เปิดแผนโรงไฟฟ้าชุมชน ดัน 'พลังงานสร้างไทย'

เปิดแผนโรงไฟฟ้าชุมชน ดัน 'พลังงานสร้างไทย'

"พลังงาน" วางหลักเกณฑ์ฯพร้อมรับซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชุมชน รอ ครม.ไฟเขียวแผนพีดีพี ฉบับปรับปรุงใหม่ เดินหน้าเปิดโครงการฯทันที หวังกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

กระทรวงพลังงาน เตรียมเสนอแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 ก.ค.2563 พิจารณาอนุมัติ โดยถ้าผ่านการเห็นชอบแล้วจะนำไปสู่การประกาศเปิดยื่นข้อเสนอโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ล่าช้ามาเกือบ 1 ปีแล้ว เนื่องจากเป็นโครงการใหม่ต้องใช้เวลาทำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการลงทุนให้ชัดเจนและโปร่งใส รวมทั้งต้องรอแผนพีดีพี ฉบับปรับปรุงใหม่ที่บรรจุการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเข้ามาในระบบปี 2563–2567 รวม 1,933 เมกกะวัตต์

แผนพีดีพีดังกล่าวผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 19 มี.ค.2563 และต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม.ก่อน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จึงจะออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้ โดย กพช.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2562 เห็นชอบกรอบโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ในรูปแบบโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่มีขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ รับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง 4 ประเภท คือ 1.ชีวมวล 2.ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย-ของเสีย) 3.ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน 100%) 4.เชื้อเพลิงไฮบริด จาก 3 ประเภทเชื้อเพลิงดังกล่าว รวมกับโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้า ซึ่งมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน เพื่อคัดเลือกโครงการและกำกับดูแลให้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เป็นเจ้าภาพหลักในการเปิดให้ยื่นเสนอโครงการ

ปี 2563-2565 จะเปิดรับซื้อไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 2 ประเภทโครงการ คือ 

1.โครงการ Quick win กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2563 ซึ่งเปิดโอกาสให้โรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างแล้วเสร็จหรือใกล้จะแล้วเสร็จ

2.โครงการทั่วไป เปิดโอกาสให้ผู้มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการเป็นการทั่วไป และอนุญาตให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2564 เป็นต้นไป

ส่วนรูปแบบการร่วมทุน ประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ 

1.กลุ่มผู้เสนอโครงการ (ภาคเอกชนอาจร่วมกับองค์กรของรัฐ) สัดส่วน 60–90% 

2.กลุ่มวิสาหกิจชุมชน (มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน) สัดส่วน 10–40% (เป็นหุ้นบุริมสิทธิไม่น้อยกว่า10% และเปิดโอกาสให้ซื้อหุ้นเพิ่มได้อีกรวมแล้วไม่เกิน 40%) มีส่วนแบ่งจากรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายให้กับกองทุนหมู่บ้านที่อยู่ใน “พื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น” ของโรงไฟฟ้า

สำหรับอัตราส่วนแบ่งรายได้ของโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย-ของเสีย) และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ไม่ต่ำกว่า 25 ส.ต.ต่อหน่วย และสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ไฮบริด ไม่ต่ำกว่า 50 ส.ต.ต่อหน่วย

159462966681

ส่วนอัตรารับซื้อไฟฟ้า 4 ประเภทเชื้อเพลิง แบ่งตามสมมุติฐานทางการเงิน ณ ปีที่ลงทุนก่อสร้าง ซึ่ง กพช.เห็นชอบเมื่อ 17 ก.พ.2560 ดังนี้ 

พลังงานแสงอาทิตย์ 2.90 บาทต่อหน่วย, ชีวมวลที่กำลังผลิตติดตั้งน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 เมกะวัตต์ 4.8482 บาทต่อหน่วย, ชีวมวลกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 3 เมกะวัตต์ 4.2636 บาทต่อหน่วย,ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย-ของเสีย) 3.76 บาทต่อหน่วย ,ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน 100%) 5.3725 บาท และก๊าซชีวภาพพืชพลังงานผสมน้ำเสีย-ของเสีย 4.7269 บาทต่อหน่วย 

รวมทั้งกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) พรีเมียมให้พื้นที่ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา เพิ่มอีก 0.50 บาทต่อหน่วยในทุกชนิดเชื้อเพลิง

กระทรวงพลังงานได้รับฟังความเห็นร่างหลักเกณฑ์เงื่อนไขการพิจารณาคัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ประเภทโครงการ Quick Win กำหนดรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ และผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ (COD ) ในปี 2563 แต่ถ้านำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ไม่ได้เพราะโควิด-19 อาจผ่อนพันให้เลื่อน COD ไปในช่วงกลางปี 2564

กระทรวงพลังงานได้แบ่งการผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเป็น 3 ระยะ คือ 

ระยะที่ 1 เป็นโครงการต้นแบบ ดำเนินการโดยรัฐวิสาหกิจ จำนวน 4 โครงการ กำลังผลิตรวม 8 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 2 โครงการ คือ ที่อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ 1 โครงการ (เชื้อเพลิงชีวมวล) และ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ 1 โครงการ (เชื้อเพลิงชีวภาพ) 

โครงการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 2 โครงการ คือ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี 1 โครงการ และ อ.บันนังสตา จ.ยะลา 1 โครงการ เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลทั้ง 2 แห่ง กำหนด COD ปี 2563

ระยะที่ 2 เป็นโครงการเร่งด่วน Quick Win ที่ก่อสร้างบางส่วนแล้ว โดยรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกิน 100 เมกะวัตต์

ระยะที่ 3 เป็นโครงการทั่วไป หรือ โครงการก่อสร้างใหม่ จะรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ กำหนด COD ภายในปี 2564 คาดว่าเปิดให้ยื่นเสนอโครงการหลังจากพิจารณาโครงการ Quick Win เสร็จแล้ว

159462970615

สำหรับหลักเกณฑ์คัดเลือกโครงการได้กำหนดการพิจารณาคะแนนด้านผลประโยชน์ถึง 60 คะแนน เช่น ส่วนแบ่งรายได้ที่เกิดจากการจำหนายไฟฟ้า ,เงินพิเศษค่าเชื้อเพลิง ,สัดส่วนหุ้นบุริมสิทธิให้แก่วิสาหกิจชุมชน (ไม่น้อยกว่า10%) ,การรับประกันเงินปันผลประจำปี ,เงินพิเศษสำหรับกิจกรรมชุมชน ,การจ้างแรงงานภานในพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้า

ส่วนการพิจารณาด้านเทคนิค คิดเป็น 40 คะแนน เช่น ประสบการณ์ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ,สมาชิกวิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายต้องอยู่ในพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้า ,ประเภทเชื้อเพลิง ,เป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่มีสัญญาผูกพันกับรัฐ,ใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ร่วมด้วยหรือไม่

กระทรวงพลังงานได้บรรจุโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นส่วนหนึ่งใน “แผนพลังงานสร้างไทย” ปริมาณรับซื้อไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์แรก คาดว่าประกาศรับสมัครยื่นข้อเสนอโครงการประเภทเร่งด่วน (Quick Win ) 100 เมกะวัตต์ เดือน ก.ค.นี้ และประกาศรายชื่อ ผู้ได้รับการคัดเลือกกลางเดือน ส.ค.2563 

พร้อมลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เดือน พ.ย.-ธ.ค.2563 และเริ่มลงทุนได้ต้นปี 2564 คาดว่าใช้เงินลงทุนรวม 1,721 ล้านบาท เกิดการจ้างงงาน 720 คน และหลัง COD จะสร้างรายได้ 224 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 1,440 คน หรือคาดหวังจะเกิดเม็ดเงินลงทุน 30-40 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์

รวมถึงจัดทำโครงการต้นแบบ 2 พื้นที่ คือ โรงไฟฟ้าทับสะแก 3 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าแม่แจ่ม 3 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนรวม 753 ล้านบาท คาดว่าสร้างรายได้ 27 ล้านบาทต่อปี