‘นายเลิศกรุ๊ป’ ฝ่ามรสุมโควิด ลุยฟื้นรายได้จัดเลี้ยง-อีเวนท์
“นายเลิศกรุ๊ป” หนึ่งในองค์กรร้อยปีของไทย ฝ่ามาทุกวิกฤตินับตั้งแต่ครั้งพระยาภักดีนรเศรษฐ หรือ เลิศ เศรษฐบุตร ริเริ่มกิจการรถโดยสารประจำทางสายแรกของกรุงเทพฯเมื่อปี 2428 หรือกว่า 135 ปีที่ผ่านมา
รู้จักกันดีในชื่อ รถเมล์นายเลิศ หรือรถเมล์ขาว รวมถึงครั้งล่าสุดอย่างวิกฤติโควิด-19 ที่กำลังระบาดหนักทั่วโลก สั่นสะเทือนภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการอย่างไร้ความปราณี
ณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท สมบัติเลิศ จำกัด หรือที่รู้จักกันดีในนาม “เล็ก ปาร์คนายเลิศ” ฉายภาพในฐานะทายาทรุ่นที่ 4 ของนายเลิศกรุ๊ปว่า คุณทวดพาองค์กรผ่านวิกฤติต่างๆ มาตั้งแต่สมัยสงครามโลก พอมาถึงรุ่นตัวเองรับไม้บริหารต่อ ยอมรับว่าโควิด-19 เป็นวิกฤติที่หนักหนามาก แต่ก็สอนอะไรหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะการปรับตัว ดิ้นรนพาองค์กรให้อยู่รอด อยู่กับความเป็นจริง ฝันได้ หวังได้ แต่ต้องไม่หลอกตัวเอง! และยังสะท้อนความหมายของการอยู่ร่วมกันแบบ “ครอบครัว” ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกพนักงานกว่า 200 ชีวิต
“วิกฤติโควิดสอนให้เราเข้าใจความหมายของครอบครัว ว่าไม่ใช่แค่การร่วมสุขเท่านั้น แต่มันคือการร่วมทุกข์ด้วย เพราะสุดท้ายแล้วธุรกิจจะไปรอดก็ด้วยความร่วมมือของพนักงาน ที่สำคัญคนเป็นเจ้าของกิจการต้องไม่ถอดใจ ดึงจิตกลับมา ไม่เช่นนั้นพนักงานจะเฉา ไร้พลังงานตามไปด้วย ยิ่งธุรกิจบริการยิ่งไม่ได้เลย ทุกอย่างมันสะท้อนผ่านดวงตา”
แม้ที่ผ่านมาจำเป็นต้องตัดเงินเดือนเพื่อลดต้นทุน แต่นายเลิศกรุ๊ปไม่มีนโยบายให้พนักงานออก มุ่งปรับตัวรอบด้านให้สอดรับกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป!
อย่างร้านอาหารที่ปาร์คนายเลิศ ย่านเพลินจิต ในช่วงที่การระบาดของโควิดบีบให้ต้องปิดรับลูกค้าหน้าร้าน หันไปรุกบริการดิลิเวอรี่ จึงปั้นบริการส่งอาหารแบรนด์ใหม่ “นายเลิศ เอ็กซ์เพรส” ดึงพนักงานจัดเลี้ยง 16 คนในช่วงว่างงานมาวิ่งรถจัดส่งอาหาร
หลังกลุ่มธุรกิจจัดเลี้ยง อีเวนท์ และประชุมสัมมนาที่ปาร์คนายเลิศซึ่งมีจำนวนสถานที่จัดงาน 5-6 จุดรองรับความต้องการบรรยากาศหลากหลายทั้งในและนอกสถานที่ ครองสัดส่วน 50% มากที่สุดของรายได้ปาร์คนายเลิศ อยู่ในสถานะหยุดชั่วคราวราว 3 เดือนเพราะการล็อคดาวน์ ทำให้ช่วงครึ่งปีแรกรายได้ในกลุ่มธุรกิจนี้หายไปกว่า 70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มีจำนวนงานที่มาจัดราว 90 งาน เฉลี่ยวันละ 1 งานตลอด 3 เดือนที่สามารถเปิดให้บริการได้
แม้จำนวนงานจัดเลี้ยงฯตลอดปี 2563 จะลดลงจากปี 2562 ซึ่งมีกว่า 500 งาน รองรับผู้เข้าร่วมงานตั้งแต่ 2-2,000 คน แต่ก็ยังตั้งเป้าฟื้นตลาดจัดเลี้ยงฯให้กลับมาดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เริ่มมียอดจองเข้ามาแล้ว โดยได้ดำเนินมาตรฐานสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด อย่างเดอะ กลาส เฮาส์ ซึ่งมีพื้นที่ 400 ตร.ม. ในภาวะปกติเคยรองรับได้ 200-300 คน ปัจจุบันกำหนดรับได้สูงสุด 85 คนตามเกณฑ์จำกัดจำนวนคน 1 คนต่อ 4 ตร.ม.
ส่วนลูกค้าเก่าที่ไม่สามารถจัดงานได้ในครึ่งปีแรก ปาร์คนายเลิศใช้วิธีเก็บวงเงินไว้ให้ลูกค้ากลับมาใช้ซ้ำ ตั้งเป้าผลักดันปีนี้มีจำนวนงานมาจัดเฉลี่ยวันละ 1 งาน โดยคาดว่าตลอดปีนี้รายได้กลุ่มธุรกิจจัดเลี้ยงฯจะลดลง 53% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่วนธุรกิจอาหารซึ่งมีสัดส่วน 30% ของรายได้ปาร์คนายเลิศ น่าจะหายไปราว 50% เช่นกัน
“ตอนนี้คนเริ่มกลับมาจัดงานเลี้ยง อีเวนท์ และประชุมสัมมนาก็จริง แต่ก็ยังกล้าๆ กลัวๆ จึงมองว่าในช่วง 2 ปีนี้ตั้งแต่ปี 2563-2564 อย่าเพิ่งคิดถึงกำไรเลย คิดถึงการอยู่รอด คิดถึงเรื่องการบริหารกระแสเงินสดก่อนดีกว่า โดยคาดว่ารายได้ปีนี้ของปาร์คนายเลิศมีแนวโน้มกลับไปเท่ากับปี 2561 หลังปี 2562 สามารถทำรายได้และกำไรเติบโต 20% เมื่อเทียบกับปี 2561”
อย่างไรก็ตามแม้วิกฤตินี้จะจบลง แต่จะยังคงแบรนด์นายเลิศเอ็กซ์เพรสต่อไป เพราะลูกค้าคุ้นชินกับพฤติกรรมสั่งอาหารมาทานที่บ้านและ Work from Home ไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีแบรนด์น้ำพริกสะดีดสะดิ้ง 5 รสชาติส่งตรงถึงบ้าน เกาะกระแสคนอยู่บ้านตั้งแต่ช่วงล็อคดาวน์ ทั้งยังเป็นอาหารถูกปากคนไทย เก็บได้นาน ส่วนอีกแบรนด์คือ Lek Nai Lert Style ในอินสตาแกรม สนองโจทย์ตัวเองหวังขับไล่ความเครียดและฟุ้งซ่าน ด้วยการรวบรวมข้าวของเสื้อผ้าแบรนด์เนมจากบ้านมาขายในราคาย่อมเยา
“กลายเป็นว่าวิกฤตินี้ทำให้ตัวเองได้ลองทำ 3 แบรนด์ใหม่” ณพาภรณ์ยังยิ้มสู้ แม้วิกฤติโควิดยังดำรงอยู่