แรงงานไทยเฮ! 'อิสราเอล' ลงนามจ้างงานภาคเกษตร 2.5 หมื่นคน
รัฐบาลอิสราเอล-ไทย ลงนามข้อตกลงฉบับใหม่ จ้างแรงงานไทย 25,000 คน ทำงานชั่วคราวในภาคการเกษตรในอิสราเอล
มีรายงานจากสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2563 ที่กรุงเยรูซาเลม รัฐบาลอิสราเอลและรัฐบาลไทยได้ลงนามในข้อตกลงฉบับใหม่ว่าด้วยเรื่องการจ้างแรงงานไทยจำนวน 25,000 คนไปทำงานในภาคการเกษตรในประเทศอิสราเอล
นายเมเอียร์ ชโลโม เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย กล่าวว่า แรงงานไทยในภาคการเกษตรของอิสราเอลมีความสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจอิสราเอล ที่ต้องการแรงงานผู้มีความชำนาญด้านเกษตรกรรม หลายปีที่ผ่านมา การทำงานหนักและอุทิศตนของแรงงานไทยส่งผลเลิศต่อความสำเร็จทางการเกษตรของอิสราเอลที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ในฐานะผู้นำด้านวิทยาการการเกษตร
“ข้อตกลงนี้เป็นโครงการสำคัญของความร่วมมือระดับทวิภาคีระหว่างอิสราเอลและไทย ที่ผมมั่นใจว่าจะดำเนินต่อไปอีกเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของไทยและอิสราเอล ทั้งยังช่วยส่งเสริมการสร้างงาน โดยเฉพาะในขณะนี้ที่เศรษฐกิจไม่ค่อยจะดีนัก" นายชโลโม กล่าว
นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตอิสราเอล ยังได้กล่าวอบคุณกระทรวงแรงงานและรัฐบาลไทย ที่ช่วยให้การเจรจาหารือในหลายเดือนที่ผ่านมาเป็นไปด้วยดี แม้ว่าจะเผชิญกับความท้าทายในช่วงเวลาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ก็ตาม
อิสราเอลเป็นประเทศที่แรงงานไทยให้ความสนใจ เนื่องด้วยมีค่าจ้างที่ดึงดูด ทั้งยังมีการคุ้มครองสิทธิแรงงาน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายอิสราเอล นอกจากนั้น เมื่อกลับมายังประเทศไทย แรงงานไทยยังสามารถนำความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรจากอิสราเอลมาปรับใช้ได้
ข้อตกลงฉบับนี้ เป็นไปตามข้อตกลงทวิภาคีฉบับแรกลงนามเมื่อเดือน ธ.ค. 2553 เพื่อว่าจ้างแรงงานไทยเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายและโปร่งใส ข้อตกลงฉบับ พ.ศ. 2553 ได้กำหนดกระบวนการจ้างงานและป้องกันการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น การที่บริษัทจัดหางานเรียกเก็บเงินเป็นจำนวนมากจากแรงงานไทย
อย่างไรก็ตาม การลงนามในข้อตกลงทวิภาคีฉบับใหม่ มีความสำคัญยิ่งของความร่วมมือระหว่างไทยและอิสราเอล นั่นคือเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ ภายใต้กรอบข้อตกลงนี้ แรงงานไทยหลายหมื่นคนได้ไปทำงานแล้วในประเทศอิสราเอล โดยเป็นไปตามการว่าจ้างงานที่ให้ความคุ้มครองและเคารพสิทธิของแรงงาน