หุ้น ‘โรงไฟฟ้า’ โชว์แกร่ง ไล่ช้อปสวนกระแสเศรษฐกิจ
หุ้นพลังงานทดแทนกลับเข้ามาอยู่ในความสนใจของนักลงทุนได้อีกครั้ง ท่ามกลางข่าวการเดินหน้าลงทุน และการรุกธุรกิจใหม่ๆ เพื่อนำกระแสเงินสดที่มีอยู่จำนวนมากเพิ่มการเติบโตให้กับธุรกิจ จึงทำให้ภาพที่เห็นในสัปดาห์นี้ คือการไล่ ‘ซื้อ’ สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจ
รายใหญ่ในธุรกิจนี้และมีการออกข่าวลงทุน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอจี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ที่ประกาศเข้าซื้อโครงการและลงทุนในช่วงเวลาไล่ๆ กันสูงถึง 30,000 กว่าล้านบาท จนทำให้ราคาที่นิ่งไปนานหลังแตกพาร์ใกล้เฉียดที่ราคา 40 บาท
จากการประกาศเข้าถือหุ้นในธุรกิจโฮลดิ้ง บริษัท อินทัช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH ในสัดส่วน 5 % มีการคาดการณ์ว่าน่าจะใช้เงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทประกาศชัดเจนว่าเป็นการเข้ามาลงทุนเพื่อบริหารพอร์ตและรับเงินปันผลที่น่าสนใจ 4-5 % ต่อปี
การลงทุนโครงการพลังงานลมที่เวียดนาม 100 เมกะวัตต์ เพื่อผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าเวียดนาม เป็นระยะเวลา 20 ปี มีมูลค่าโครงการรวมประมาณ 200 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2564 และเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD)ประมาณไตรมาส 4 ปี 2565
ตามมาด้วยเข้าลงทุนสัดส่วน 50% ในโครงการพลังงานลมที่เยอรมนีระยะเวลา 20 ปี ขนาด 464.8 เมกะวัตต์ ( ในส่วนของ GULF อยู่ที่ 232.4 เมกะวัตต์ ด้วยมูลค่าเงินลงทุน 19,219-19,570 ล้านบาท โดยมีการรับประกันราคาขั้นต่ำและปัจจุบันได้เริ่ม COD แล้วตั้งแต่ เม.ย.2562 ส่งผลทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าในมือเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 600 เมกะวัตต์ จากที่มีอยู่ 7,781 เมกะวัตต์ ได้ COD ไปแล้ว 2,701 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ยังไม่นับรวมการกระจายลงทุนในธุรกิจสาธารณูปโภคอื่นการชนะประมูลก่อสร้างมอเตอร์เวย์ เส้นบางประอิน –นครราชศรีมา และบางใหญ่ –กาญจนบุรี มูลค่า 12,000 ล้านบาท
บริษัท บี.กริม เพาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGIRM เป็นรายใหญ่ในกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) มีลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรม (IU) และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ EGAT ตั้งเป้าเพิ่มกำลังไฟฟ้าในมือ 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565 จากที่มีอยู่ที่ 3,424 เมกะวัตต์ และ COD ไปแล้ว 2,455 เมกะวัตต์
โดยจะมีการเพิ่มทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในช่วง 5 ปี 70,000-75,000 ล้านบาท เฉพาะในปีนี้อยู่ที่ 16,000 ล้านบาท ล่าสุดบริษัทได้เช่าที่ดินราชพัสดุ 100 ไร่ จำนวน 2 0ปี เพื่อดำเนินโรงไฟฟ้าไฮบริด มูลค่า 3,800 ล้านบาท เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้กับโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการเมือง จะมีการเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงที่จะเกิดขึ้น
หลังจากที่ BGIRM สามารถได้โควต้านำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG มากที่สุดในกลุ่มจำนวน 6.5 แสนตันต่อปี ส่งผลต่อต้นทุนที่ลดลง และสามารถหนุนอัตรากำไรในอนาคตอีกด้วย ส่งผลทำให้ราคาหุ้นกลับมาอยู่ที่ระดับ 55-56 บาท
ส่วนบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC หลังควบรวมกิจการกับ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด มีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือ 5,020 เมกะวัตต์ และ COD ไปแล้ว 4,766 เมกะวัตต์ บริษัทเตรียมเพิ่มกำลังผลิตในช่วง 5 ปีข้างหน้าอีกประมาณ 1500 เมกะวัตต์
รวมทั้งยังเตรียมขอเข้าไปแข่งขันในตลาดก๊าซ LNG ที่ผู้ประการโรงไฟฟ้ารายอื่นได้ไปแล้ว ทั้ง GULF และ BGRIM ซึ่งยริษัทค่อนข้างได้เปรียบกว่ารายอื่นเนื่องจากเป็นบริษัทย่อย ของกลุ่ม ปตท. ที่ดำเนินกิจการ LNG รายใหญ่ในประเทศอยู่แล้ว
ขณะที่บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ยังไม่มีโครงการเพิ่มกำลังไฟฟ้าในมือ หากแต่เบนเข็มไปลงทุนในธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่องทั้งไบโอดีเซล โรงงานแบตเตอร์รี่ และรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งได้มีการเข้าไปลงทุนใน บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX เพื่อขยายไปยังรถยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่
นอกเหนือจากบิ๊กเพล์เยอร์ในตลาดมีกำลังไฟฟ้าในมือจำนวนมาก ยังมีบริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER ซึ่งมีจุดเด่นการเริ่มสะสมกำลังผลิตไฟฟ้าในมือ จนทำให้มาอยู่ที่ 1,718 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้ COD ไปแล้ว 640 เมกะวัตต์ และยังมีเตรียมที่จะขายไฟฟ้าอีก 912 เมกะวัตต์ ทั้งจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ไทยและเวียดนาม และยังมีพลังงานจากขยะ
หุ้นโรงไฟฟ้าเป็นหุ้นที่หลายคนสบายใจเมื่อเก็บเข้าพอร์ต เพราะรายได้สม่ำเสมอ ไม่มีปัญหาหรือผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ หากแต่ในช่วงโควิด -19 ยังเจอผลกระทบลบทางอ้อมจากลูกค้าลกกำลังใช้ไฟฟ้าลง หรือขาดทุนจากค่าเงินบาที่แข็งค่าขึ้น รวมไปถึงมูลค่าหุ้นที่แพงตามโครงการในมือที่เพิ่มขึ้นจึงยังเป็นหุ้นที่มีเสน่ห์ให้ลงทุนได้อยู่ตลอดเวลา