'อดีตปธ.สภาฯ' ชงการเมืองวิถีใหม่ พ้นสืบทอดอำนาจ
"อดีตปธ.สภาฯ" แนะการเมืองวิถีใหม่ พ้นสืบทอดอำนาจ จัดสรรที่มา "สส.-สว.-นายกฯ" โปร่งใส
เมื่อวันที่ 7 ก.ค.63 ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว Arthit Ourairat หัวข้อ “ข้อเสนอแนะการเมืองวิถีใหม่ NEW NORMAL สังคมธรรมาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” มีเนื้อหาดังนี้ “ข้อเสนอแนะการเมืองวิถีใหม่ NEW NORMAL สังคมธรรมาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพื่อให้การเมืองบ้านเราพ้นจากระบบอุปถัมภ์ ก๊วน แก๊งมาเฟียต่างๆ การใช้เงินทุ่มเทซื้ออำนาจ จนไม่คำนึงถึงหลักการประชาธิปไตย ที่อำนาจเป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน”
“โดยนักการเมือง ส.ส. รมต. จะพ้นจากการทำงานภายใต้การบงการของนายทุน และผู้อุปถัมภ์พรรคมากกว่าคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน จะเป็นจุดอ่อนให้เกิดเงื่อนไขการรัฐประหาร วนเวียนอยู่อย่างที่ผ่านมา”
สำหรับแนวคิดการเมืองวิถีใหม่ของ ดร.อาทิตย์ เช่น การเลือกตั้ง ส.ส. ให้มีจำนวน 500 คน ผู้สมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส.ในเขตเลือกตั้ง ต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น การเลือกนายกรัฐมนตรีให้กระทำโดยสภาผู้แทนราษฎร โดยผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องเป็น ส.ส. และเสนอชื่อกันเองในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับรองไม่น้อยกว่า 100 คน
และให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยให้เวลาคนละไม่เกิน 1 ชั่วโมง , ให้ ส.ส.ลงคะแนนเลือกผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี โดยวิธีลงคะแนนลับ , ผู้ได้รับการเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องได้คะแนนเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. ไม่น้อยกว่า 300 เสียง
กรณีต้องมีวุฒิสภา หลักการ คือ มีจำนวน 200 คน ให้มาจากหลากหลายสาขาวิชาชีพตามจำนวนที่กำหนด แล้วให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลือกเหลือ 200 คน โดยมีวุฒิสภา มีบทบาทเป็นสภากลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านมาจากสภาผู้แทนราษฎร เป็นสภานำเสนอแนวทางแก้ปัญหา หาทางออกของบ้านเมือง เป็นต้น