จี้ 'กองทัพบก' รับผิดชอบปมทหารอียิปต์
ศบค. พบปัญหาเครื่องบินทหารประสานเข้า-ออกสนามบินโดยตรง ไม่ผ่านส่วนกลาง
ภายหลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากคณะทูตที่มาจากต่างประเทศแล้วไปพักในคอนโดแห่งหนึ่งในกทม. และกลุ่มนายทหารอียิปต์ ปรากฏว่าในโลกโซเชียลมีการแสดงความคิดเห็นอย่างร้อนแรงถึงการทำงานการ์ดตกของภาครัฐ ที่ผลักภาระให้ประชาชนไม่ให้การ์ดตก โดยเฉพาะผู้บัญชาการทหารบก( ผบ.ทบ.) ได้ตกเป็นเป้าโจมตีจนขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์สู่อันดับ 1
มีการโพสต์ข้อความโจมตี และเรียกร้องความรับผิดชอบจาก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ที่ก่อนหน้านี้ ได้ออกมาชี้แจงบุคคลและคณะวีไอพีจากต่างประเทศ เดินทางเข้าประเทศไทย โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน ตาม ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในการสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาอ้างอิง
ทั้งนี้บางแฮชแท็กโจมตี พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่ปล่อยให้คณะทหารอียิปต์ติดเชื้อโควิด เข้ามาในประเทศไทย ได้มีการรีทวีตมากกว่า 700 ครั้ง
ช่องโหว่เครื่องบินทหารประสานตรง
ขณะที่แหล่งข่าวจาก ศบค.เปิดเผย กรณีกลุ่มทหารอียิปต์เดินทางเข้ามาในประเทศไทยและพบว่าติดโควิดนั้น พบว่าทหารกลุ่มนี้เดินทางเข้ามาโดยเครื่องบิน 2 ลำ แวะลงสนามบินอู่ตะเภาเพื่อเติมน้ำมันและปรนนิบัติบำรุงเครื่อง แต่ได้ค้าง 1 คืนในโรงแรมดังกล่าว ซึ่งโรงแรมเเห่งนี้อยู่ระหว่างติดต่อขอเข้าเป็นสถานที่เฝ้าระวังทางเลือก (Alternative state quarantine) และการมาลงจอดครั้งนี้ เป็นการติดต่อกับทางสนามบินโดยตรง ไม่ได้ผ่าน ศบค. ซึ่งก็เป็นแบบนี้ในหลายๆ สนามบิน ที่สามารถบริหารจัดการกับเครื่องบินต่างๆ ที่บินเข้า-ออก อยู่แล้ว
“การนำเครื่องมาลง ไม่ต้องเข้าระบบ ศบค. และ ศบค. ก็ไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีทหารกลุ่มนี้ จากนี้ก็ต้องเร่งสอบหาข้อเท็จจริงต่อไป ซึ่งการเดินทางมาแบบนี้ เข้าข่ายข้อกําหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 12 (5) คือ ผู้ควบคุมยานพาหนะ หรือเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะ ซึ่งจําเป็นต้องเดินทางเข้ามาตามภารกิจ และมีกําหนดเวลาเดินทางออกนอกราชอาณาจักรชัดเจน ซึ่งแม้ไม่ต้องกักตัว 14 วัน แต่ห้ามไปสัมผัสบุคคลภายนอก”
แหล่งข่าว ศบค.ระบุด้วยว่า ศบค. คุมเข้มภาพรวมเพื่อให้การดำเนินการต่างๆ ผ่านไปได้ แต่ยอมรับว่าบางเรื่องยังมีช่องว่าง จนทำให้เกิดปัญหาตามมา จากนี้ก็ต้องวางมาตรการกันต่อไป
ขณะที่สำนักข่าวไทย รายงานว่า พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ระบุถึงกรณีทหารอียิปต์ เดินทางเข้าพักโรงแรมใน จ.ระยอง และตรวจพบ เชื้อโควิด-19 ว่า เรื่องอากาศยานทหารจากประเทศอียิปต์ มาลงที่อู่ตะเภา ขอยืนยันว่าไม่มีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับทางกองทัพบก (ทบ.) แต่อย่างใด
กองทัพเพิ่มกำลังคุมเข้มชายแดน
นอกจากนี้ภายหลังรัฐบาลประกาศผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ระยะที่ 5 ทำให้มีการเดินทางผ่านเข้า-ออก ประเทศไทยทั้งทางบกและทางน้ำ ในพื้นที่ชายแดน โดยก่อนหน้านี้มีรายงานว่าแรงงานต่างด้าวเกือบ 3,000 คน เดินทางเข้าประเทศไทย ผ่านทางพรมแดนทางธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งที่โดนจับกุมตัวไว้ได้ และบางส่วนสามารถหลบเข้ามาใจกลางเมืองได้
วานนี้ (13 ก.ค.) พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวถึง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) สั่งการให้กองทัพภาค โดยกองกำลังชายแดน ทบ.ทั่วประเทศปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวด เน้นการเฝ้าตรวจ ลาดตระเวน ป้องกันมิให้มีการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมาย หรือไม่ผ่านการตรวจคัดกรอง เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงในเรื่องการแพร่กระจายของเชื้อโรค รวมทั้งมอบให้ทุกหน่วยสนับสนุนแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดไวรัส โควิด-19 ของ ศบค.อย่างเต็มที่
ล่าสุดกำชับให้กองกำลังชายแดนกองทัพบก บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน เพิ่มมาตรการสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายโดยเฉพาะตามช่องทางธรรมชาติ ด้วยการใช้ทั้งเครื่องมือเฝ้าตรวจและการเพิ่มกำลังพลในการปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดน มีการปรับปรุงและเพิ่มเติมเครื่องกีดขวาง การวางลวดหนาม การติดตั้งเครื่องเฝ้าตรวจในพื้นที่ล่อแหลมตามแนวชายแดน การติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างและโซลาร์เซลล์ตามเส้นทางที่ติดต่อกับช่องทางธรรมชาติ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถมองเห็นได้ตลอดเส้นทางเป็นการเพิ่มศักยภาพในการเฝ้าตรวจ
นอกจากนี้กองทัพภาคได้เพิ่มกำลังทหารทำการลาดตระเวนทั้งกลางวันกลางคืนและเพิ่มความถี่ในการเฝ้าตรวจตามช่องทาง ท่าข้าม การตั้งจุดตรวจจุดสกัดตามเส้นทาง ตามแนวชายแดน พร้อมทั้งมีการประชาสัมพันธ์กับผู้นำชุมชนขอความร่วมมือแจ้งเบาะแสและกระจายข้อมูลข่าวสาร ควบคู่ไปกับการประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น ในความร่วมมือสกัดกั้นแรงงานลักลอบเข้าเมืองอีก
โดยจะดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในทุกพื้นที่ชายแดน อย่างไรก็ตามกองทัพบกตระหนักดีว่าการซีลชายแดนอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยมาตรการที่เข้มงวดเพื่อตรวจคัดกรองแรงงานต่างด้าว และผู้ที่เดินทางเข้าประเทศตามที่ ศบค.กำหนด ควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรการเฝ้าตรวจไม่ให้มีการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายหรือไม่ผ่านการคัดกรองจากภาครัฐ จะส่งผลดีต่อการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ไม่ให้เข้าสู่ประเทศเพื่อความปลอดภัยของคนไทยทุกคน
ศบค.เผยผลักดันต่างด้าวเกือบหมด
วันเดียวกัน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงถึงกรณีชาวต่างชาติที่หลบหนีเข้ามาด้วยวิธีนี้ มีรายงานว่าประมาณ 3,000-4,000 คน เป็นตัวเลขสะสมตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่เมื่อเราเจอเราผลักดันออกไป อยู่ในพื้นที่จริงๆ จึงไม่ได้มาก ซึ่งพรมแดนทางบกตามแนวชายแดนของไทยกว้างไกลหลายพันกิโลเมตร
“ถ้าเราพบผู้ลักลอบเข้ามา จะส่งไปกักกันตัวแล้วผลักดันออกไป ถ้าเข้ามาในตัวเมือง จะรับมากักขังอยู่ที่ส่วนกลาง ซึ่งมีพื้นที่รับคนได้หลักร้อยหลักพัน อย่างไรก็ตามหลายรายพบว่าลักลอบเข้ามาอยู่ในไทยนานแล้ว ก็ไม่ได้เป็นแหล่งเพาะเชื้อ รอการถูกส่งผลักดันออกนอกประเทศเท่านั้น”
ทั้งนี้การป้องกันปล่อยให้เป็นภารกิจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ ประชาชนทุกคนต้องฝากเป็นหูเป็นตาแทน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ได้รับมอบหมายช่วยกันดู ตรงนี้ประชาชนทุกคนช่วยกันดูแลได้ ถ้าพบคนที่ไม่คุ้นหน้า ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันที
พบปัญหาประสานระหว่างหน่วยงาน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ส่วนกระแสข่าวนักธุรกิจชาวปากีสถานเดินทางโดยเครื่องบินมายังประเทศไทย โดยมีเอกสารไม่ครบ การประชุมศบค.ชุดเล็กในวันนี้ (13 ก.ค.) ได้หารือกันว่านักธุรกิจและนักเดินทางที่เดินทางมาจากประเทศปากีสถาน รวม 27 คน โดยเอกสารมี 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นเอกสารที่นำเข้ามาในการเดินทาง ซึ่งทุกคนมีเอกสารครบถ้วนทั้งหมด แต่ส่วนที่ 2 คือเอกสารที่ประสานระหว่างภายในหน่วยงานของไทยเพื่อให้ปรากฏชื่อของผู้เดินทาง พบว่าเอกสารส่งกันระหว่างหน่วยงานของไทย มี 19 คนที่เอกสารครบ แต่อีก 8 คน เอกสารขาดหาย ซึ่งเกิดจากการประสานงานล่าช้าของหน่วยงานไทย ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงต้องมาหารือเพื่อปรับปรุงแก้ไขและเชื่อมการประสานงานให้ดี เพื่อให้การเดินทางเรียบร้อย ไม่ได้เป็นการลักลอบหรือหลบหนี