'เงินสำรองระหว่างประเทศ' คืออะไร สำคัญกับ 'เศรษฐกิจไทย' อย่างไร?
ทำความรู้จัก "เงินสำรองระหว่างประเทศ" หรือ "เงินสำรองฯ" ที่ทำหน้าที่เสมือน "กันชน" ทางเศรษฐกิจของไทย
ทุกครั้งที่มีข่าวคราว "เงินสำรองฯ" หรือ "เงินสำรองระหว่างประเทศ" ลดลง หรือเพิ่มขึ้น มักจะมีการวิเคราะห์ต่างๆ ตามมา หรือเกิดกระแสสังคมขึ้นเกี่ยวกับความเชื่อมั่นทางการเงินของประเทศ
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความสำคัญของเงินสำรองระหว่างประเทศ จากธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อพาไปทำความรู้จักว่าแท้จริงแล้ว เงินสำรองฯ เหล่านี้คืออะไร และมีบทบาทอย่างไรกับเศรษฐกิจของประเทศบ้าง
“เงินสำรองระหว่างประเทศ” “เงินสำรองทางการ” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “เงินสำรองฯ” คือ เงินตรา/สินทรัพย์ต่างประเทศของเศรษฐกิจไทยที่อยู่บนงบดุลของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อรองรับความเสี่ยง และรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ ให้ค่าเงินบาทยังสามารถรักษาอำนาจในการซื้อของเศรษฐกิจไทย (Global Purchasing Power)
เงินสำรองฯ จึงทำหน้าที่เหมือน “กันชน” ให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อไม่ให้ความผันผวนจากภายนอกเข้ามาสร้างผลกระทบต่อธุรกิจไทย ซึ่งอาจจะกระทบกับอำนาจการซื้อของเศรษฐกิจไทยโดยรวมได้ เงินสำรองทางการจึงเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่ต่างชาติใช้ประเมินความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ
เมื่อธุรกิจไทยส่งออกสินค้า คนต่างชาติมาท่องเที่ยวมากขึ้น หรือมีการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ความต้องการที่จะแลกเงินบาทก็จะมีมากขึ้น เงินบาทก็จะแข็งค่าขึ้น
เพื่อป้องกันไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเร็วจนเกินไป ธนาคารกลางจะเข้าไปซื้อเงินตราต่างประเทศมาเก็บเป็นเงินสำรองทางการ และขายเงินบาทออกไป ทำให้ธนาคารกลางมีภาระหนี้สินมากขึ้นในจำนวนที่เท่ากัน ซึ่งธนาคารกลางจะต้องดูดซับเงินบาทดังกล่าวเพื่อรักษาระดับดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาด
ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของเงินสำรองทางการไม่ได้สะท้อนความมั่งคั่ง (Wealth) ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพราะปริมาณเงินสำรองจะมาพร้อมกับภาระหนี้สินของธนาคารกลางที่เพิ่มขึ้นในจำนวนที่เท่ากัน
ในทางกลับกัน หากเกิดเหตุการณ์ที่นักลงทุนต่างประเทศถอนเงินลงทุนออกจากประเทศไทย หรือดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล เงินสำรองทางการจะถูกนำมาใช้พยุงค่าเงิน เพื่อรักษาอำนาจในการซื้อของเศรษฐกิจไทย (Global Purchasing Power) ทำให้เงินสำรองทางการมีขนาดลดลง ซึ่งการมีเงินสำรองทางการที่มาก จะช่วยลดความเสี่ยง และผลกระทบของวิกฤตการณ์ค่าเงินของประเทศได้
ทั้งนี้ เงินสำรองฯ เป็นเครื่องชี้สำคัญที่ต่างชาติใช้ประเมินความมั่นคงและเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศ หากเงินสำรองฯ มีน้อยไปก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติค่าเงินเช่นที่เคยเกิดขึ้น แต่ถ้ามีมากไปก็อาจต้องคำนึงถึงภาระจากขนาดงบดุลธนาคารกลางที่ใหญ่ขึ้นทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สินด้วยเช่นกัน