การท่าเรือฯโยน กพอ.ชี้ขาด GPC ยื้อผลตอบแทน 'แหลมฉบัง'
กทท.เตรียมชงผลเจรจาท่าเรือแหลมฉบัง 3 เข้า สกพอ.สัปดาห์หน้า เผย “จีพีซี” ยื่นข้อเสนอต่ำกว่ามติ ครม.กำหนด 32,225 ล้านบาท โยน “ประยุทธิ์” ตัดสินอนุมัติเดินหน้าหรือล้มประมูล
การประมูลพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) ที่ยื่นซองประมูลตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค.2562 และมีข้อพิพาทในศาลปกครองเรื่องการตัดสิทธิ์กิจการร่วมค้า NCP ซึ่งท้ายที่สุดศาลปกครองสูงสุดให้คำพิพากษาที่มีผลให้กิจการร่วม NPC ต้องหมดสิทธิร่วมประมูล และการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เดินหน้าเจรจาผลตอบแทนรัฐกับกิจการร่วมค้า GPC
สำหรับข้อเสนอผลตอบแทนรัฐของกิจการร่วมค้า GPC อยู่ที่ 12,051 ล้านบาท ในขณะที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบผลตอบแทนรัฐขั้นต่ำที่ 32,225 ล้านบาท ซึ่งนำมาสู่การเจรจาต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2563
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การประมูลพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) ปัจจุบันการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้ประกวดราคาได้ตัวผู้ชนะการประมูลแล้ว คาดว่าจะเสนอผลการประกวดราคาและการเจรจาผลตอบแทนเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ภายในเดือน ก.ค.นี้
“ตอนนี้โครงการในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เราได้ขับเคลื่อนไปหมดแล้ว ทั้งในส่วนของไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) คาดว่าจะเปิดให้บริการตามแผนในปี 2568 ส่วนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ขณะนี้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนแล้ว ในขณะที่ท่าเรือแหลมฉบังยังมั่นใจว่าจะเปิดบริการ 2568 แสดงให้เห็นถึงความพร้อม ความเป็นจริงสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี ที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้แล้วเสร็จภายในปี 2568”
แหล่งข่าวจาก กทท.กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) ได้เจรจาข้อเสนอด้านการเงินกับเอกชนที่ผ่านการคัดเลือก คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ได้ข้อสรุปแล้ว เตรียมเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ภายในสัปดาห์หน้า ก่อนรายงาน กพอ.พิจารณา
“ตอนนี้เราคุยจบหมดแล้ว เรื่องข้อเสนอด้านการเงินที่ใช้เวลาเจรจากับเอกชนมานาน เจรจาจนสุดทางได้ข้อสรุปเป็นตัวเลข แต่ก็ยังเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าราคากลางตามมติ ครม.กำหนดไว้ ดังนั้นอำนาจอยู่ที่นายกรัฐมนตรี ว่าจะเห็นชอบผลการเจรจาครั้งนี้หรือไม่ จะอนุมัติตามราคาที่เอกชนเสนอมาไหม” แหล่งข่าว กล่าว
ทั้งนี้ หากที่ประชุม กพอ.อนุมัติผลการเจรจาและข้อเสนอของเอกชนตามที่คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ รายงานไปนั้นจะต้องนำผลเจรจาดังกล่าวรายงานต่อที่ประชุม ครม.เพื่อให้พิจารณาตัวเลขราคากลางใหม่ ปรับแก้มติ ครม.เดิม หลังจากนั้นหาก ครม.เห็นชอบ จึงจะส่งเรื่องกลับมายังคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ เพื่อดำเนินการเจรจาร่างสัญญา
แหล่งข่าว กล่าวว่า ข้อเสนอของกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC แม้จะพบว่ามีการเสนอราคาต่ำกว่ามติ ครม.กำหนด 32,225 ล้านบาท แต่กลับพบว่าภาพรวมของแผนพัฒนาโครงการของเอกชน มีผลการศึกษาผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและการเงิน หรือ FIRR สูงกว่าที่ กทท.ศึกษาไว้ ทำให้ภาพรวมของการพัฒนาโครงการนี้ ยังมีความเหมาะสม
“ตอนนี้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ถือว่าทำหน้าที่ได้สิ้นสุดแล้ว คือ เจรจารายละเอียดกับเอกชนไปจนสุดทางแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาเจรจากันหลายรอบแล้ว แต่เอกชนไม่สามารถเพิ่มวงเงินได้ แต่การที่การท่าเรือฯ จะได้เงินผลตอบแทนน้อยกว่าที่คาดหวังก็เกรงว่าอาจจะโดนโวย ดังนั้นตอนนี้จึงขอให้เป็นอำนาจการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี จะยกเลิกเพื่อให้มีการประมูลใหม่หรือจะเดินต่อก็ได้” แหล่งข่าว กล่าว
สำหรับกิจการร่วมค้า GPC ที่ได้สิทธิเจรจาข้อเสนอการเงิน ประกอบด้วย
1.บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (กลุ่ม ปตท.) ถือหุ้น 30%
2.บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 40%
3.China Harbour Engineering Company Limited ถือหุ้น 30%
ทั้งนี้ แม้ว่า กทท.จะประกวดราคาแล้วเสร็จ หรือมีการผลักดันลงนามสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC แต่ในมุมของการปฏิบัติงาน เอกชนจะยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ทันที เนื่องจากต้องรอให้ กทท.ดำเนินการปรับฐานราก ถมทะเลแล้วเสร็จก่อน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนประกวดราคา โดย กทท.มีแผนปรับฐานรากในระยะเวลา 2 ปี หรือภายในปี 2565 จึงจะเปิดให้เอกชนเข้าพื้นที่
แหล่งข่าว กล่าวว่า ตามกรอบระยะเวลาดำเนินงานถมทะเลนั้น โดยปกติจะใช้เวลาราว 4 ปีแล้วเสร็จ แต่ กทท.ได้แบ่งแผนพัฒนาในช่วง 2 ปีหลังจากนี้ จะปรับพื้นที่ให้แล้วเสร็จ และเปิดให้เอกชนผู้ชนะการประมูลท่าเรือแหลมฉบัง 3 เข้าพื้นที่เริ่มงานก่อสร้าง ดังนั้นหากมีการลงนามกับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ภายในปีนี้ ก็อาจจะใช้เวลาระหว่างนี้ในการทำแผนบริหาร
หลังจากนั้นในช่วง 2 ปีหลัง หรือระหว่างปี 2566–2567 กทท.จะดำเนินการประกวดราคางานอื่นทีเกี่ยวข้องกับการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง 3 อีก 2 สัญญา ประกอบด้วย
1.สัญญางานจัดหารถไฟ และสัญญาจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์
2.สัญญางานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค
ทั้งนี้ กทท.อยู่ระหว่างเปิดขายซองเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ระหว่าง 29 พ.ค.–14 ส.ค.นี้ และมีกำหนดเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอวันที่ 17 ส.ค.2563
สำหรับงานจ้างเหมาก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ส่วนที่ 2) งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนนและระบบสาธรณูปโภค มีราคากลางกำหนดอยู่ที่ 6,502 ล้าน ขอบเขตของงานก่อสร้างในสัญญาดังกล่าว ประกอบไปด้วย งานระบบถนน งานอาคาร งานท่าเรือชายฝั่ง และงานท่าเรือบริการ
กทท.มีกำหนดให้เอกชนผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีคุณสมบัติ อาทิ ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานก่อสร้างประเภทเดียวกันกับงานที่ประกวดราคาจ้างก่อสร้าง และเป็นผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานเอกชนที่ กทท.เชื่อถือ