถือเป็นความเสี่ยงที่แบงก์ต้องรับไป
ในทางตรงข้ามหากสุดท้ายแล้วมีการยืดพักชำระหนี้ออกไปอีก 2 ปี ตามข้อเสนอของเอกชนจริง จะส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดของแบงก์ เพราะแทบไม่มีเงินสดเข้ามาเลย ดังนั้น ยิ่งเวลายืดหนี้นานขึ้น ธนาคารยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะขาดสภาพคล่อง แม้ปัจจุบันฐานะการเงินจะแข็งแกร่งมากก็ตาม
ดูแล้วแบงก์ปีนี้ยังเหนื่อย สินเชื่อก็ไม่โต เก็บหนี้ก็ไม่ได้ รายได้จากค่าธรรมเนียมก็มีแนวโน้มลดลง ทั้งจากการขายประกัน ่การใช้บัตรเครดิต งบฯ ไตรมาส 2 ปี 2563 ที่จะทยอยประกาศออกมาในช่วงกลางเดือน ก.ค. นี้ คงไม่สดใส แถมยังโดนแบงก์ชาติแตะเบรกงดจ่ายปันผลงวดครึ่งปี เพื่อรักษาความแข็งแกร่งของเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ยิ่งทำให้หุ้นกลุ่มแบงก์ดูไร้เสน่ห์ยิ่งไปอีก