รฟท.ยื่นศาลปกครอง เพิกถอนจดทะเบียน 'โฮปเวลล์' หวังสัญญาสัมปทานโมฆะ
ร.ฟ.ท.ยื่นฟ้องเพิกถอนจดทะเบียนบริษัทโฮปเวลล์ ลุ้นศาลปกครองกลางนัดไต่สวนใน ก.ค.นี้ ย้ำชัดขัดกฎหมายประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ชี้หากชนะคดี ทำสัญญาเป็นโมฆะ “พาณิชย์” ยันจดทะเบียนบริษัทเป็นไปตามขั้นตอน 30 ปีที่แล้ว
นายนิรุตม์ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยความคืบหน้าคดีระหว่าง ร.ฟ.ท.กระทรวงคมนาคม และบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยระบุว่า ร.ฟ.ท.ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เนื่องจากพบว่าเป็นการจดทะเบียนไม่ถูกข้อกฎหมาย โดยศาลปกครองกลางได้รับคำร้องดังกล่าวแล้วและอยู่ระหว่างนัดวันไต่สวน
“คดีโฮปเวลล์ เราจะต่อสู้ให้ถึงที่สุด จะดำเนินการอย่างเต็มที่ โดยจะต่อสู้คดีไม่มีถอย ส่วนที่ก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์อาจจะตัดสินว่าโฮปเวลล์จดทะเบียนไม่ผิดข้อกำหนด ถูกกฎหมายไปแล้ว เรื่องนี้เราก็ต้องสู้ตามขั้นตอน ขอรอคำสั่งศาลว่าจะวินิจฉัยอย่างไร”
รายงานข่าวจาก ร.ฟ.ท.ระบุว่า ร.ฟ.ท.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ตรวจสอบการจดทะเบียนของบริษัทโฮปเวลล์ไปเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2563 โดยเป็นการยื่นฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทะเบียน คือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนย้อนหลังของโฮปเวลล์ โดยขอให้เพิกถอนตั้งแต่ปี 2533 ที่เป็นปีของการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท
สำหรับมูลเหตุการขอให้ศาลพิจารณาเพิกถอนการจดทะเบียนครั้งนี้ เพราะตรวจสอบพบโฮปเวลล์ขาดคุณสมบัติตามกฎหมาย โดยการจดทะเบียนมีนิติบุคคลต่างชาติเป็นเจ้าของกิจการขัดกฎหมายของไทยขณะนั้น
หากศาลมีคำสั่งให้กระทรวงพาณิชย์เพิกถอนการจดทะเบียน จะทำให้สัญญาระหว่าง ร.ฟ.ท.กระทรวงคมนาคม และโฮปเวลล์ เป็นโมฆะทันที และการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจะไม่เป็นผล ทั้งนี้ตามกระบวนการศาล เมื่อรับคำร้องแล้ว คาดว่านัดวันไต่สวนภายใน 30 วัน หรือภายในเดือน ก.ค.นี้
ทั้งนี้ กรณีการจดทะเบียนของบริษัทโฮปเวลล์เข้าข่ายขัดต่อกฎหมาย ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และขัดต่อระเบียบสำนักงานทะเบียน หุ้นส่วนบริษัท ว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท เพราะการทำธุรกิจของคนต่างด้าวในขณะนั้น จะต้องได้รับการเห็นชอบออกเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ไม่ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกา ทำให้บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ขาดคุณสมบัติที่เข้าทำสัญญาสัมปทาน
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่ากรณีที่ ร.ฟ.ท.จะยื่นฟ้องกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรณีเป็นนายทะเบียนรับจดทะเบียนบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด นั้น กระทรวงพาณิชย์ได้แจ้งก่อนหน้านี้แล้วว่าการรับจดทะเบียนเป็นไปตามขั้นตอนเมื่อ 30 ปีที่แล้ว
รวมทั้ง และไม่อยากให้นำบริบทข้อกฎหมายเก่ามาเปรียบเทียบกับปัจจุบัน เพราะมีข้อยกเว้นและเงื่อนไขและเหตุผลที่ต่างกัน แต่เข้าใจว่าน่าจะเป็นความพยายามหาช่องทางที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศให้มากที่สุด หากยื่นฟ้องกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก็เป็นเรื่องที่ต้องชี้แจงตามข้อมูลที่มี
ก่อนหน้านี้วันที่ 22 พ.ย.2562 ร.ฟ.ท.ทำหนังสือถึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อให้ตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เพราะคณะทำงานที่ ร.ฟ.ท.และกระทรวงคมนาคมตั้งขึ้น ตรวจสอบพบบริษัทดังกล่าวจดทะเบียนไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจมีผลให้สัญญาร่วมทุนโครงการโฮปเวลล์เป็นโมฆะ และกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วพบว่า“การจดทะเบียนเป็นไปตามกฎหมาย
ทั้งนี้ ประเด็นการตรวจสอบประกอบด้วยการนำข้อมูลการจดทะเบียนเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา โดยพิจารณาวัตถุประสงค์การประกอบธุรกิจของบริษัทที่อยู่ในบัญชีแนบของ ปว.281 ถ้าจะดำเนินธุรกิจต้องได้รับอนุญาตเป็นการเฉพาะจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)
และประเด็นสถานะของบริษัททั้งโฮปเวลล์ โฮลดิ้งจากเขตปกครองพิเศษฮ่องกง และบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ที่เป็นบริษัทต่างด้าวที่ต้องการมาทำธุรกิจในไทยตามกฎหมายไทย คือ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ต้องขออนุญาตทำธุรกิจ แต่บริษัทดังกล่าวจดทะเบียนตามกฎหมายคณะปฎิวัติ 281 ทำให้ต้องพิจารณารายละเอียดช่วงรอยต่อข้อกฎหมายดังกล่าวด้วย ซึ่งทุกอย่างต้องดำเนินการอย่างถูกต้องครบถ้วน
อย่างไรก็ตาม ร.ฟ.ท.นำหลักฐานไปยื่นศาลปกครองวินิจฉัย โดยหลักฐานที่คณะทำงานของกระทรวงคมนาคมตรวจสอบพบ และยื่นให้ศาลปกครองวินิจฉัยมี 2 ประเด็น คือ
1.บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จัดตั้งบริษัทขึ้นขัดต่อกฎหมายเนื่องจากทำธุรกิจผิด ปว.281 ว่าด้วยเรื่องของการขออนุญาตทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับกิจการขนส่ง ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจาก ครม.แต่คณะทำงานตรวจสอบพบว่ามติ ครม.ขณะนั้น ไม่ได้อนุญาตเรื่องการยกเว้น ปว.281 มีเพียงมีมติอนุมัติให้ 2 เรื่อง คือ การยกเว้นภาษี และการส่งเสริมการลงทุน
2.มติ ครม.กำหนดให้บริษัทโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทฮ่องกง ลงนามสัญญา แต่บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) เข้ามาลงนามเป็นคู่สัญญาแทน ซึ่งผิดต่อมติ ครม.รวมทั้งโครงการร่วมทุน ไม่ควรลงนามแทนกันได้ การทำธุรกิจนิติบุคคลต้องขาดกัน