“พิพัฒน์” ชง 3 จังหวัด นำร่องต่างชาติเที่ยว สกัดโรงแรมปิด 60%
“พิพัฒน์” ลุ้นประยุทธ์ เคาะ “ทราเวลบับเบิล” ชี้หากไม่เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ สิ้นปีนี้ โรงแรมทั่วประเทศส่อปิดกิจการถาวร 60% ชูเปิดให้ต่างชาติเที่ยว 3 จังหวัดนำร่อง ภูเก็ต-กระบี่-สุราษฎร์ฯ
ประเด็นแนวทางการเปิดประเทศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในวงจำกัด หรือ ทราเวลบับเบิล ของรัฐบาลไทยยังคงถูกจับตามองจากสังคม ในภาวะที่ยังมีปัจจัยกดดันเรื่องการแพร่ระบาดรอบ 2 ของโรคโควิด-19 ทั่วโลก กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจึงมองว่าจำเป็นต้องเร่งหาจุดสมดุลระหว่างความปลอดภัยของประชาชนในประเทศและเศรษฐกิจ ก่อนจะทรุดหนักและกระทบประชาชนเป็นวงกว้างกว่านี้
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ถ้ายังไม่มีการเปิดประเทศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายในสิ้นปี 2563 คาดว่าธุรกิจโรงแรมในไทยจะปิดกิจการถาวร 60%เป็นไปในทิศทางเดียวกับคาดการณ์ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่น่าจะหายไปมากกว่า 60%เมื่อเทียบกับปีที่แล้วซึ่งปิดที่ 39.8 ล้านคน
รับ “ทราเวลบับเบิล” ไม่ง่าย
“ยอมรับว่าการทำทราเวลบับเบิลเป็นเรื่องยาก เพราะยังมีปัจจัยกดดันเรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบ 2 ในประเทศที่ไทยเตรียมจับคู่แลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยว อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะเลือกจุดสมดุลระหว่างความปลอดภัยของประชาชนในประเทศและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างไร โดยทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้ตัดสินใจเลือก”
เพราะขณะนี้ความเห็นของหน่วยป้องกันอย่างกระทรวงสาธารณสุขมองว่าต้องบริหารสถานการณ์โควิด-19 ให้ดี เพื่อไม่ให้มีการระบาดรอบ 2 โดยสวนทางกับความเห็นของหน่วยรุกด้านเศรษฐกิจ ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวฯมองว่าจำเป็นต้องทำทราเวลบับเบิลควบคู่ไปด้วยเพื่อให้เศรษฐกิจไทยไปรอด เพราะหนี้เสีย (NPL)ในประเทศมีแนวโน้มพุ่ง ประชาชนจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจหนักต่อเนื่อง
หาสมดุลคุมโควิด-เปิดประเทศ
“การปิดประเทศไปเรื่อยๆ ดีต่อคนไทยก็จริง แต่ถ้ามองในมุมเศรษฐกิจ เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา รัฐบาลจะหาเงินที่ไหนมาจุนเจือคนตกงาน แล้วถ้าเศรษฐกิจทรุดลงไปลึก จะมีโอกาสฟื้นหรือรอดกลับมาหรือไม่ กระทรวงการท่องเที่ยวฯจึงมองว่าอยากให้เปิดประเทศบ้าง เพราะการอาศัยแค่ตลาดไทยเที่ยวไทยเป็นตัวกระชากรายได้รวมภาคท่องเที่ยวอย่างเดียวนั้น นับเป็นเรื่องยากมาก”
ชง3พื้นที่“ภูเก็ต-กระบี่-สุราษฎร์ฯ”
สำหรับแนวทางการทำทราเวลบับเบิล กระทรวงการท่องเที่ยวฯเตรียมเสนอต่อที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจนัดหน้า ให้ชาวต่างชาติสามารถเดินทางท่องเที่ยวแบบไม่กักตัวนาน 14 วัน แต่จำกัดพื้นที่ โดยมีพื้นที่ท่องเที่ยวใน 3 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จ.ภูเก็ต ทั้งเกาะ, จ.กระบี่ เฉพาะเกาะพีพี และ จ.สุราษฎร์ธานี เฉพาะเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า และเกาะนางยวน
ทั้งนี้โปรแกรมท่องเที่ยวจะถูกจำกัดให้อยู่ในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งเท่านั้น เดินทางข้ามจังหวัดไม่ได้ เช่น หากเลือกมาเที่ยวภูเก็ต ต้องอยู่ในภูเก็ตนาน 14 วัน ระหว่างนั้นไม่สามารถเดินทางไปเกาะพีพีได้ หากเลือกมาเที่ยว จ.สุราษฎร์ธานี สามารถเดินทางระหว่าง 4 เกาะที่กำหนดได้ ทั้งนี้เมื่ออยู่เที่ยวในพื้นที่ดังกล่าวครบ 14 วัน จะต้องผ่านการตรวจหาเชื้อซ้ำ จึงจะสามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้ โดยเตรียมพิจารณาพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติมสำหรับระยะที่ 2 ของทราเวลบับเบิล เช่น เกาะช้าง จ.ตราด, เกาะเสม็ด จ.ระยอง รวมถึง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาซึ่งสามารถจับคู่แลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวกับปีนัง ประเทศมาเลเซียที่ไม่มียอดผู้ติดเชื้อใหม่นานกว่า 70 วัน
“อย่างภูเก็ตมีศักยภาพตรวจหาเชื้อโควิดซ้ำในนักท่องเที่ยวต่างชาติวันละ 1,000 คน ตั้งเป้าว่าจะดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มไฮเอนด์จากสหรัฐและยุโรปช่วงหนีหนาวปลายปีนี้ ล่าสุดได้หารือกับหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย ระบุว่ามีชาวสหรัฐจำนวนมากอยากมาเที่ยวไทย โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวไฮเอนด์มาพักผ่อนในภูเก็ต 2 แสนคนตลอด 4 เดือนสุดท้ายของปี ตั้งแต่ ก.ย.-ธ.ค.2563 หวังกระตุ้นรายได้ไม่ต่ำกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท”
คาดกระตุ้นเที่ยวดันรายได้7แสนล.
ทั้งนี้จากมาตรการเที่ยวปันสุขกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศและทราเวลบับเบิลในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ คาดว่าจะช่วยผลักดันรายได้ตลาดในประเทศเติบโตจาก 4.18 แสนล้านบาท เป็น 7 แสนล้านบาท ส่วนรายได้ตลาดต่างประเทศ เติบโตจาก 3.96 แสนล้านบาท เป็น 5.96 แสนล้านบาท รวมเป็น 1.29 ล้านล้านบาท จากเป้ารวมไม่ต่ำกว่า 1.23 ล้านล้านบาท
ลุ้นต่อเฟส 2 “เราเที่ยวด้วยกัน”
นอกจากนี้ยังต้องลุ้นผลมาตรการเที่ยวปันสุข กรอบวงเงินรวม2.24หมื่นล้านบาทที่จะเปิดให้ประชาชนได้จองสิทธิ์ร่วมแพ็คเกจ เราเที่ยวด้วยกัน เริ่มวันที่ 15 ก.ค.นี้ ตั้งแต่เวลา 06.00-21.00 น. เพื่อจองห้องพักที่รัฐบาลช่วยจ่ายค่าห้อง40%ประชาชนจ่ายเอง60%แต่ไม่เกิน3,000บาทต่อห้องต่อคืน จำนวน5ล้านคืน
เพราะหากเปิดวันแรกมีกระแสการตอบรับดี ประชาชนเข้าจองสิทธิ์และจ่ายเงินค่าห้องในส่วนที่ประชาชนต้องจ่ายเองจำนวนมาก ถือว่ามาตรการนี้ประสบความสำเร็จ ก็จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสรุปยอดทั้งหมด เพื่อขยายโครงการเป็นเที่ยวปันสุข เฟส 2 ภายใต้รายละเอียดและเงื่อนไขเดิม
หากเปิดให้ประชาชนเข้าจองสิทธิ์ร่วมโครงการแล้ว 3 วัน มียอดผู้จองสิทธิ์และสนใจเข้าร่วมโครงการยังไม่กระเตื้อง แสดงว่ากำลังซื้อของประชาชนในประเทศไม่มี มาตราการฯนั้นไม่ได้ผล จะต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงการคลัง เพื่อทบทวนมาตรการและหาวิธีที่จะกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศใหม่ๆ มาเสริม
“หากกำลังซื้อในประเทศยังมี ประชาชนสนใจเข้าร่วมมาตรการเที่ยวปันสุข เชื่อว่าหากมีการจองสิทธิ์ห้องพักเต็ม 5 ล้านคืน วงเงินที่ ครม.อนุมัติน่าจะถูกใช้ไปเพียง 50%หรือคิดเป็นประมาณ 12,400 ล้านบาท แบ่งเป็น แพ็คเกจเราเที่ยวด้วยกัน 9,000 ล้านบาท ค่าตั๋วเครื่องบิน 1,000 ล้านบาท และแพ็คเกจกำลังใจ 2,400 ล้านบาท เหลืออีกประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะขยายจำนวนคืนของห้องพักเพิ่มในเฟส 2 และขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังกลุ่มลูกจ้างประจำหรือลูกจ้างของโรงพยาบาลประจำตำบลอีกประมาณ 8 แสนคนให้สามารถเที่ยวฟรี เหมือน อสม.และเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ของแพ็คเกจกำลังใจ” รมว.การท่องเที่ยวฯกล่าว