ชงครม.ดัน '1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย'
กระทรวงอุดมศึกษาฯ ขานรับยุทธศาสตร์ "รวมไทยสร้างชาติ" ระดมมหาวิทยาลัยพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน คุณภาพชีวิต ภายใต้โครงการ “1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย” จ้างงานบัณฑิตตกงาน 3 แสนคน
เร่งชง ครม.ขอ 13,500 ล้านบาท เฟสแรก 3,000 ตำบล ก่อนขยายให้ครบ 7,900 ตำบล
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า อว.จัดทำ “โครงการการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ” หรือ “โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย” เพื่อสนับสนุนการจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่และนักศึกษา จำนวน 3 แสนอัตรา พร้อมยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ มีมหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นศูนย์กลางในการดูแล ครอบคลุมทั้งหมด 7,900 ตำบลทั่วประเทศ โดยเฟสแรกตั้งเป้า 3,000 ตำบล งบประมาณกว่า 13,500 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ภายในสัปดาห์หน้า
“โครงการนี้มุ่งเชื่อมโยงภาคส่วนต่างๆ อย่างบูรณาการ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบมีเป้าหมายชัดเจน โดยใช้สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งมหาวิทยาลัยชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏ ราชมงคล เพียงพอที่จะตอบโจทย์ เพราะเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อม ทั้งด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และสามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นผู้บูรณาการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ โดย 1 ตําบลจะมี 1 มหาวิทยาลัย ทําหน้าที่ดูแล ถือเป็นโอกาสสำคัญในการเปลี่ยนวิกฤติ คือจะทำอย่างไรที่จะใช้พลังมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ มาขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจฐานราก ผ่าน พ.ร.ก.เงินกู้ 400,000 ล้านบาท”
ผลจากการดําเนินการโครงการนี้จะช่วยสร้างงาน ทั้งบัณฑิต นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่ที่ลงไปทํา เกิดการพัฒนาพื้นที่ของตนเองในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการพัฒนาสินค้าและบริการชุมชน การพัฒนาการตลาดและสิ่งอํานวยความสะดวก ด้านการส่งเสริมและพัฒนาฝีมือแรงงานชุมชน ด้านการส่งเสริมให้เกิดการฟื้นฟูและพัฒนาท้องถิ่นตนเอง และการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนและด้านอื่นๆ
โดยมุ่งเน้นการจัดทำข้อมูลพื้นฐานชุมชนสู่บิ๊กดาต้า เพื่อเจาะลึกถึงปัญหาและแนวทางแก้ปัญหาในแต่ละท้องที่ เพื่อใช้ในการวางแผนการพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืนต่อไป และจะเป็นปัจจัยสำคัญในการก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฐานราก
“โครงการนี้จึงเป็นมิติใหม่ในการทำงานภายใต้ยุทธศาสตร์ “รวมไทยสร้างชาติ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยจะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการสร้างประเทศแบบนิวนอร์มอล ซึ่งนายกฯ ให้ความสำคัญและความสนใจอย่างมาก เพราะบัณฑิตเป็นทรัพยากรของประเทศ"
จ้างงาน 3 แสนอัตราในท้องถิ่น
นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า ในการนำพลังศักยภาพบัณฑิตผ่านการจ้างงานนั้น อว.จะจ้างงาน 3 แสนคนในพื้นที่ ก่อให้เกิด “บัณฑิตติดถิ่น” เพื่อสร้างความรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำประโยชน์ให้กับท้องถิ่น จะปลูกฝังแนวความคิดสู่การพัฒนาทักษะที่จำเป็นในยุคปัจจุบัน อาทิ ภาษาอังกฤษ ดิจิทัล การเงิน สังคมและด้านอื่นๆ
อย่างไรก็ดี เพื่อให้การดําเนินโครงการเป็นไปอย่างครอบคลุม จะมีการจัดทําระบบการบูรณาการโครงการต่างๆ ใน 2 ระดับคือ ระดับภูมิภาคและระดับประเทศ โดยเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา 9 ภูมิภาคของ อว. ได้แก่ เครือข่ายภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน และภาคใต้ตอนล่าง
เครือข่ายเหล่านี้จะทําหน้าที่บูรณาการโครงการต่างๆ ระหว่างชุมชน หรือตําบลในพื้นที่ ทั้งด้านการใช้ทรัพยากรร่วมกัน แบ่งเป็นองค์ความรู้และเทคโนโลยี รวมถึงการเชื่อมต่อกันในห่วงโซ่ คุณค่าของสินค้าและบริการ เช่น การผลิตวัตถุดิบ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การจําหน่ายผลิตภัณฑ์ การบริโภคสินค้าและบริการ การท่องเที่ยวที่เชื่อมต่อกันระหว่างพื้นที่ เป็นต้น
โครงการ 1 ตําบล 1 มหาวิทยาลัย จึงเป็นกลไกสําคัญในการปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยไทย เพื่อสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคม ให้แก่ชุมชนท้องถิ่นที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ เกิดการปรับเปลี่ยนบทบาทของมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง
“ในทุกวิกฤติมีโอกาสเสมอ ผมคิดว่าหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ยังคงต้องดำเนินต่อไป โดยเฉพาะพลังของเยาวชน ผมมีความเชื่ออยู่เสมอว่า เยาวชนของเรานั้นเป็นผู้กำหนดอนาคตประเทศ เป็นคนขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า แต่ในขณะนี้เรากำลังอยู่ในยุคนิวนอร์มอล ผมเชื่อว่าสิ่งสำคัญของโลกยุคหลังโควิด-19 คือ การสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ก่อนเชื่อมโยงกับประชาคมโลก ด้วยการใช้เศรษฐกิจฐานราก เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยจึงเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศ” นายสุวิทย์ กล่าว
ปูทางสู่มหาวิทยาลัยแห่งการพัฒนา
ด้านนายศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กล่าวว่า อว.ได้เสนอของบประมาณใน พ.ร.ก.เงินกู้ 400,000 ล้านสำหรับ"โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย” เบื้องต้นจะดำเนินการใน 3,000 ตำบล และขยายไปให้ครบ 7,900 ตำบลในอนาคต โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเข้าไปดูแลแต่ละตำบลแบบองค์รวม ด้วยการนำองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปช่วยทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ผลิตภัณฑ์ชุมชน คุณภาพชีวิต และสุขภาวะของชุมชน
วัตถุประสงค์หลักเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบมีเป้าหมายชัดเจน โดย 1 ตำบลจะมี 1 มหาวิทยาลัย ในพื้นที่ทำหน้าที่ดูแลอย่างเป็นระบบและบูรณาการ นอกจากเป็นการพัฒนาพื้นที่แบบองค์รวมอย่างเป็นระบบแล้ว ภายใต้โครงการนี้ยังจะมีการจ้างงานทั้งบัณฑิต นักศึกษา และประชาชนเพื่อเข้าไปช่วยงานในการพัฒนาตำบลละไม่น้อยกว่า 20 คน ผู้ที่ได้รับการจ้างงานยังจะได้รับการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาตนเองและต่อยอดไปสู่ธุรกิจได้
“โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัยนี้ ถึงแม้จะใช้งบประมาณเงินกู้ 1 ปี แต่ อว.ได้วางรากฐานการพัฒนาในรูปแบบนี้ เพื่อการดำเนินการในระยะยาวในการปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยไทย ให้เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาพื้นที่และใช้โจทย์จากพื้นที่เพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต” รองปลัด อว.กล่าว