ปั้น 'ชลกร' คนรุ่นใหม่แก้น้ำแล้ง

ปั้น 'ชลกร' คนรุ่นใหม่แก้น้ำแล้ง

“น้ำแล้ง” อีกหนึ่งปัญหาของประเทศไทยที่ทุกรัฐบาลได้ให้ความสำคัญและพยายามแก้ไขปัญหา เพราะเมื่อพื้นที่ไหนขาดแคลนน้ำล้วนก่อให้เกิดความลำบากต่อทุกส่วน โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกร การทำการเกษตรทุกรูปแบบต้องอาศัยน้ำเป็นส่วนสำคัญทั้งสิ้น

วานนี้(13ก.ค.) กระทรวงศึกษาธิการ "วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี" และ"คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมช.ศธ)” เปิด"โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ" ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธินโยบายสาธารณะไทยเบื้องต้น 100 ล้านบาท ในการสร้าง “ชลกร” คนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำในชุมชนต่างๆ พร้อมทั้งสร้างโมเดลต้นเเบบการกักเก็บน้ำรองรับน้ำฝน บนพื้นที่อาชีวะเกษตรก่อนขยายผลไปยังชุมชนโดยรอบ

การขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวจะประสบความสำเร็จได้ “ชุมชนต้องมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ” โดยจะมีการสนับสนุนให้องค์ความรู้ และกระทรวงศึกษาจะใช้กลไกของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั้ง 47 แห่ง และโรงเรียนการศึกษาพิเศษอีก 176 แห่งทั่วประเทศเป็นศูนย์เรียนรู้ที่สำคัญ

159464350048

ทั้งนี้หลักสูตรสร้างชลกร จะเป็นการสร้างผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ เพื่อช่วยสอนชาวบ้านให้มีความรู้เรื่องการจัดการน้ำในชุมชนด้วยตนเอง และสร้างประโยชน์จากแหล่งน้ำเพื่อชีวิตที่พอเพียง โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนให้สามารถดำเนินการต่อเองได้ ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษากำลังออกแบบหลักสูตรดังกล่าว เพื่อให้แต่ละวิทยาลัยได้นำไปจัดการเรียนการสอน สร้างชลกรในสถานศึกษา

เบื้องต้นมีวิทยาลัยอาชีวะเข้าร่วมนำร่อง 5 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร มหาสารคาม ร้อยเอ็ดและศรีสะเกษ โดยทุกวิทยาลัยมีความพร้อมทั้งในส่วนของครูและนักศึกษาที่จะเป็นแกนนำในการเร่งดำเนินโครงการสร้างโมเดลต้นแบบบนพื้นที่วิทยาลัยเกษตรก่อนจะขยายผลไปในชุมชนโดยรอบ

“ปฎิภาณ ชาญสมร” นักศึกษาชั้นปีที่ 1 แผนกวิชาพืชศาสตร์ วิทยาลัยการเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเมื่อได้รับคัดเลือกให้เป็นชลกร เล่าว่า เนื่องจากบ้านเกิดของตนเองในต.บ้านดู่ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด มีปัญหาการขาดแคลนน้ำ หรือน้ำแล้งมาตลอดหลายปี และทุกครั้งที่ถึงช่วงเวลาก่อนทำนา ทำการเกษตรก็จะไม่มีน้ำใช้ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ ชาวบ้านได้รับความเดือนร้อนอย่างมาก

อย่าง ครอบครัวก็ทำนา ชาวบ้านในชุมชนก็มีอาชีพทำนา เมื่อถึงก่อนทำนาก็จะเห็นว่าน้ำแล้งมาก บางพื้นที่ไม่มีน้ำใช้ ก็ทำให้ทำนาไม่ได้ ชาวบ้านไม่มีรายได้ เพราะไม่มีข้าวจะมาขาย ทำให้หลายคนต้องไปกู้หนี้ยืมสิน

159464350230

ขณะนี้ยังไม่ได้มีการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการ เนื่องจากหลักสูตรดังกล่าวยังอยู่กระบวนการร่างหลักสูตร ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ทำการเรียนการสอนอย่างเต็มรูปแบบในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 นี้ จะได้นำความรู้ที่เรียนมาช่วยบริหารจัดการน้ำในชุมชน แก้ปัญหาน้ำแล้ง และทำให้ชาวบ้านมีความรู้ เพื่อจะได้ช่วยกันแก้ปัญหาน้ำได้ โดยเฉพาะเพื่อนๆคนรุ่นใหม่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาน้ำ ซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิต และการทำเกษตรอย่างมาก เนื่องจากหากไม่มีน้ำ ชีวิตของคนเราก็จะอยู่ไม่ได้

ทางกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษากำลังออกแบบหลักสูตรดังกล่าว เพื่อให้แต่ละวิทยาลัยได้นำไปจัดการเรียนการสอน สร้างชลกรในสถานศึกษา  สุรียา โยธา อาจารย์ประจำแผนกวิชาพืชศาสตร์ วิทยาลัยการเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่าที่ผ่านมาวิทยาลัยการเกษตรฯ ได้มีการให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแก่นักศึกษาในแต่ละแผนกมาตลอด ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการชลประทาน การจัดการระบบน้ำในชุมชน และการบริหารจัดการน้ำทางการเกษตร 

159464350030

หลักสูตรชลกร จะเป็นการจัดการเรียนการสอน การสร้างนักบริหารจัดการน้ำ ผู้เชี่ยวชาญน้ำให้เกิดเป็นรูปธรรมชัดเจน และได้ลงไปช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนของตนเอง เพราะการเรียนการสอนต้องมีการลงไปในพื้นที่ชุมชน นักชลกรต้องเป็นผู้ให้ความรู้ คำแนะนำ และช่วยจัดการแก้ปัญหาน้ำแล้ง การขาดแคลนน้ำต่างๆ ในชุมชนให้ได้

“โครงการดังกล่าว ถือเป็นโครงการที่ดีมาก เพราะตอนนี้ต้องยอมรับว่าในหลายจังหวัดของประเทศไทยกำลังประสบปัญหาน้ำแล้งอย่างมาก หากได้ความรู้จากนักชลกร และความร่วมมือจากคนในชุมชนสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำ จะช่วยให้แต่ละพื้นที่ได้มีน้ำกิน น้ำใช้ น้ำทำการเกษตร เพื่อให้พืชผลทางการเกษตร ความเป็นอยู่ รายได้ของเกษตรกร ชุมชนดีขึ้น”สุรียา กล่าว

159464355966