เดอะมอลล์เขย่าพอร์ต-จัดทัพ ‘เจน3-มืออาชีพ’เคลื่อนธุรกิจ
“เดอะมอลล์” มั่นใจศักยภาพไทยฮับอาเซียนหนุนโอกาสระยะยาว พลิกวิกฤติโควิดฉุดตลาดซึม หันเร่งแผนปรับโครงสร้างองค์กร-วางเกมรุกใหม่ สานยุทธศาสตร์ “เอ็มทรานส์ฟอร์มเมชั่น”
โดยชูเรือธง อสังหาฯ ครบวงจร เล็งขยายไลน์โรงแรม ที่พักอาศัย สำนักงาน มิกซ์ยูส เสริมแกร่งค้าปลีก-ศูนย์การค้า ยึดแผนลงทุน 5 ปี อัดฉีด 5 หมื่นล้าน ยกเครื่องสาขาเก่า ลุยเมกะโปรเจค “แบงค็อกมอลล์-เอ็มสเฟียร์”
สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นับเป็นช่วงสุญญากาศของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ! ที่ภาคธุรกิจต่างพลิกวิกฤติใช้จังหวะนี้หันกลับมามอง “หลังบ้าน” ปรับกระบวนทัพ จัดโครงสร้างองค์กร มองหาโอกาส “ธุรกิจใหม่” จากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป การเตรียมความพร้อมย่อมสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง
นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งสนับสนุนศักยภาพการเติบโตในระยะยาวที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเตรียมความพร้อมในนโยบายขับเคลื่อนต่างๆ นำสู่การพลิกฟื้นและขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภูมิศาสตร์ประเทศไทยเป็นทำเลยุทธศาสตร์สำคัญของการเชื่อมต่อซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) และเป็นฮับแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในไทย ขณะที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังคงเป็นเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ในการสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัจจัยเหล่านี้เอื้อต่อการลงทุนเกี่ยวเนื่องต่างๆ ของภาคธุรกิจ รวมทั้ง เดอะมอลล์ กรุ๊ป
ทั้งนี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์ "M Transformation" ของกลุ่มเดอะมอลล์ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดวางโครงสร้างองค์กรใหม่ โดยมี 3 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย
1.เรียลเอสเตท (RE) จะเป็นพอร์ตใหญ่สุดและสร้างรายได้ให้เดอะมอลล์กรุ๊ปถึง 65% ในอนาคต จากธุรกิจที่ครอบคลุมชอปปิงเซ็นเตอร์, รีเทล, อาคารสำนักงาน, มิกซ์ยูส, โรงแรม, ที่อยู่อาศัย และเอนเตอร์เทนเมนท์ โดยมี นายเกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดิ เอ็มโพเรียม กรุ๊ป และกรรมการ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ทำหน้าที่หัวเรือใหญ่
2.กลุ่มเทรดดิ้งและรีเทล (TR) ดูแลธุรกิจดีพาร์ทเมนท์สโตร์, โอเปอเรชั่นและมาร์เก็ตติ้ง ภายใต้การดูแลของนายจักรกฤษณ์ กีรติโชคชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายรีเทล บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เน้นการบริหารสินค้า (MERCHANDISE)
3.กลุ่มไฟแนนเชียลและไอที (FA) ดูแลทางด้านการเงิน บัญชี ไอที และทรัพยากรบุคคล อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของนางวรรณา เพิ่มสุวรรณ รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด
เรียลเอสเตทหัวหอกปั๊มรายได้
ขณะเดียวกัน ยังหน่วยงาน “โปรเจค ดีเวลอปเมนท์” หนึ่งในสายงานกลุ่มเรียลเอสเตท เน้นการพัฒนาโครงการใหม่ อยู่ภายใต้การดูแลของนางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช และนางอัจรา อัมพุช
“กลุ่มเรียลเอสเตทเป็นหัวหอกนำพาความก้าวหน้าให้เดอะมอลล์กรุ๊ปซึ่งจะมีการผสานผสานนักรบรุ่นใหม่ และคนรุ่นเก่าที่จะคอยเป็นโค้ช เรียกว่ามิกซ์ระหว่างเลือดเก่า เลือดใหม่โดยเฉพาะเจนเนอเรชั่น 3 ของเดอะมอลล์จะถูกฝังเข้าไปกับกลุ่มงานต่างๆ เรียนรู้จากมืออาชีพ”
เดอะมอลล์เลือกมืออาชีพทั้งในและต่างประเทศเข้ามาร่วมงานในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงด้านต่างๆ มีประสบการณ์ทั้งห้างสรรพสินค้าหรูลาฟาแยด วอลมาร์ท คาสิโนกรุ๊ป
กลุ่มค้าปลีกรีไลแอนซ์ ประเทศอินเดีย จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ซิตี้แบงก์ ฯลฯ
สำหรับเจนเนอเรชั่น 3 ของเดอะมอลล์ ขณะนี้ได้เข้ามาสานต่อกิจการ 4 คน ได้แก่ พลอยชมพู-วิภา-ไพลิน อัมพุช และวรามาศ ภัทรประสิทธิ์ เสริมทัพเจนเนอเรชั่น 2 ที่ขับเคลื่อนเดอะมอลล์อยู่ทั้งหมด 7 คน ปัจจุบัน เดอะมอลล์มีพนักงานรวมกว่า 12,000 คน มีทีมผู้บริหารระดับกลาง-สูง 400 คน
ยึดแผนลงทุน5หมื่นล้านใน5ปี
พร้อมกันนี้ เดอะมอลล์ยังเดินหน้าลงทุนตามโรดแมพที่วางไว้ช่วง 5 ปี (2562-2566) จัดสรรงบประมาณกว่า 50,000 ล้านบาทในการยกเครื่องสาขาเก่า รามคำแหง ท่าพระ งามวงศ์วาน บางแค บางกะปิ โคราช เอ็มดิสทริค และพัฒนาโครงการใหม่ที่มี 2 โครงการใหญ่ ดิ เอ็มสเฟียร์ และแบงค็อกมอลล์ ซึ่งจะเป็นแฟลกชิพ หรือ เรือธงของเดอะมอลล์ กรุ๊ป ที่มั่นใจว่าจะเปิดบริการได้ตามแผน รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ ออมนิแชนแนล
โดยหนึ่งในโปรเจคสำคัญ เดอะมอลล์กรุ๊ป ร่วมลงทุนกับธุรกิจบันเทิงระดับโลก AEG จากสหรัฐในโครงการ เอ็มไลฟ์ ที่เอ็ม ดิสทริค และแบงค็อก มอลล์ นอกจากดึงดูดลูกค้าแล้วเป็นการรับมือกับดิจิทัลดิสรัปชัน พร้อมผลักดันไทยก้าวสู่ Hub of Entertainment เพิ่มแม่เหล็กทางด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยควบคู่การเป็นจุดหมายปลายทางแห่งการชอปปิง
นอกจากนี้ จะเร่งปรับโฉมศูนย์การค้าทุกแห่งสู่โฉมหน้าและคอนเซปต์ใหม่ “เดอะมอลล์ ไลฟ์ สโตร์” ไล่ตั้งแต่เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ที่พร้อมเผยโฉมเต็มรูปแบบเดือน พ.ย. นี้
“การปรับโฉมของศูนย์การค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพยังได้รับอานิสงส์จากการปรับเปลี่ยนการบริหารพื้นที่ จากรูปแบบเดิมเซ้งระยะยาว 30 ปี ขณะนี้ใช้ระบบเช่าแทน ซึ่งพื้นที่เซ้งได้ทยอยหมดสัญญา ทำให้เดอะมอลล์มีพื้นที่ในมือกว่า 2 แสนตร.ม. ที่จะเปลี่ยนเป็นรายได้เข้ามาในกลุ่มเรียลเอสเตท”
อย่างไรก็ดี วิกฤติโควิดในปีนี้กระทบภาพรวมตลาดค้าปลีกชะลอตัวขณะที่ยอดขายเดอะมอลล์กรุ๊ป กว่า 50,000 ล้านบาท คาดหดตัว 10-15% ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีจากประเมินว่าจะหดตัวสูงถึง 35% จากการปิดบริการ 2 เดือน