เอกชนเร่งรัฐเคลียร์ต่างชาติ ปม 'ลิงเก็บมะพร้าว' ลามส่งออก

เอกชนเร่งรัฐเคลียร์ต่างชาติ  ปม 'ลิงเก็บมะพร้าว' ลามส่งออก

ผู้ส่งออกมะพร้าว ชี้กรณีห้างฯอังกฤษแบนผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทย ระบุทารุณสัตว์ใช้ "ลิงเก็บมะพร้าว" หวั่นลามประเทศอื่น กระทบส่งออก“หมื่นล้าน” ชี้ส่วนใหญ่ใช้แรงงานคน เหตุเก็บผลผลิตได้มากกว่า ด้านสรท.เร่งรัฐชี้แจงต่างชาติ ก่อนบานปลาย

ประเด็นร้อนกระเทือนการค้าไทย และส่อเค้ากระทบการส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวเมื่อห้างค้าปลีกประเภทซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในสหราชอาณาจักร (อังกฤษนำกะทิกล่องและผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวไทยออกจากชั้นวาง(เชลฟ์) โดยระบุว่าไทยใช้แรงงานลิงมาฝึกเก็บมะพร้าว เป็นการทารุณสัตว์ ผู้ประกอบการไทยวอนรัฐเร่งแจงต่างประเทศ ก่อนลุกลามไปประเทศอื่น

นายเกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า จากกรณีดังกล่าว หากไม่ได้รับการแก้ปัญหาโดยเร็ว ปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อ อาจลามไปสู่การระงับหรือแบนการขายผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากในเป็นวงกว้างในยุโรป และประเทศอื่น เช่น สหรัฐ ออสเตรเลีย

ทั้งนี้ การแบนสินค้ามะพร้าวไทยโดยนำข้ออ้างการใช้ลิงเก็บมะพร้าวมาเป็นประเด็น เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน แต่เหตุการณ์ไม่รุนแรงเท่านี้ ประกอบกับตัวแทนจำหน่ายสินค้าของไทยหรือของบริษัททราบเรื่องก่อน จึงได้หารือกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขได้รวดเร็ว ขณะที่ครั้งนี้ในฐานะที่เป็นบริษัทเอกชน สิ่งที่ดำเนินการได้คือการสื่อสารให้พันธมิตรคู่ค้าทราบว่าบริษัทไม่ได้ใช้ลิงในการเก็บมะพร้าว ใช้แรงงานคนเท่านั้น ซึ่งมีความสามารถในการเก็บมะพร้าวได้หลัก 1,000-2,000 ลูกต่อวัน

159418644072

เกรียงศักดิ์   เทพผดุงพร

++ชี้แทบไม่ใช้ลิงเก็บมะพร้าว

ขณะที่ภาพรวมการเก็บมะพร้าวโดยใช้ลิงในไทย ปัจจุบันเหลือน้อยมาก โดยชาวสวนส่วนใหญ่ไม่ได้เลี้ยงลิงเพื่อเก็บมะพร้าว แต่เลี้ยงและฝึกไว้เพื่อการแสดงซึ่งเป็นวิถีชีวิต และวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนไทย ที่สำคัญไม่ได้เลี้ยงแบบทรมาน ไม่ต่างจากการมีปางช้างหรือการเลี้ยงช้างทางภาคเหนือ ส่วนการใช้ลิงเก็บมะพร้าวอาจเกิดจากว่างงานแสดงโชว์ต่างๆ และการเก็บมะพร้าวโดยลิงทำได้เพียง 100-200 ลูกต่อวันเท่านั้น เพราะกว่าจะบิดให้มะพร้าวตกกินเวลาพอสมควร เทียบกับแรงงานคนใช้ขอเกี่ยวได้หลักพันลูกต่อวัน

เร่งรัฐชี้แจงต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทจะชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ให้พันธมิตรคู่ค้า และผู้บริโภคทราบ แต่น้ำหนักความเชื่อถืออาจน้อย เมื่อเทียบกับภาครัฐในฐานะตัวแทนประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการชี้แจง ซึ่งจะได้รับความเชื่อถือมากกว่า โดยกระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่ชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทราบ ส่วนกระทรวงเกษตรและสกรณ์จะต้องหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์กระบวนการเก็บมะพร้าวของไทยไม่ได้ทารุณสัตว์

สำหรับการแก้ปัญหากรณีที่ไทยถูกกล่าวหาว่า ใช้ลิงในการเก็บมะพร้าวและนำไปสู่การแบนสินค้ามะพร้าวจากไทย อาจเข้าข่ายเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ประเด็นดังกล่าวยังไม่ได้แตกต่างจากกรณีที่ประเทศไทยถูกสหภาพยุโรป (อียู) ให้ใบเหลืองหลัง กับไทยโดยระบุว่ามีปัญหาทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม(ไอยูยู) โดยมองว่าการแก้ไขปัญหาใช้ลิงเก็บมะพร้าวจะง่ายกว่าปัญหาประมง

++หวั่นลามสหรัฐ-ออสเตรเลีย

แม้เอกชนจะชี้แจง แต่ก็จะถูกมองว่าเป็นการแก้ตัวมากกว่า จึงต้องการให้รัฐ หน่วยงานระดับประเทศเข้ามาช่วยดำเนินการในเรื่องนี้โดยเร็ว นำหลักฐานมาชี้แจงให้ต่างประเทศทราบ เพราะหากลุกลามไปยังประเทศอื่นในยุโรป สหรัฐ ออสเตรเลีย จะกระทบการส่งออกมากขึ้น ส่วนตลาดกะทิที่ได้รับผลกระทบตอนนี้ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มร้านอาหาร ภัตตาคาร หรือแคทเทอริง” 

159418670336

++มูลค่าส่งออก1.2หมื่นล้าน

ทั้งนี้ แต่ละปีบริษัทเทพผดุงพรมะพร้าว และบริษัทในเครือมีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับมะพร้าวหลายรายการ เช่น กะทิ น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ วุ้นมะพร้าวในน้ำเชื่อม น้ำมะพร้าว ภายใตัแบรนด์ชาวเกาะแต่ละปีมียอดขายรวม 8,000-9,000 ล้านบาท และส่งออกสัดส่วนสูงถึง 60-70% โดยตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐ ออสเตรเลีย และยุโรปมีสัดส่วนยอดขายราว 15% ของตลาดส่งออกทั้งหมด

ขณะที่ภาพรวมไทยมีผู้ประกอบการทำตลาดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวหลักร้อยราย ส่วนผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กะทิมีอยู่ราว 10 ราย ด้านมูลค่าการส่งออกรวมอยู่ที่ระดับ 12,000 ล้านบาท ที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตราว 1 หลัก 

โดยสินค้าหลายอย่างได้รับความนิยมในต่างประเทศ เช่น น้ำมะพร้าวอ่อน เป็นที่ชื่นชอบของตลาดจีน ส่วนปี 2563 คาดการณ์ตลาดไม่เติบโต เนื่องจากได้รับผลกระทบหลายด้าน ล่าสุดการแบนผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวไทย โรคโควิด-19ระบาด และหนักสุดคือปีนี้รัฐไม่เปิดโควต้าให้นำเข้ามะพร้าวเสรี(เอฟทีเอ)จากประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งราคาขายส่งออกแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านลำบาก

++สรท.ชี้ไม่ใช่ทารุณสัตว์

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า กรณีดังกล่าวขณะนี้ยังไม่กระทบการส่งออกผลิตภัณฑ์กะทิไทย เพราะการแบนจำกัดในวงแคบ

การแบนกะทิไทยเป็นการรับข้อมูลข่าวสารด้านเดียว โดยการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเป็นวิถีชีวิตของชุมชน และลิงเป็นสัตว์เลี้ยงเหมือนสุนัข แมว หากมองว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ก็ไม่จะใช่เหตุผลในการแบนเพราะไทยมีกฎหมายการทารุณสัตว์ที่ก้าวหน้ากว่าหลายประเทศ หากพบว่าทารุณสัตว์จริงคงแจ้งความดำเนินคดีไปแล้วรวมทั้งการแบนกะทิและผลิตภัณฑ์กะทิจากไทย ทั้งที่ยังมีประเทศอื่นที่ส่งออกมะพร้าวใช้ลิงเก็บมะพร้าวเช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม แต่ทำไมไม่แบนสินค้าจากประเทศเหล่านี้

159418635197

วิศิษฐ์   ลิ้มลือชา

++เร่งรัฐแจงก่อนบานปลาย

ทั้งนี้ไม่แน่ใจว่าการแบนกะทิและผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวไทยจะเรื่องของการกีดกันทางการค้าหรือไม่ แต่ในวันนี้ (8 ..) กระทรวงพาณิชย์ได้นัดทุกฝ่ายหารือประเด็นการต่อต้านลิงเก็บมะพร้าวในไทย เพื่อหาแนวทางแก้ไข ซึ่งต้องรีบแก้ไขและสื่อสารเรื่องนี้ให้ถูกต้องโดยเร็วเพื่อไม่ให้ลุกลามไปประเทศนำเข้าอื่น

สำหรับการส่งออกกะทิและผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวในปี 2562 มีมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์ โดยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาการส่งออกกะทิและผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวขยายตัว 115% ซึ่งมีตลาดส่งออกสำคัญ คือ สหรัฐ ออสเตรเลีย อังกฤษ แคนาดา ซึ่งแต่ละประเทศมีสัดส่วนการนำเข้าใกล้เคียงกัน